xs
xsm
sm
md
lg

ศาล รธน.แจง ได้รับหนังสือแจ้ง ปม “วรวิทย์” มีสิทธินั่ง ปธ.ศาล รธน.ต่อ แล้ว ยันยื่นตีความสถานะเพื่อมีข้อยุติในข้อ กม.- ป้องกันคู่ความโต้แย้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศาล รธน.แจง ได้รับหนังสือแจ้ง ปม “วรวิทย์” มีสิทธินั่ง ปธ.ศาล รธน.ต่อ แล้ว ยันยื่นตีความสถานะเพื่อมีข้อยุติในข้อ กม.- ป้องกันคู่ความโต้แย้ง สะท้อนความเป็นอิสระตุลาการ

วันนี้ (2 พ.ค) สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ออกเอกสารชี้แจงกรณีที่ก่อนหน้านี้สำนักงานฯได้ส่งความเห็นของ 4 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้คณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งของ นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีสาระสำคัญ ระบุว่า ขณะนี้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาซึ่งเป็นหน่วยธุรการของคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีหนังสือลงวันที่ 29 เม.ย. 65 แจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มายังสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญแล้วโดยคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ที่มีการขอให้วินิจฉัยว่านายวรวิทย์มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 208(1) ประกอบมาตรา 202(1) ของรัฐธรรมนูญกรณีเป็นหรือเคยเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้นรัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติรับรองสถานะการดำรงตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ไว้ในบทเฉพาะกาลมาตรา 273 วรรคหนึ่ง โดยบัญญัติให้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปและเมื่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องที่จัดทำขึ้นตามมาตรา 267 ใช้บังคับแล้วการดำรงตำแหน่งต่อไปเพียงใดให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว ต่อมาเมื่อมีการตรา พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 3 มี.ค. 61 กฎหมายดังกล่าวได้กำหนดบทบัญญัติเพื่อให้สอดรับกับมาตรา 273 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญ ไว้ในบทเฉพาะกาลมาตรา 79 วรรคหนึ่งโดยบัญญัติให้ "ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งดำรงตำแหน่งยังไม่ครบวาระตามรัฐธรรมนูญ 2550 และดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนที่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 หรือพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 18 เว้นแต่กรณีตาม(1) ในส่วนที่เกี่ยวกับการขาดคุณสมบัติตามมาตรา 8 มิให้นำมาบังคับใช้”

เมื่อ นายวรวิทย์ ซึ่งได้รับการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 9 ก.ย. 57 จึงเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 และเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ดำรงตำแหน่งยังไม่ครบวาระตามรัฐธรรมนูญ 2550 และดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 ใช้บังคับ ต่อมาเมื่อวุฒิสภาให้ความเห็นชอบบุคคลผู้สมควรดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 4 คน ประกอบด้วย นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม นายวิรุฬห์ แสงเทียน นายจิรนิติ หะวานนท์ นายนภดล เทพพิทักษ์ บุคคลทั้ง 4 และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ยังดำรงตำแหน่งไม่ครบวาระจำนวน 4 คน ประกอบด้วย นายวรวิทย์ นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และ นายปัญญา อุดชาชน ได้เลือกกันเองให้นายวรวิทย์เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญและได้รับการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 63 จึงถือได้ว่านายวรวิทย์ได้ดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในมาตรา 81 วรรค 3 พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 ส่วนบทบัญญัติมาตรา 208 วรรคสองของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติว่าประธานศาลรัฐธรรมนูญซึ่งลาออกจากตำแหน่งให้พ้นจากตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วยนั้นเป็นบทบัญญัติที่มีความมุ่งหมายให้ตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญเป็นตำแหน่งที่ต้องได้รับการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นการเฉพาะ และเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้มีการสลับตำแหน่งระหว่างประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น นายวรวิทย์ จึงยังอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้จนกว่าจะครบวาระตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 และมาตรา 273 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญ 60 ประกอบมาตรา 79 วรรคหนึ่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 เมื่อรัฐธรรมนูญและ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 ได้บัญญัติรับรองสถานะการดำรงตำแหน่ง ของนายวรวิทย์ประธานศาลรัฐธรรมนูญไว้อย่างชัดเจนแล้วในบทเฉพาะกาลคณะกรรมการสรรหาจึงมีมติเอกฉันท์ว่านายวรวิทย์ไม่ได้เป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 202(1) ของรัฐธรรมนูญอันเป็นเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 208(1) ของรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ยังชี้แจงว่า การเสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นการดำเนินการเพื่อให้มีข้อยุติในข้อกฎหมายให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาคดีและผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญป้องกันปัญหาที่อาจมีคู่กรณีหรือบุคคลภายนอกโต้แย้งความสมบูรณ์ของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญภายหลังได้ รวมทั้งแสดงถึงความเป็นอิสระของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในการปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ


กำลังโหลดความคิดเห็น