เกิดอะไรขึ้น “ทนายตั้ม” โวย! ผู้เสียหายขอให้ลบข้อมูล ลั่นถ้าใจไม่สู้จริง อย่ามาขอให้ช่วยเหลือ “FC ปชป.แนะหัวหน้าอย่าออกเพียงเพราะจิ้งจกขี้ใส่บ้าน” “เทพไท” ฟันธง ประชุมใหญ่คอการเมืองฝันค้าง ไม่มีอะไรในกอไผ่
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (23 เม.ย.65) จากกรณีที่ ทนายตั้ม หรือ นายษิทรา เบี้ยบังเกิด เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ ได้ออกมาเปิดเผยถึงพฤติกรรมฉาวของ นักการเมืองระดับรองหัวหน้าพรรค ก่อเหตุข่มขืน ลวนลาม อนาจารสาว ซึ่งหลังจากที่มีการเปิดโปงก็ปรากฏมีหญิงสาวที่ตกเป็นเหยื่อเข้าแจ้งความเอาผิดนักการเมืองรายนี้หลายราย
ล่าสุด ทนาย ษิทรา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า
“ถ้าใครมาขอให้ผมช่วยทำคดีอะไร แล้วผมขออนุญาตนำเรื่องลงเพจแล้วเป็นคดีดังขึ้นมา อยู่ดีๆ มาขอให้ลบ หรือดัดแปลงข้อมูลเพื่อเอาตัวรอด ผมไม่ทำให้นะครับ เพจผมเน้นเรื่องจริง และขออนุญาตก่อนเผยแพร่เสมอ จะอยู่ดีๆ มากลัว มาขอลบ บอกเลยผมไม่ทำให้ ตัวผมเองก็เสี่ยงเปิดหน้าสู้ มีเครดิต มีความน่าเชื่อถือต้องรักษา ถ้าใจไม่สู้จริง อย่ามาขอความช่วยเหลือจากผม”
“หาว่าผมถ่ายรูปโดยไม่ขออนุญาต วันนั้นผมไปคนเดียว ผมให้พนักงานในร้านถ่ายรูปให้ ผมยังเดินไปหามุมกล้องให้พนักงาน แถมบอกน้องว่าให้จัดผมหน่อย ข้างหลังมันกระเซิง แม่มาพูดแบบนี้ผมเสียนะครับ เหยื่อทุกคนก่อนจะทำอะไรผมขออนุญาตทุกครั้ง แม้แต่เรื่องเล็กน้อย ผมป้องกันแค่ไหน พี่ๆนักข่าวลองถามเหยื่อที่ไม่มีปัญหาทั้ง 14 คนจะรู้ความจริงครับ”
ขณะเดียวกัน นายสุทิน วรรณบวร อดีตผู้สื่อข่าวสำนักข่าวต่างประเทศ ซึ่งสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า
“คนที่ถูกศาลตัดสินจำคุก เพราะโกงการเลือกตั้งพร้อมทั้งศาลสั่งให้พ้นจากความเป็น ส.ส. ถูกตัดสิทธิการเมือง พ้นจากสมาชิกพรรคการเมืองไปแล้ว ไม่ควรหน้าด้านออกมาพูดในนามพรรคและหนักไปทางด้อยค่าผู้บริหารพรรค เพราะตัวเป็นคนนอกแล้ว ควรใช้เวลาในการหาข้อแก้ตัวในศาลฎีกาดีกว่า”
นายสุทิน โพสต์ถึงพรรคประชาธิปัตย์ด้วยว่า “มีปัญหากับผู้ต้องหาคนเดียวต้องทิ้งพรรคเหมือนหนูเข้าบ้านตัวเดียวต้องเผาบ้าน ถ้ามีปัญหาปากท้องประชาชนจะทนไหวไหม
คนเดียวมีปัญหาทุกคนในพรรคก็พูดว่าให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินการเต็มที่ พรรคไม่มีการแทรกแซงหรือช่วยเหลือผู้ต้องหา แถมยังเสนอตัวช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ตกเป็นเหยื่อด้วย
ตั้งแต่หัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค การลาออกตอนนี้ คือ การหนีปัญหา แต่ถ้าสมาชิกพรรคมีเป้าหมายจะย้ายพรรคอยู่แล้วฉวยโอกาสลาออกตอนนี้ได้ แต่ไม่ควรทับถมพรรคก่อนจากไป เพราะพรรคไม่มีความผิดอะไร
