รัฐบาลได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตาม 10 มาตรการด่วน เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายภาคครัวเรือน ครอบคลุมประชากรกลุ่มเป้าหมายราว 40 ล้านคน และจะมีการจ่ายเงินเข้าบัญชีโดยตรง เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพให้กับกลุ่มเปราะบาง 3 กลุ่ม นับว่าเป็นมาตรการที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตให้กับประชาชน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
วันนี้ (16 เม.ย.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีข่าวปรากฏในสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับประเด็นเรื่องรัฐบาลเตรียมจ่ายเงินเข้าบัญชีโดยตรง ช่วยเหลือค่าครองชีพ 3 กลุ่มเปราะบาง ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยกรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี พบว่าข้อมูลดังกล่าว เป็นข้อมูลจริง
จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ที่เป็นผลกระทบจากวิกฤตโควิด ต่อเนื่องมานานกว่า 2 ปี และถูกซ้ำเติมด้วยความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าสูงขึ้นอย่างมากทั่วโลก รัฐบาลมีความเป็นห่วงความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย หาเช้ากินค่ำ ผู้มีปัญหาหนี้สิน และธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ จึงได้จัดให้มีการประชุมทั้งเป็นทางการและการปรึกษาหารือนอกรอบ เพื่อหาทางช่วยเหลือประชาชน และได้สั่งการนโยบายเร่งด่วนเพื่อบรรเทาภาระเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นให้มีผลโดยเร็วที่สุด ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตาม 10 มาตรการด่วนเพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายภาคครัวเรือน ครอบคลุมประชากรกลุ่มเป้าหมายราว 40 ล้านคน และ จะมีการจ่ายเงินเข้าบัญชีโดยตรง เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพให้กับกลุ่มเปราะบาง 3 กลุ่ม ได้แก่
1.เบี้ยผู้สูงอายุ 600-1,000 บาท ตามเกณฑ์อายุ
2.เงินอุดหนุนเด็ก 600 บาท
3.เบี้ยผู้พิการ 800-1,000 บาท ตามเกณฑ์อายุ นับว่าเป็นมาตรการที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตให้กับประชาชน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการอื่น ๆ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ที่หน่วยงานภาครัฐได้ดำเนินการไปแล้ว ดังนี้
1.กองทุนประกันสังคม : ลดอัตราเงินสมทบ 3 เดือน (พ.ค.-ก.ค.65) แบ่งออกเป็น (1) กรณี ม.33 นายจ้างและลูกจ้าง จ่ายเงินสมทบกองทุนฯ เหลือฝ่ายละ 1% จากเดิม 5% (2) กรณี ม.39 จากเดิม 9% ของฐานค่าจ้าง 4,800 บาท (เดือนละ 432 บาท) ให้เหลือ 1.9% (เดือนละ 91 บาท) ซึ่งจะช่วยเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกันตนได้ ประมาณ 1,000 -1,800 บาทต่อคน ในขณะเดียวกันนายจ้างก็มีสภาพคล่องเพิ่มมากขึ้นด้วย
2.กระทรวงแรงงาน : เพิ่มการจ่ายเงินสมทบให้ผู้ประกันตนขึ้น อีก 2.95% ของค่าจ้าง (ช่วง 3 เดือน พ.ค.-ก.ค.65 ที่ลดอัตราส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม) เพื่อไม่ให้กระทบการจ่าย “เงินบำเหน็จชราภาพ” แก่ผู้ประกันตนว่า 4.8 ล้านรายในอนาคต
3.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) : เปิด “โครงการสินเชื่อสู้ภัย COVID-19″ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในการดำรงชีวิตให้แก่เกษตรกร หรือลูกจ้างภาคการเกษตร วงเงินรายละไม่เกิน 10,000 บาท โดยไม่ต้องมีคนค้ำประกัน ดอกเบี้ยต่ำ 0.35% ต่อเดือน (flat rate) และปลอดการชำระต้นเงินและดอกเบี้ย 6 เดือนแรก
4.กระทรวงศึกษาธิการ : จัดตั้ง “สถานีแก้หนี้ครู” 558 แห่งทั่วประเทศ มีครูได้รับประโยชน์ทันทีกว่า 460,000 คน
5.บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) : ร่วมกับ 16 สถาบันการเงินจัดทำ “โครงการค้ำประกันสินเชื่อ” (Portfolio Guarantee Scheme) ระยะพิเศษ วงเงิน 90,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มลูกหนี้เดิม ที่มีสินเชื่อคงค้าง สร้างสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจและช่วยพยุงการจ้างงาน
6.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) : ตรึงดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านถึงสิ้นปี 2565 เพื่อช่วยบรรเทาภาระของผู้กู้ และกระตุ้นการฟื้นตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คาดว่าจะมีผู้มาขอสินเชื่อกับ ธอส.ตลอดทั้งปี มูลค่ากว่า 240,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.prd.go.th หรือโทร. 02 618 2323
หน่วยงานที่ตรวจสอบ กรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี