xs
xsm
sm
md
lg

“เทพไท” เสียดาย “วิทยา” ย้อนรำลึก “กลุ่มนกนางแอ่น” ปชป.ถึงคราวระส่ำหนัก “กก.บห.” ถูกกดดัน “ลาออก”?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ นายวิทยา แก้วภราดัย จากแฟ้ม
เกิดอะไรขึ้นกับ ปชป. “เทพไท” เสียดาย “วิทยา” ลาออก สูญเสียนักต่อสู้สมัย “6 ตุลา 19” และ 1 ใน 3 ขุนพล “ชำนิ-วิทยา-สุธรรม” กลุ่มนกนางแอ่นแห่งลุ่มน้ำปากพนัง เจ้าตัวแจงสาเหตุ อยากให้ “กก.บห.” แสดงสปิริตกว่านี้

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (22 เม.ย. 65) นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความ ระบุถึงการลาออกของ นายวิทยา แก้วภราดัย อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์หลายสมัย ประกาศลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ระบุ ว่า

“เราสูญเสีย วิทยา แก้วภราดัย ไปอีกคน
ในการยื่นใบลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์

ผมไม่ได้เข้าพรรคประชาธิปัตย์มาหลายวันแล้ว วันนี้ตอนเช้ามีนัดเจาะเลือดตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ซึ่งอยู่ใกล้พรรค จึงถือโอกาสแวะเข้ามาที่พรรค มานั่งที่โต๊ะม้าหินใต้ต้นมะขามเทศ ซึ่งเป็นที่นั่งประจำของผมกับเพื่อนๆ

เมื่อมาถึงพรรคก็ดีใจที่ได้พบกับพี่น้อย คุณวิทยา แก้วภราดัย อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช ก็ได้ทักทายพูดคุยกัน เพราะไม่ได้เจอกันมาเป็นเวลานานแล้ว จึงได้สอบถามสารทุกข์สุกดิบ และพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องการเมือง ซึ่งคุณวิทยาได้บอกกับผมว่า “เมื่อกี้พี่ได้ยื่นใบลาออกจากสมาชิกพรรคแล้วนะ” ทำให้ผมรู้สึกใจหาย เศร้าใจเป็นที่สุดอีกวันหนึ่ง

ผมกับคุณวิทยารู้จักกันมา และร่วมอุดมการณ์ทางการเมืองตั้งแต่ผมยังเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง และได้ช่วยทีมชำนิ-วิทยา-พิพัฒน์ศร หาเสียงในพื้นที่เขต 3 จังหวัดนครศรีธรรมราช มาตั้งการเลือกตั้งปี 2529 จนเปลี่ยนมาเป็น ทีมชำนิ-วิทยา-สุธรรม ในการเลือกตั้งปี 2531 ซึ่งได้ต่อสู้ทางการเมืองในนามกลุ่มนกนางแอ่นแห่งลุ่มน้ำปากพนัง

หลังจากนั้น กลุ่มนกนางแอ่น ก็แยกย้ายกันไป โดย คุณชำนิ ศักดิเศรษฐ์ กับ คุณวิทยา แก้วภราดัย เข้าสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ส่วน คุณสุธรรม แสงประทุม ย้ายไปสังกัดพรรคไทยรักไทย และย้ายมาลงสมัคร ส.ส.ที่กรุงเทพฯ

ภาพ นายเทพไท เสนพงศ์ จากแฟ้ม
ส่วนผมก็ยังอยู่กับกลุ่มใหม่ในนามพรรคประชาธิปัตย์ คือ ชำนิ ศักดิเศรษฐ์ วิทยา แก้วภราดัย อภิชาต การิกาญจน์ จนผมได้มาเป็น ส.ส.ในโอกาสต่อมา และตอนนี้ยังเหลือแต่คุณชำนิ เพียงคนเดียว เพราะทั้ง คุณอภิชาต และคุณวิทยา ได้ลาออกจากพรรคไปแล้ว