ผู้ต้องหาลาออกจากพรรคไปแล้ว และยินดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม คดีจะจบลงอย่างไรควรปล่อยให้เป็นดุลพินิจของศาล ไม่ใช่มาเหมาเอาว่า ผู้ต้องหาผิดแล้ว และ ทุกคนในพรรคก็ผิดไปด้วย
พรรคอื่นที่เจ้าของพรรคถูกตัดสินจำคุกไม่รู้กี่คดีหนีไปอยู่ต่างประเทศลูกพรรคยังนับหน้าถือตา แถมยังประกาศว่าจะนำพาพรรคให้ชนะแบบแลนด์สไลด์
ไม่ต้องเอาอย่างพรรคนั้นก็ได้ แต่ไม่ควรลาออกแบบหุงข้าวประชดหมา ปิ้งปลาประชดแมว รักพรรคจริงต้องช่วยกันแก้ปัญหา อยู่บ้านเดียวกันจุดไหนสกปรกต้องช่วยกันปัดกวาดกวาดล้าง ไม่ใช่เห็นจิ้งจกขี้ใส่บ้านนิดเดียว บอกว่าหัวหน้าครอบครัวต้องลาออก และ ตัวเองต้องไป เพราะทนความสกปรกไม่ได้ บ้านหลังใหม่ที่จะไปอยู่อาจสกปรกกว่าบ้านหลังเก่าก็ได้ แต่คนอาศัยเขาไม่โวยวายเพราะเกรง (กลัว) เจ้าของบ้าน” (จากไทยโพสต์)
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า วันนี้ 23 เมษายน 2565 มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งจัดขึ้นที่ห้องประชุมของพรรคชั้น 3 และมีการประชุมทางอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบ Zoom อีกช่องทางหนึ่งด้วย
ผมในฐานะอดีต ส.ส.ของพรรคคนหนึ่ง แต่ไม่ได้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ เพราะถูกตัดสิทธิทางการเมือง แต่จะไปสังเกตการณ์ในฐานะคนเคยเป็น ส.ส.ของพรรคมาก่อน เมื่อผมได้ดูวาระของการประชุมแล้ว มีอยู่ 5 วาระคือ
- วาระที่ 1 เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ ก็คงจะไม่มีอะไรมาก นอกจากข่าวทั่วไปที่หัวหน้าพรรค จะแจ้งต่อที่ประชุมเพื่อทราบเท่านั้น
- วาระที่ 2 รับรองรายงานการประชุมใหญ่สามัญพรรคประชาธิปัตย์ ประจำปี 2564 ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2564 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2564 วาระนี้ก็เป็นไปตามรูปแบบของการประชุม ต้องมีการรับรองผลการประชุมครั้งที่ผ่านมา
- วาระที่ 3 การดำเนินงานตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 43 และมาตรา 61 เกี่ยวกับรายงานการดำเนินกิจการของพรรค ในรอบปีที่ผ่านมา และรับรองงบการเงินประจำปี 2564 ซึ่งเป็นวาระปกติของการจัดประชุมใหญ่ในครั้งนี้
- วาระที่ 4 แผนยุทธศาสตร์ของพรรค แผนหรือโครงการที่จะดำเนินการกิจกรรมสำหรับปีต่อไป โดยเฉพาะการหารายได้ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในทางการเมือง และการพัฒนาการบุคลากรทางการเมือง ตามข้อบังคับพรรคข้อ 79 ซึ่งเป็นวาระที่ต้องบรรจุไว้ตามข้อบังคับพรรคอยู่แล้ว และคงจะมีการรายงานการจัดงานระดทุนของพรรค ที่ห้องบอลรูม ห้างเซ็นทรัล ลาดพร้าว ที่ผ่านมาด้วย
