“สาธิต” ชี้ สถานการณ์แตกต่าง ปชป.ส่งผู้สมัคร ส.ส.ราชบุรี ชน พปชร.เผย ไม่เสียมารยาท เหตุยังไม่มีพรรคไหนส่ง หวังคว้าชัยชนะได้
วันนี้ (21 เม.ย.) นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ในฐานะรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดูแลภาคกลาง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ มีมติส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ราชบุรี เขต 3 ว่า ในส่วนของภาคกลาง มีมติให้ส่งผู้สมัครที่เขต 3 และวันนี้ไปสมัครแล้ว
เมื่อถามว่า ที่ผ่านมา ไม่ค่อยเห็นพรรคร่วมรัฐบาลแข่งกันเอง แต่ช่วงหลังตั้งแต่ที่พรรคพลังประชารัฐ ส่งผู้สมัครเลือกตั้งซ่อมที่ภาคใต้ และครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ ก็ส่งผู้สมัครลงแข่ง นายสาธิต กล่าวว่า มันเป็นสถานการณ์ที่แตกต่างกัน เพราะระยะเวลาของสภา ถึงแม้จะเกิน 180 วัน แต่ก็เกินมาไม่นาน ความสนใจของพรรคการเมืองที่จะส่งผู้สมัครลงในวาระสภาที่เหลือ ก็อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่ง ในส่วนของพรรคอื่นเข้าใจว่าคงจะไปดูปัจจัยเกณฑ์คะแนนการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ว่า มีโอกาสมากน้อยแค่ไหน ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ มีคะแนนเป็นอันดับ 2 จึงทำให้มีความต้องการของผู้สมัครที่จะลงรับสมัครเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งสิ่งนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ตนเสนอไป แต่ก็เป็นเรื่องของ กก.บห.ที่พิจารณา
เมื่อถามว่า ไม่ถือเป็นการเสียมารยาททางการเมือง กับพรรคร่วมรัฐบาล ใช่หรือไม่ นายสาธิต กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่เห็นพรรคอื่นส่ง เพราะที่ผ่านมา เห็นผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์พรรคเดียว ทั้งนี้ ตนไม่แน่ใจว่าจะมีพรรคร่วมอื่นส่งหรือไม่
เมื่อถามว่า เจ้าของพื้นที่เดิมเป็น น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ อดีต ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ประเมินแนวโน้มที่จะชิงเก้าอี้มาได้อย่างไรบ้าง หรือจะใช้ยุทธศาสตร์อะไร นายสาธิต กล่าวว่า เวลาเลือกตั้งเราก็จะต้องมียุทธศาสตร์และความตั้งใจที่จะชนะเลือกตั้ง แต่ความจริงแล้ว ผู้สมัครของเราก็เป็นผู้สมัครครั้งที่ผ่านมา และเขาก็ทำพื้นที่ คิดว่า พื้นฐานคะแนนเดิมและในการรณรงค์หาเสียงครั้งนี้ก็คงจะต้องทำเต็มที่ และหวังว่า มีโอกาสได้รับชัยชนะ แต่ก็ขึ้นอยู่กับคู่ต่อสู้ด้วย การเมืองขึ้นอยู่กับสถานการณ์ กระแส และคู่ต่อสู้
เมื่อถามว่า หากพรรคประชาธิปัตย์ ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ จะส่งผลถึงการเลือกตั้งครั้งหน้าด้วยหรือไม่ นายสาธิต กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นเรื่องของปลายสมัย เป็นเรื่องของการที่จะสามารถยึดพื้นที่ไว้ได้หรือไม่ ซึ่งแต่ละพื้นที่มีบริบทความรู้สึกของคนที่แตกต่างกัน เพราะในแต่ละพื้นที่จะมีคนที่อาจจะมีพื้นฐานแนวความคิดที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับประชาชนในพื้นที่