คุณวิทยา แก้วภราดัย ถือว่าเป็นนักการเมืองที่มีอุดมการณ์คนหนึ่ง เป็นนักต่อสู้ตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา เมื่อครั้งเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ก็ถูกล้อมปราบในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดนยิงบาดเจ็บขาหัก ต้องใส่เหล็กจนถึงปัจจุบันนี้ เมื่อมาเป็นนักการเมือง เป็น ส.ส. 8 สมัย เป็นรองหัวหน้าพรรคภาคใต้ และมีโอกาสเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็ได้แสดงสปิริตลาออกจากตำแหน่ง หลังจากมีข้อครหาเรื่องการจัดสรรงบประมาณอย่างมีเงื่อนงำ ซึ่งภายหลังมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงไม่ปรากฏความผิด แต่คุณวิทยาก็ได้แสดงสปิริตสร้างมาตรฐานให้กับพรรคประชาธิปัตย์มาแล้ว

ในวันนี้ เมื่อ คุณวิทยา ได้มายื่นใบลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ผมรู้สึกเสียใจและเสียดายมากที่สุด ที่พรรคต้องสูญเสียสมาชิกพรรคคนสำคัญไปอีกคนหนึ่ง ซึ่งพรรคได้สูญเสียบุคลากรที่มีชื่อเสียงและเป็นบุคคลสำคัญของพรรคไปแล้วหลายคน

ขอให้โชคดีทางการเมืองนะครับพี่น้อย”

ทั้งนี้ นายวิทยา แก้วภราดัย อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีต ส.ส.นครศรีธรรมราชหลายสมัย กล่าวว่า ตนได้ยื่นลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ต่อเจ้าหน้าที่พรรคเรียบร้อยแล้วเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ตนยังไม่ได้เรียนให้ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้รับทราบด้วยตัวเอง แต่ได้ฝาก นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ไปแจ้งต่อนายชวนให้รับทราบแล้วเมื่อ 2 วันที่ผ่านมา

สำหรับสาเหตุที่ตัดสินใจลาออกครั้งนี้นั้น ตนอยู่พรรคการเมืองมาหลายพรรค แต่อยู่กับพรรคประชาธิปัตย์นานที่สุดในชีวิตการเมือง ที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์หลายอย่างขึ้นในพรรค โดยเฉพาะกรณี นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่สร้างความเสียหายให้กับพรรค

ตนอยากให้กรรมการบริหารพรรคแสดงความรับผิดชอบ และแสดงสปิริตกับเรื่องที่เกิดขึ้นให้มากกว่านี้ เพราะเรื่องมาตรฐานจริยธรรมต้องสูงกว่ากฎหมาย พรรคไม่ผิด แต่มีคนผิด ดังนั้นต้องมีคนรับผิดชอบ เนื่องจากกรรมการบริหารพรรคชุดนี้ เป็นคนชักจูงนายปริญญ์เข้ามาอยู่ในพรรค ถือเป็นความรับผิดชอบทางการเมืองต่อประชาชน จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็จะไม่เหลือพรรค

แต่อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวยังคงรักพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งตนพร้อมกลับมาหากมีการเปลี่ยนแปลง และขอย้ำว่า การตัดสินใจลาออกครั้งนี้ เป็นเรื่องภาพลักษณ์ และความรู้สึกของประชาชนล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับว่าพรรคจะไม่ส่งตนลงผู้สมัคร ส.ส.นครศรีธรรมราช เพราะตนมีชื่อลงสมัครอยู่แล้ว

“อย่าให้พรรคช้ำจนไม่เหลือชื่อประชาธิปัตย์ ถ้าไม่เปลี่ยนก็จะไม่เหลือพรรค คำว่าประชาธิปัตย์ไม่ได้เป็นแบบนี้ เพราะเราถูกสอนมาว่าต้องรู้จักรับผิดชอบต่อสังคม และความรู้สึกของประชาชน ไม่ใช่เกาะเกี่ยวเหนียวติดอยู่กับตำแหน่ง ผมถูกฝึกมาอย่างนั้น พรรคเป็นของทุกคน พรรคก็เป็นของผม แต่ผมต้องหาคนรับผิดชอบให้ได้ เมื่อไม่มีใครรับผิดชอบ ผมต้องเลือกปกป้องพรรค” นายวิทยา กล่าว

