อิตาเลียนไทยฯเรียกร้อง กปน. ชี้แจงกรณี กอร.ตีความคำอุทธรณ์ขยายโรงผลิตน้ำประปามหาสวัสดิ์ฟังขึ้น ตั้งข้อสังเกตุ 7 ข้อข้องใจ ไม่เป็นไปตามหลักวิศวกรรมประปา และบิดเบือนข้อเท็จจริงหรือไม่
จากกรณีที่เมื่อวันที่ 19เม.ย 2565 คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียนที่มีอธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นประธานได้พิจารณากรณีโครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ขนาด 800,000ลูกบาศก์เมตรต่อวันมูลค่าราคากลาง 6,526.97ล้านบาทของการประปานครหลวง (กปน.)และมีมติเห็นชอบตามความเห็นของคณะอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียนคณะที่1เสนอที่มีมติว่าบริษัทซิโน-ไทยเอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่นจำกัด (มหาชน)และบริษัทวงษ์สยามก่อสร้างจำกัดมีคุณสมบัติตามเอกสารประกวดราคา (TOR)ในการเข้าร่วมการประมูลจ้างก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์และคณะกรรมการฯได้ให้กปน.กลับไปดำเนินการในขั้นตอนการพิจารณาข้อเสนอราคาของผู้ยื่นข้อเสนอให้ถูกต้องต่อไปตามนัยมาตรการ 119วรรคสองแห่งพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐพ.ศ.2560
นายดนัย ภูมิวัฒน์ รองประธานบริหารกลุ่มงานระบบจ่ายน้ำและสาธารณูปโภค บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง ได้มีหนังสือ กค (กอร)0405.5/14496 แจ้งผลการอุทธรณ์กรณีการประกาศผู้ชนะการเสนอราคา ตามประกาศ กปน. และเอกสารรายชื่อผู้ชนะประมูลงานก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ขนาด 800,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน พร้อมงานที่เกี่ยวข้อง สัญญา GE-MS5/6-9 ด้วย วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) มายังผู้ว่าการการประปานครหลวง หรือ กปน. โดยระบุว่า การอุทธรณ์ฟังขึ้น และมีผลต่อการจัดซื้อและจัดจ้างอย่างมีนัยสำคัญ
ในกรณีดังกล่าวนี้ ทาง ITD ซึ่งเป็นบริษัทที่ชนะการประมูลในครั้งนี้อย่างถูกต้อง จึงมีความข้องใจการพิจารณาของคณะกรรมการอุทธรณ์ เพราะไม่เป็นไปตามหลักวิศวกรรมประปา ดังนั้น จึงกำลังพิจารณาว่า อาจจำเป็นที่ต้องใช้สิทธิ์ในการร้องให้มีการตรวจสอบจากหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หากพบว่าเป็นการใช้ดลุพนิจโดยไม่สุจริต จะมีการดำเนินการในขั้นตอนต่อไป เพื่อรักษาชื่อเสียงของบริษัทเพราะ อาจจะเป็นการใช้ดุลยพินิจที่ไม่ถูกต้อง และไม่สามารถนำไปปฎิบัติได้แบบมีนัยสำคัญ ตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง พ.ร.บ.60
“ ทั้งนี้ เงื่อนไขในเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนกิส์ ข้อ 2.11 การประปานครหลวง กำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีผลงานก่อสร้างระบบตกตะกอนและระบบกรองน้ำสำหรับระบบผลิตน้ำประปา พร้อมงานที่เกี่ยวข้องขนาดไม่น้อยกว่า 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวันในสัญญาเดียวกันวงเงินไม่น้อยกว่า 300,000,000 บาท ซึ่งตามเงื่อนไขนี้ไม่สามารถตีความทางภาษาหรือทางเลี่ยงคำได้ เนื่องจากเป็นหลักสากลใช้กันทั้งในประเทศ และต่างประเทศ และ ทางบริษัทยังเชื่ออีกว่า ทุกบริษัทที่เข้ายื่นเสนอราคา มีความรู้ด้านวิศกรรมประปาอย่างสูง
