ตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้เข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อจะได้มีสภาพคล่องเพียงพอต่อการประคับประคองธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 จึงได้มีการออก พ.ร.ก. Soft Loan เมื่อปี 2563 และเพื่อให้ธุรกิจเหล่านั้นมีความมั่นใจว่าจะยังคงได้รับสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง ลดปัญหาผิดชำระหนี้ สามารถพยุงการจ้างงานได้ต่อไป
วันนี้ (31 มี.ค.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีข่าวปรากฏในสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับประเด็นเรื่องรัฐบาลอนุมัติ 1.5 หมื่นล้านบาท ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้เข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยกรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี พบว่าข้อมูลดังกล่าว เป็นข้อมูลจริง
ตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้เข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อจะได้มีสภาพคล่องเพียงพอต่อการประคับประคองธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 จึงได้มีการออก พ.ร.ก. Soft Loan เมื่อปี 2563 และเพื่อให้ธุรกิจเหล่านั้นมีความมั่นใจว่าจะยังคงได้รับสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง ลดปัญหาผิดชำระหนี้ สามารถพยุงการจ้างงานได้ต่อไป รัฐบาลจึงได้เห็นชอบกรอบวงเงิน 15,854 ล้านบาท สำหรับดำเนินโครงการค้ำประกันสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ SMEs โดยใช้กลไกบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาช่วยค้ำประกันสินเชื่อภายใต้ พ.ร.ก. Soft Loan ที่จะครบกำหนดเวลาการชำระหนี้คืนในเดือนเมษายน 2565 เป็นต้นไป
โดยในวันที่ 1 เมษายนนี้ บสย. จะเปิดรับคำขอโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะพิเศษ Soft Loan Extra คาดว่าจะสามารถช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้รับสินเชื่อต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 67,400 ราย ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินที่เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 84,000 ล้านบาท สิทธิประโยชน์คือ 1. ระยะเวลาการค้ำประกันสินเชื่อสูงสุดไม่เกิน 8 ปี 2. ได้รับยกเว้นค่าดำเนินการค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการ SMEs 3. ค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 2 ปีแรก เพียงร้อยละ 1 ต่อปี โดยรัฐบาลชดเชยค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการ SMEs ให้ ร้อยละ 0.75 (รวม 2 ปีร้อยละ 1.5 จากค่าธรรมเนียมค้ำประกัน ปกติร้อยละ 1.75) 4. สิ้นสุดรับคำขอวันที่ 31 ธันวาคม 2566
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังได้สนับสนุนค่าธรรมเนียมค้ำประกัน โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะพิเศษ Soft Loan พลัส (โครงการเดิมที่ออกในปี 2563) แทนผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับสินเชื่อภายใต้ พ.ร.ก.Soft Loan ร้อยละ 0.75 ต่อปี จากเดิมที่ต้องเริ่มจ่ายค่าธรรมเนียมในต้นปีที่ 3 ร้อยละ 1.75 ต่อปีเท่ากับว่า ผู้ประกอบการ SMEs รับภาระการจ่ายค่าธรรมเนียมเหลือเพียงร้อยละ 1 ต่อปี เท่านั้น โดยมาตรการภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะพิเศษ Soft Loan Extra วงเงิน 90,000 ล้านบาท และโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะพิเศษ Soft Loan พลัส จะช่วยให้ SMEs มีเงินหมุนเวียนเพื่อการดำเนินธุรกิจต่อไป ลดความกังวลธนาคารพาณิชย์เรื่องการผิดนัดชำระหนี้ ส่งเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม ผู้ประกอบการและประชาชน สามารถขอคำปรึกษาทางการเงินได้ที่ บสย.โทร 028909999
ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.prd.go.th หรือโทร. 02 618 2323
หน่วยงานที่ตรวจสอบ กรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี