xs
xsm
sm
md
lg

‘ซิโนไทย-วงษ์สยามฯ” เฮ! กก.อุทธรณ์ชี้มีคุณสมบัติประมูลโรงประปามหาสวัสดิ์ ให้ กปน.พิจารณาใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ มีมติให้ ‘ซิโนไทย” และ “วงษ์สยามก่อสร้างฯ” ไม่ขาดคุณสมบัติเข้าร่วมประมูลขยายโรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ มูลค่ากว่า 6 พันล้าน ให้ กปน.กลับไปพิจารณาข้อเสนอราคาขอผู้เข้าร่วมประมูลให้ถูกต้อง

ความคืบหน้ากรณีการประมูลโครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ขนาด 800,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน มูลค่าราคากลาง 6,526.97 ล้านบาท ของการประปานครหลวง (กปน.) พร้อมงานที่เกี่ยวข้องสัญญา GE-MS5/6-9 ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564 ซึ่งบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด และ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC ที่เสนอราคาต่ำสุด เป็นอันดับ 1-2 (6,150 ล้านบาท และ 6,195.3 ล้านบาท ตามลำดับ) ถูกตัดสิทธิการประมูล โดยคณะกรรมการอ้างว่า ทั้ง 2 บริษัท “ขาดคุณสมบัติ” ตามประกาศประกวดราคาข้อ 11 และเอกสารประกวดราคาจ้าง ข้อ 2.11 ที่ระบุว่า ผู้เข้าร่วมประมูลต้องมีผลงานก่อสร้างระบบผลิตน้ำประปาไม่น้อยกว่า 100,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน วงเงินไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท ซึ่งทางคณะกรรมการ แจ้งว่า กำลังการผลิตน้ำประปาข้างต้น หมายถึงกำลังผลิตสุทธิ ต้องไม่นำตัวเลขปริมาณน้ำสูญเสียเข้ามารวมด้วย และเมื่อวันที่ 1 มี.ค.2565 กปน.ประกาศให้ ITA Consortium (บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) และบริษัท อาควาไทย จำกัด) ซึ่งเสนอราคาสูงที่สุด 6,400 ล้านบาท เป็นผู้ชนะการประมูล
 
ต่อมาวันที่ 7 มี.ค.2565 บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC และบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ได้ยื่นหนังสืออุทธรณ์ผลการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าว โดยทั้ง 2 บริษัทยืนยันว่า มีคุณสมบัติตามประกาศประกวดราคาข้อ 2.11
 
ล่าสุด มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียนที่มีอธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นประธานได้พิจารณากรณีดังกล่าว และมีมติเห็นชอบตามความเห็นของคณะอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียนคณะที่ 1 เสนอ ที่มีมติว่า บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด มีคุณสมบัติตามเอกสารประกวดราคา (TOR) ในการเข้าร่วมการประมูลจ้างก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ และคณะกรรมการฯ ได้ให้ กปน.กลับไปดำเนินการในขั้นตอนการพิจารณาข้อเสนอราคาของผู้ยื่นข้อเสนอให้ถูกต้องต่อไป ตามนัยมาตรการ 119 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560
 
ทัั้งนี้ คณะอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน คณะที่ 1 ที่มีนายสมศักดิ์ ภู่สกุล รองอธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นประธาน ได้ประชุมเมื่อวันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา และมีความเห็นว่า ข้อกล่าวอ้างของผู้อุทธรณ์ทั้ง 2 รายฟังขึ้น ตามเงื่อนไขในเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ข้อ 2.11 ที่ กปน.กําหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีผลงานก่อสร้างระบบตกตะกอนและระบบกรองน้ำสำหรับระบบผลิตน้ำประปา พร้อมงานที่เกี่ยวข้อง ขนาดไม่น้อยกว่า 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวันในสัญญาเดียวกัน วงเงินไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท และเป็นสัญญาที่ได้ทํางานแล้วเสร็จตามสัญญานั้น กปน.มิได้กำหนดเงื่อนไขว่าจะพิจารณาผลงานของผู้ยื่นข้อเสนอโดยใช้ขนาดของระบบผลิตซึ่งต้องหักน้ำสูญเสียออกจากผลงานก่อน
 
กรณีนี้บริษัท ซิโน-ไทยฯ ได้ยื่นหนังสือรบรองผลงานที่มีงานติดตั้งระบบผลิตน้ำประปา ขนาด 100,000 ลบ.ม./วัน และบริษัท วงษ์สยามก่อสร้างฯ ได้ยื่นหนังสือรับรองผลงานที่มีกําลังผลิต Nominal Capacity 4,000 ลบ.ม./ชม. (96,000 ลบ.ม./วัน) เผื่อสูญเสียภายในอีก 10% เป็น 4,400 ลบ.ม./ซม. (105,600 ลบ.ม./วัน) การยื่นข้อเสนอจึงเป็นไปตามเงื่อนไขในเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ข้อ 2.11 แล้ว ประกอบกับ กปน.มิได้แสดงเอกสารทางวิชาการของหน่วยงานในสหรัฐอเมริกาที่แจ้งว่ากําลังการผลิตสุทธิควรพิจารณาโดยหักน้ำสูญเสียออก เพื่อให้ผู้ยื่นข้อเสนอทราบตั้งต้น โดยมาแสดงเอกสารดังกล่าวในชั้นอุทธรณ์ ดังนั้นข้อกล่าวอ้างของผู้อุทธรณ์ทั้ง 2 รายฟังขึ้นและมีผลต่อการจัดซื้อจัดจ้างอย่างมีนัยสําคัญ


กำลังโหลดความคิดเห็น