โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ เชิญชวนผู้สูงอายุฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ลดความรุนแรง ลดการป่วยหนัก ลดการเสียชีวิต
วันนี้ (28 เม.ย.) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบรายงานตามที่กรมอนามัย รายงานผลการสำรวจอนามัยโพลเรื่อง “พฤติกรรมการป้องกันโรคและความกังวลต่อการฉีดวัคซีนของกลุ่มผู้สูงอายุ” ระหว่างวันที่ 1-21 เม.ย. 2565 พบว่า ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ได้รับวัคซีนและฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นครบแล้ว ร้อยละ 88.20 และผู้สูงอายุที่ยังไม่แน่ใจที่จะฉีดวัคซีนหรือคิดว่า จะไม่ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ร้อยละ 11.80 ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุฉีดวัคซีนไม่ครบหรือยังไม่ได้ฉีดวัคซีน คือ กลัวผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน ร้อยละ 37.99 รองลงมา คือ คิดว่าฉีดวัคซีน 1-2 เข็ม เพียงพอแล้ว ร้อยละ 19.44 และอยากศึกษาข้อมูลให้แน่ใจก่อนฉีดวัคซีน ร้อยละ 10.51 ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายให้ สธ. รณรงค์ให้บุตรหลานพาผู้สูงอายุไปฉีดวัคซีนให้ครบโดส เพื่อลดอาการเจ็บป่วย ลดการป้องกันอาการรุนแรง แม้การฉีดวัคซีนอาจเกิดผลข้างเคียงได้ แต่การฉีดวัคซีนมีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงต่อการเกิดอาการข้างเคียงอย่างมาก พร้อมทั้งเน้นย้ำให้ผู้สูงอายุปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง และเข้มข้นสูงสุด เพื่อป้องกันโควิด-19 ยึดหลัก DMHTT คือ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ ตรวจวัดอุณหภูมิ และตรวจเชื้อโควิด-19 และส่งเสริมสุขภาพให้แข็งแรงสม่ำเสมอ โดยกินอาหารที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ อนามัย หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
สำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน 2565 ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รวม 14,437 ราย จำแนกเป็น ผู้ป่วยจากในประเทศ 14,360 ราย ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 77 ราย ผู้ป่วยสะสม 2,000,573 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) หายป่วยกลับบ้าน 18,509 ราย หายป่วยสะสม 1,868,475 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) ผู้ป่วยกำลังรักษา 158,768 ราย
เสียชีวิต 127 ราย จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 1,827 ราย เฉลี่ยจังหวัดละ 24 ราย อัตราครองเตียง ร้อยละ 24.1