นายกฯ ชู ฤกษ์หลังสงกรานต์ เริ่มต้นขับเคลื่อน-ฟื้นฟูประเทศ ยันเสถียรภาพการเงินยังเข้มแข็ง ห่วง ปชช.รายได้ลด ค่าใช้จ่ายเพิ่ม แนะปรับพฤติกรรม เลือกใช้-เลือกกิน ให้เหมาะสมกับสถานะ
วันนี้ (19 เม.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แถลงภายหลังเป็นประธานประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า สงกรานต์ปีนี้เป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นใหม่ ในการขับเคลื่อนประเทศ ฟื้นฟูเศรษฐกิจตามแผนโรดแมพของเราหลังโควิด -19 ทั้งเรื่องการท่องเที่ยว การลงทุน การส่งออก เพิ่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุ ที่เราต้องมีการวางแผนรองรับสังคมผู้สูงอายุทีจะเข้ามาอย่างรวดเร็ว ซึ่งรัฐบาลได้เตรียมการไว้ทุกมิติอย่างเต็มที่แล้ว ทั้งนี้ ปัญหาอยู่ที่งบประมาณที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน โดยสรุปแล้วเราใช้เงินเหล่านี้ดูแลคนทุกช่วงวัน ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ จนกระทั่งถึงผู้สูงอายุ เราใช้งบประมาณในแต่ละปีเป็นเงิน 8 แสนกว่าล้านบาท ฉะนั้น การที่จะให้เพิ่มขึ้นก็อยู่ที่งบประมาณที่เราจะหาได้ในอนาคต ว่าเราจะเพิ่มขึ้นได้อย่างไร เพื่อรองรับการใช้จ่าย
นอกจากนี้ ก็ยังมีมาตรการช่วยเหลือด้านการเกษตร พืชหลัก 6 ชนิด เป็นจำนวนหลายแสนล้านบาท ฉะนั้นในการใช้จ่ายงบประมาณในปี 2565 ที่เหลืออยู่ และการจัดทำงบประมาณในปี 2566 ตนให้หลักการไปแล้วว่าเราจะทำยังไงที่จะนำพาประเทศของเราผ่านปัญหาอุปสรรคและวิกฤตการณ์ที่มันเกิดขึ้น ทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศที่เราควบคุมไม่ได้นั้นจะนำไปสู่อนาคตได้อย่างไร โดยใช้หลักการว่าจะทำให้อยู่รอดปลอดภัย พอเพียง และนำไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต
“นี่หลักการของผม ที่ได้สั่งการมอบหมายไปกับ ครม.วันนี้ ว่าต้องระมัดระวังอย่างที่สุด ในขณะที่รายได้เราก็ลดลงหลายๆ เรื่องด้วยกัน ถึงแม้การส่งออกเราจะดีขึ้นก็ตาม” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายกฯ กล่าวต่อว่า ในเรื่องการแก้ปัญหาระบบการเงิน การคลัง ทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้รายงานชี้แจงมาแล้วว่าเรายังมีเสถียรภาพที่เข้มแข็งเพียงพอ เพียงแต่ว่างบประมาณที่เรานำมาใช้ในการบริหารประเทศอาจจะต้องลดลงบ้าง แน่นอนว่าต้องเกิดผลระทบ ซึ่งตนก็บอกว่าเราต้องใช้งบประมาณในกาารดูแลกลุ่มเปราะบาง หรือผู้มีรายได้น้อย เป็นจำนวนสูงมาก คงต้องย้อนกลับไปดูผู้ประการธุรกิจขนาดกลาง ขนาดใหญ่ ไว้ด้วย เนื่องจากเป็นแหล่งจ้างงาน เพื่อให้ได้เกิดห่วงโซ่ไปด้วยกัน เราจึงต้องหามาตรการดูแลไว้ด้วย ไม่เช่นนั้นการจ้างงานก็จะลดลง รวมไปถึงการพัฒนาฝีมือแรงงานต่างๆ เพื่อไปสู่การมีรายได้สูงในอนาคต
“ผมเป็นห่วงการใช้จ่ายเงินของประชาชน วันนี้รายได้ลดลง ขณะเดียวกัน ราคาสินค้าบริโภค พลังงาน ก็สูงขึ้น ทำให้รายได้ที่เขาได้แต่ละวัน แต่ละเดือนไม่เพียงพอ ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตประจำวันมันเกือบถึง 50% ของรายได้เขา หรืออาจจะมากกว่าเพราะได้เขาไม่มากนัก เพราะฉะนั้นก็ต้องอยู่ที่พฤติกรรมด้วย ต้องปรับเปลี่ยน เรามีเงินน้อย ก็ต้องเลือกใช้ เลือกกิน ให้เหมาะสมกับสถานะของเราในขณะนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลไม่สนใจในเรื่องของความเหลื่อมล้ำ และพยายามไม่ยกระดับรายตรงนี้ให้มากขึ้น แต่พอดีมีเหตุการณ์เกิดขึ้น หลายอย่างกำลังจะดีขึ้น แต่รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจ วันนี้ได้สั่งการให้มีมาตรการต่างๆ ทยอยออกมาเรื่อยๆ แต่ทั้งนี้ก็จำเป็นต้องหาแหล่งรายได้เพิ่มเติมให้ได้ อันนี้ต้องเข้าใจตรงกัน” นายกรัฐมนตรี กล่าว