ตามที่มีการเผยแพร่ข่าวสารเรื่องหนี้ประเทศไทย ทะลุเพดาน 60% ของจีดีพี แตะ 10 ล้านล้านบาท ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลจริง
กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ขอชี้แจงว่า รัฐบาลมีบทบาทที่สำคัญในการดำเนินนโยบายการคลังผ่านการใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งมีการกู้เงินมาดำเนินการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านโครงการลงทุนด้านต่าง ๆ ตลอดจนลดผลกระทบที่เกิดจากวิกฤติหลายรูปแบบ การกู้เงินที่สำคัญของรัฐบาลที่ผ่านมา คือ การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ เพื่อสนับสนุนการดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัว และยกระดับการพัฒนาของประเทศและคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2557 – 2564) รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อวางรากฐานการพัฒนาและเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อกระจายความเจริญ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ขยายโอกาสและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งนับว่าเป็นช่วงเวลาที่รัฐมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมากที่สุดถึง 178 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 2.6 ล้านล้านบาท ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ
สำหรับการกู้เงินภายใต้ พ.ร.ก. COVID 19 พ.ศ. 2563 และ พ.ศ. 2564 การระบาดของโควิด 19 ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 ทำให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของทั้งโลกหยุดชะงัก เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยเกิดการหดตัวอย่างรุนแรงและรวดเร็ว กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดเศรษฐกิจไทยปี 2563 ว่าจะหดตัวถึงร้อยละ 8 รัฐบาลเป็นเพียงภาคส่วนเดียวที่ทำหน้าที่แก้ไขปัญหาเพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนไปได้ในยามวิกฤติ และต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน จึงได้ตราพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินโควิด 19 พ.ศ. 2563 และ พ.ร.ก. กู้เงินโควิด 19 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงินรวม 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อใช้ในการเยียวยา แก้ไขปัญหาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด 19 โดยการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ภายใต้ พ.ร.ก. ทั้งสองฉบับดังกล่าว ช่วยให้เศรษฐกิจไทย ณ สิ้นปี 2563 หดตัวลดลงน้อยกว่าที่ IMF คาดการณ์ไว้ถึงร้อยละ 2 อีกทั้งช่วยให้เศรษฐกิจไทยปี 2564 ขยายตัวได้ถึงร้อยละ 1.6 จึงเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่แสดงให้เห็นว่า การกู้เงินของรัฐบาลมีส่วนช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและยังช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้น และเมื่อสถานการณ์การระบาดคลี่คลาย ประชาชนและทุกภาคส่วนสามารถใช้ชีวิตภายใต้ความปกติใหม่ได้ก็จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเติบโตขึ้นเป็นลำดับดังเช่นที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ระดับหนี้สาธารณะในปัจจุบันยังไม่ก่อให้เกิดปัญหาการคลังแต่อย่างใด และยังอยู่ภายใต้กรอบในการบริหารหนี้สาธารณะ ตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐที่ร้อยละ 70 โดยรัฐบาลยังคงมีความสามารถในการชำระหนี้ (Debt affordability) ซึ่งกระทรวงการคลังได้ติดตามสัดส่วนภาระดอกเบี้ยต่อประมาณการรายได้ประจำปีอย่างใกล้ชิด โดยประมาณการสัดส่วนภาระดอกเบี้ยของรัฐบาลต่อรายได้ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2565 คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 8 และในอีก 5 ปีข้างหน้ายังคงต่ำกว่าระดับเกณฑ์มาตรฐานสากลที่กำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 10 รัฐบาลให้ความสำคัญสูงสุดต่อการรักษาวินัยทางการคลัง ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยมีระดับความน่าเชื่อถือของประเทศอยู่ในเกณฑ์ที่ดีและน่าลงทุน (Investment Grade) ส่งผลให้นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติเชื่อมั่นในความสามารถในการบริหารงานของรัฐบาล ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองด้านความมีเสถียรภาพและความโปร่งใสของฐานะการเงินการคลังของประเทศ
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามข่าวสารจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง ได้ที่เว็บไซต์ http://www.pdmo.go.th หรือโทร 02 265 8050