กล่าวโดยสรุปคือ คำวินิจฉัยถูกต้องตามหลักวิศกรรมประปาหรือไม่ ที่ผู้ใช้ดุลยพินิจอาจจะไม่มีความรู้หรืออาจจะไม่รู้และไม่เข้าใจ ระบบการผลิตน้ำประปา ไปตีความเรื่องน้ำสูญเสีย และทำให้สังคมเข้าใจผิด เกิดการบิดเบือนข้อเท็จจริง”
สำหรับ ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ITD มีข้อสังเกต ดังนี้
1. ระบบผลิตน้ำประปาตามข้อกำหนดการประปานครหลวง ต้องไม่รวมน้ำสูญเสียไม่ใช่ดุลยพินิจ แต่เป็นหลักวิศวกรรมประปาที่สำคัญ ด้วยประเทศไทยพัฒนามามากแล้ว ไม่ใช่ต้องเทียบเคียงหรือ สมมุติเอาเองว่า กำหนดให้ครบ เพราะองค์ความรู้นี้เผยแพร่อย่างกว้างขวาง
2. หากดูตามหลักวิศวกรรมประปา ทางการประปานครหลวง ไม่ได้ใช้ ดุลยพินิจที่ผิดพลาด แต่ใช้หลักวิศวกรรมประปาที่เป็นมาตรฐานทั้ง ในประเทศและต่างประเทศ ดังนั้น ตามข้อกพหนดTOR ข้อ2.11 การประปานครหลวงกำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีผลงาน ก่อสร้างระบบตกตะกอนและระบบกรองน้ำสำหรับระบบผลิตน้ำประปา พร้อมงานที่เกี่ยวข้องขนาดไม่น้อยกว่า 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ในสัญญาเดียวกัน วงเงินไม่น้อยกว่า 300,000,000 บาทนั้น ถูกต้องโดยไม่ต้องตีความ และบริษัทที่ยื่นเสนอทุกราย ก็มีความเชี่ยวชาญในระบบผลิตประปา และรู้โดยสามัญสานึกอยู่แล้วว่า หลักวิศวกรรมประปาที่ถูกต้องคืออะไร
3. ถ้าเอกสารคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ สามารถใช้เป็นมาตราอ้างอิงได้ในอนาคตว่า ระบบผลิตน้ำประปารวมน้ำสูญเสียนั้น หมายความว่า งานก่อสร้างขยายกำลังผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ขนาด 800,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ผู้รับเหมาที่ได้งานนี้สามารถใช้เอกสาร คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในการต่อรองในชั้นศาล เพราะว่า น้ำสูญเสีย คือข้อกำหนดรวมในระบบผลิตน้ำประปา ไม่เท่ากับว่า การประปานครหลวง จะต้องรับงานก่อสร้าง ที่ผลิตน้ำประปา ออกมาเป็นน้ำคลองให้ประชาชนใช้กัน ใช่หรือไม่
4. ขอให้การประปานครหลวงใช้ดุลยพินิจ ให้ถูกต้อง ตามที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองได้กล่าวไว้ อย่าทำให้การประปานครหลวง ต้องเสียหายมิฉะนั้นแล้ว ประชาชนจะไม่ได้น้ำประปามาใช้
5. โรงผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ 800,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ต้องใช้ผู้มีประสบการณ์ และแบบที่ออกมานั้น เป็นเทคโนโลยี่ที่ทันสมัยมากจึงต้องใช้ผู้ชำนาญการ ไม่ใช่งานก่อสร้างทั่วไป ซึ่งทาง ITD มีความพร้อมทุกด้าน
6. ขอให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ทบทวนมติแก้ไขใหม่ ให้ถูกต้องอย่าใช้ดุลยพินิจที่ขัดต่อหลักวิศวกรรมและมาตราฐาน ที่คงไว้ซึ่งความถูกต้อง
7. ขอให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ใช้ดุลยพินิจด้วยความสุจริตโดยรอบคอบ และควรเชิญการประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค เพื่อมาร่วมแก้ไขข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นนี้
ทั้งนี้ ITD ขอเรียกร้องให้ กปน. ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงว่า การยื่นอุทธรณ์นั้น กปน.ได้ทำเอกสารชี้แจงไปยัง คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ถูกต้องครบถ้วน ตามหลักวิศวกรรมประปาเพื่อประกอบการพิจารณาโดยสุจริตอย่างแท้จริง