ภาพ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ จากแฟ้ม
เมื่อถามว่า หมายความว่า ผู้บริหารพรรคควรแสดงสปิริตลาออกทั้งคณะ เพื่อแสดงความรับผิดชอบใช่หรือไม่ นายวิทยา กล่าวว่า ควรคิดแบบนั้น เพราะพรรคถูกทำร้าย พรรคประชาธิปัตย์เป็นสถาบันการเมืองที่มีมายาวนาน ตนอยากเห็นพรรคอยู่ต่อไปได้ แต่เมื่อคนในพรรคทำผิด ผู้บริหารพรรคก็ต้องรับผิดชอบด้วย เพราะสมัยที่ตนเองเป็น รมว.สาธารณสุข ก็เคยถูกพาดพิงก็แสดงความรับผิดชอบ

ตนเป็น ส.ส.มา 30 กว่าปี อยู่มาหลายพรรค และคิดว่า จะอยู่พรรคประชาธิปัตย์นานที่สุด ใครก็อิจฉา แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น ประชาชนที่เป็นเจ้าของพรรคจะคิดอย่างไร จึงเป็นสาเหตุทำให้ตัดสินใจลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคครั้งนี้

เมื่อถามว่า ตัดสินใจหรือยังว่าจากนี้จะไปร่วมงานการเมืองกับพรรคไหนต่อ นายวิทยา กล่าวว่า ส่วนตัวยังไม่ได้ตัดสินใจ ตอนนี้ขออยู่นิ่งๆ ก่อน แต่คิดว่าตัวเองยังมีน้ำยา ส่วนจะไปร่วมงานกับพรรคไหนต่อไปนั้น ตนมองว่า ต้องเป็นคนที่พร้อมเสียสละเพื่อบ้านเมืองอย่างแท้จริง ทั้งนี้ ยอมรับว่า ที่ผ่านมา ก็มีคนเข้ามาพูดคุยทาบทามไปร่วมงานด้วยหลายคน แต่ตนยังไม่ได้ตัดสินใจ เพราะคิดว่ายังไม่ถึงเวลาตัดสินใจ

แน่นอน, ประเด็นที่น่าสนใจ หลังจากนี้ คือ คณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ จะตัดสินใจอย่างหนึ่งอย่างใดหรือไม่

เพราะอย่าลืมว่า ผู้ใหญ่ที่ถือว่าเป็นแกนหลักของพรรคบางคนได้ออกมาส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่า การแถลงรับผิดชอบ ของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ผ่านมา ยังไม่เพียงพอ ยังต้องการให้แสดงสปิริตรับผิดชอบ ในฐานะที่นำ นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ เข้ามาเป็นรองหัวหน้าพรรค ให้มากกว่านี้ โดยยอมรับว่า ต้องการให้ “ลาออก” ยกชุด

ยิ่งกว่านั้น “วิทยา” อาจไม่ใช่คนสุดท้ายก็เป็นได้ หากว่า กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ยังคงนิ่งเฉย หรือ ไม่สนใจ กระแสกดดัน เพราะอย่าลืมว่า นี่คือ ประชาธิปัตย์ ที่มีความเป็นสถาบันสูงกว่าทุกพรรค และมีสมาชิกพรรคที่ผูกพันกับองค์กรสูงด้วยเช่นกัน

จึงนับว่า น่าจับตามอง ผลกระทบครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ยืนหยัดต่อสู้อย่างไร การ “ลาออก” ของคณะกรรมการบริหารพรรค ถ้าเกิดขึ้น จะกู้วิกฤตศรัทธากลับมาได้หรือไม่ หรือถึงคราวที่ต้องระส่ำระสายไปกันใหญ่ ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น