“กปน.” ให้ “2 เอกชน” กลับเข้าร่วมประมูลขยายโรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ มูลค่า 6 พันล้าน หลัง คณะกรรมการอุทธรณ์พิจารณาให้มีคุณสมบัติครบถ้วน
จากกรณีปมประมูลงานก่อสร้างขยายโรงผลิตน้ำประปามหาสวัสดิ์ ขนาด 800,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน มูลค่าราคากลาง 6,526.97 ล้านบาท ของการประปานครหลวง (กปน.) สัญญา GE-MS5/6-9 ที่มีการร้องเรียนจากบริษัทผู้ร่วมประมูล 2 บริษัท คือ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด และ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC ซึ่งถูกตัดสิทธิการประมูล โดยคณะกรรมการพิจารณาของ กปน.อ้างว่า ทั้ง 2 บริษัท “ขาดคุณสมบัติ” ต่อมา เอกชน ได้ยื่นหนังสืออุทธรณ์ผลการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าว โดยทั้ง 2 บริษัท ยืนยันว่า มีคุณสมบัติครบถ้วน ขณะเดียวกัน ยังได้ยื่นหนังสืออุทธรณ์แก่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียนที่มีอธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นประธาน จนล่าสุด คณะกรรมการของกรมบัญชีกลาง ได้พิจารณาให้เอกชน มีคุณสมบัติครบ และให้ให้ กปน.กลับไปดำเนินการในขั้นตอนการพิจารณาข้อเสนอราคาของผู้ยื่นข้อเสนอให้ถูกต้องต่อไป
ล่าสุด วันนี้ (11 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงาน เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ที่ผ่านมา กปน. ได้ทำหนังสือถึง กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น หรือ STEC และกรรมการผู้จัดการ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด (VSK) โดยแจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง ที่ระบุว่า ทั้ง 2 บริษัท มีคุณสมบัติในการเข้าร่วมประมูลงานก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2565 น.ส.นิชา ยอดคำ ผู้อำนวยการกองบริหารสัญญาโครงการ ฝ่ายบริหารโครงการ กปน. ทำหนังสือถึง 2 บริษัทข้างต้น ไปจนถึงบริษัทที่ยื่นเสนอราคาจ้างก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ โดยมีเนื้อหาว่า ตามที่บริษัทได้ยื่นเสนอราคาจ้างก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ และหนังสือค้ำประกันทางอิเล็กทรอนิกส์ (หลักประกันซอง) ใกล้สิ้นสุดระยะเวลาผูกพันแล้ว
แต่เนื่องจากสัญญา GE-MS5/6-9 ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาเอกสารการยื่นข้อเสนอ ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขการเสนอราคา หากบริษัทประสงค์จะขยายระยะเวลาการยืนราคา ขอให้แจ้งยืนยันขยายระยะเวลาการยืนราคาออกไปจำนวน 90 วัน นับแต่วันสิ้นสุดวันยืนยันราคาสุดท้ายเดิม พร้อมทั้งแจ้งให้ธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันรับทราบการขยายระยะเวลา จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและพิจารณาดำเนินการต่อไป
สำหรับประเด็นดังกล่าว สืบเนื่องมาจากการประมูลครั้งนี้ มีเอกชนยื่นข้อเสนอ 5 ราย จากเอกชนที่ซื้อซอง 9 ราย ดังนี้ 1. บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ยื่นเสนอราคา 6,150 ล้านบาท 2. บมจ.ซิโน-ไทย ยื่นเสนอราคา 6,195.3 ล้านบาท 3. ITA Consortium (บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) และ บริษัท อาควาไทย จำกัด) ยื่นเสนอราคา 6,490.56 ล้านบาท 4. บริษัท ช.การช่าง จำกัด ยื่นข้อเสนอราคา 6,523.8 ล้านบาท 5. กิจการร่วมค้า สี่แสงเอสจี ยื่นเสนอราคา 6,525 ล้านบาท
ต่อมา คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ฯ ของ กปน. มีมติให้ ITA Consortium เป็นผู้ชนะการเสนอราคา โดยเสนอราคาเป็นเงิน 6,460.56 ล้านบาท โดยเป็นผู้ที่เสนอราคามาเป็นอันดับ 3 พร้อมกับให้ เอกชน 2 ราย คือ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด และ บมจ.ซิโน-ไทยฯ ถูกตัดสิทธิ์การเข้าร่วมประมูล ทั้ง 2 บริษัท เป็นผู้ยื่นราคาต่ำสุดเป็นอันดับ 1-2 ตามลำดับ โดยคณะกรรมการอ้างว่า ทั้ง 2 บริษัท “ขาดคุณสมบัติ” ตามประกาศประกวดราคาข้อ 11 และเอกสารประกวดราคาจ้าง ข้อ 2.11 ที่ระบุว่า ผู้เข้าร่วมประมูลต้องมีผลงานก่อสร้างระบบผลิตน้ำประปาไม่น้อยกว่า 100,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน วงเงินไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท ซึ่งทางคณะกรรมการ แจ้งว่า กำลังการผลิตน้ำประปาข้างต้น หมายถึงกำลังผลิตสุทธิ ต้องไม่นำตัวเลขปริมาณน้ำสูญเสียเข้ามารวมด้วย
ต่อมา วันที่ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC และ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ได้ยื่นหนังสืออุทธรณ์ผลการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าว ซึ่งทั้ง 2 บริษัทยืนยันว่า มีคุณสมบัติตามประกาศประกวดราคาข้อ 2.11 ทางบริษัท ซิโน-ไทย ซึ่งมีผลงานก่อสร้างระบบประปา โครงการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคเทศบาลนครนครราชสีมา ตามสัญญาจ้างเลขที่ 3/2550 ร้องเรียนว่า มีการกำหนดคุณสมบัติเรื่องของกำลังการผลิตสุทธิ เข้ามาภายหลัง ขณะที่ บริษัท วงศ์สยาม มีผลงาน ก่อสร้างระบบประปามาตรฐานของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) และงานจ้างเหมาก่อสร้างปรับปรุงขยายการประปาส่วนภูมิภาคสาขาสุราษฎร์ธานี ตามสัญญาเลขที่ กจห. 24/2556 กระทั่งเอกชนทั้ง 2 ได้สิทธิการประมูลกลับมา