- วาระที่ 5 เรื่องอื่นๆ (ถ้ามี) ซึ่งเป็นวาระที่เปิดกว้าง ซึ่งอาจจะให้องค์ประชุมเสนอหยิบยกประเด็นขึ้นมาพิจารณา หรืออภิปรายได้ แต่เชื่อว่าจะไม่มีใครหยิบยกปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ท่ามกลางมรสุมทางการเมือง กระแสความกดดันของสังคม ที่มีต่อคณะกรรมการบริหารพรรคชุดนี้อย่างแน่นอน ด้วยความเกรงใจ หรือการรักษามารยาทก็ตาม เพราะแม้แต่ในไลน์กลุ่มของพรรค ก็ยังไม่มีใครกล้าแชร์ข่าวที่เกี่ยวกับพรรคในทางลบให้ได้อ่านกันเลย เพราะกลัวว่าจะถูกมองด้วยสายตาในทางลบ หรือไม่อยากตกเป็นเป้าหมาย หรือสร้างศัตรูให้กับใคร ก็มีแต่การแอบซุบซิบหรือพูดคุยในกลุ่มเล็กๆเท่านั้น ถ้าจะมีการแสดงความเห็นอยู่บ้าง ก็คือคุณอันวาร์ สาและ กับคุณสามารถ มะลูลีม เท่านั้น ที่เป็นขาประจำ ผมขอชื่นชมในความกล้าหาญ และรักพรรคและหวังดีต่อพรรคอย่างแท้จริง
ผมขอฟังธงล่วงหน้าได้เลย ในฐานะที่มีประสบการณ์อยู่ในพรรคมานานพอสมควรว่า การประชุมใหญ่ของพรรคในวันนี้ ที่ใครๆจับตามองนั้น คงจะผิดหวัง เพราะเชื่อว่าไม่มีอะไรในกอไผ่ คนที่อยากเห็น คณะกรรมการบริหารพรรคลาออกทั้งชุด ต้องฝันค้าง เพราะการประชุมครั้งนี้เป็นแค่พิธีกรรม ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองเท่านั้น
แน่นอน, ประเด็นที่น่าคิด และน่าสนใจ ก็คือ กรณี “ทนายษิทรา” โพสต์เฟซบุ๊ก เกี่ยวกับผู้เสียหายบางคนต้องการให้ลบข้อมูลที่โพสต์เรื่องราวที่เกิดขึ้น แถมกล่าวหาว่า ทนายษิทราถ่ายภาพโดยไม่ได้รับอนุญาต
เพราะเรื่องนี้น่าจะมีอะไรอยู่เบื้องหลัง และคนที่รู้ดีที่สุดก็น่าจะเป็นทนายษิทรากับผู้เสียหายนั่นเอง ส่วนว่าเกี่ยวกับคดีมากน้อยแค่ไหน ก็นับว่าน่าจับตามองอย่างใกล้ชิด
ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพรรคประชาธิปัตย์ ดูเหมือนเวลานี้ มีทั้งฝ่ายหนุนให้ “กก.บห.” สู้ต่อ และฝ่ายเรียกร้องให้ “ลาออก” เพื่อแสดงสปิริต และรับผิดชอบการแต่งตั้ง นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ ผู้ถูกกล่าวหา เป็นรองหัวหน้าพรรค
แต่ปรากฏว่า สิ่งที่ กก.บห.และหัวหน้าพรรค นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ตัดสินใจก็คือ การไม่ยอมลาออก เพราะจะเท่ากับเป็นการหนีปัญหา ซึ่งเรื่องนี้ถือว่า ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละฝ่าย แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ดูเหมือนไม่มีอะไรที่จะเปลี่ยนแปลงการตัดสินครั้งนี้ได้ เพราะในการประชุมใหญ่ของพรรค ที่คาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจ กลับไม่มีอะไรเกิดขึ้น
นั่นเท่ากับว่า พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมที่จะเผชิญหน้ากับ ความขัดแย้งแตกแยกภายในพรรค ที่รุนแรงขึ้นกว่าเดิมอีกหลายเท่า ส่วนจะถึงขั้นทำให้พรรคระส่ำระสายหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน เป็นอีกประเด็นที่น่าสนใจ
เหนืออื่นใด สิ่งที่หลายคน “เสียดาย” ก็คือ ความเป็น “สถาบัน” ของพรรคประชาธิปัตย์ เพราะเป็นพรรคที่เก่าแก่ และเป็นพรรคของมวลสมาชิกอย่างแท้จริง ไม่ใช่พรรคของใครคนใดคนหนึ่ง ที่หายากยิ่งในการเมืองไทย หรือไม่จริง!?