xs
xsm
sm
md
lg

“เทพไท” ฟันธง นายกฯ สำรอง โอกาสกินแห้วสูง เชื่อ “บิ๊กตู่” เลือกยุบสภา มากกว่าลาออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ฟันธง นายกฯสำรอง โอกาสกินแห้วสูง เชื่อ “ประยุทธ์” เลือกยุบสภามากกว่าลาออก

วันนี้ (30 เม.ย.) นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ช่วงนี้มีการพูดถึงกระแสข่าวนายกฯสำรองกัน ให้ได้ยินกันอย่างหนาหู หลังจากที่ นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ได้เปิดประเด็นเสนอ ให้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ มาเป็นนายกฯขัดตาทัพ แทน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเป็นไปได้ และความเหมาะสม รวมทั้งการเปิดรายชื่อนายกฯสำรองกันหลายคน

ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ถ้าหาก พลเอก ประยุทธ์ ต้องมีอันเป็นไปจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยเหตุผลใดก็ตาม บุคคลที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป อันดับแรก ต้องมาจากรายชื่อแคนดิเดตของพรรคการเมืองต่างๆ ก่อน เช่น พรรคภูมิใจไทย มีชื่อของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล พรรคประชาธิปัตย์ มีชื่อของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส่วนพรรคเพื่อไทย มีชื่อของนายชัยเกษม นิติสิริ ส่วน คุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ก็ได้ลาออกจากพรรคเพื่อไทย ไปตั้งพรรคไทยสร้างไทยแล้ว และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ก็ลาออกจากพรรคเพื่อไทย ออกไปผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.อยู่ในขณะนี้

ส่วนการเปิดประเด็นเสนอชื่อของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งเป็นบุคคลนอกบัญชีของพรรคการเมือง ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน พลเอก ประยุทธ์ ต้องใช้เงื่อนไขตามมาตรา 272 วรรค 2 นั้น น่าจะเป็นการโยนหินถามทาง หยั่งกระแสของสังคม หรือสร้างความหวาดระแวงกันในหมู่พี่น้อง 3 ป.มากกว่า อาจจะเป็นการหวังดีประสงค์ร้ายต่อ พลเอก ประวิตร เพราะถ้าหาก พลเอก ประวิตร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แทน พลเอก ประยุทธ์ จริง โอกาสที่จะถูกโจมตี โค่นล้มรัฐบาลจากฝ่ายตรงข้ามง่ายกว่า เพราะต้นทุนทางสังคมของพลเอก ประวิตร ต่ำกว่า พลเอก ประยุทธ์ พอสมควร

การที่จะมีนายกฯสำรอง หรือนายกฯคนใหม่ได้นั้น พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน จะต้องมีอันเป็นไปเสียก่อน ซึ่งโอกาสหรือเงื่อนไขที่ทำให้พลเอก ประยุทธ์ ต้องหลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้นั้น น่าจะมาจากเหตุ 4 ประการ คือ

1. การยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ และแพ้โหวตในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งไม่สามารถจะยุบสภาได้ต้องพ้นจากตำแหน่งในทันที
2. ญัตติพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง และวิธีการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญของรัฐบาล ถูกคว่ำในสภาผู้แทนราษฎร รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบด้วยการลาออก หรือยุบสภา ซึ่งพลเอกประยุทธ์ น่าจะเลือกหนทางการยุบสภามากกว่าลาออก
3. รัฐบาลเสนอพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 และแพ้โหวตในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งรัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการยุบสภา หรือลาออก ซึ่งพลเอก ประยุทธ์ คงจะเลือกแนวทางการยุบสภาเช่นกัน
4. ถูกศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครบ 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ไม่สามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้ ซึ่งทำให้ พลเอก ประยุทธ์ ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยปริยาย

ดังนั้น การจะมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ หรือนายกรัฐมนตรีสำรองได้นั้น พลเอก ประยุทธ์ จะต้องติดกับดักทางการเมืองใน 4 ประเด็นนี้ก่อน และมีเพียง 2 ประเด็นเท่านั้น ที่พลเอก ประยุทธ์ จะต้องพ้นตำแหน่งโดยไม่มีสิทธิยุบสภา คือ การแพ้โหวตในญัตติไม่ไว้วางใจ และถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปีแล้ว ส่วนอีก 2 ประเด็น คือ เรื่อง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ปี 2566 ไม่ผ่าน และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญแพ้โหวตในสภาผู้แทนราษฎร เป็นการเปิดโอกาสให้นายกรัฐมนตรียุบสภาได้ ซึ่งเชื่อว่า พลเอก ประยุทธ์ จะใช้ช่องทางการยุบสภามากกว่าการลาออก การปั่นกระแสนายกฯสำรอง มีโอกาสแห้วสูงมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น