เมืองไทย 360 องศา
สารพัดปัญหาที่รุมเร้าเข้าใส่พรรคเก่าแก่อย่างพรรคประชาธิปัตย์ ในเวลานี้ อธิบายความรู้สึกได้ยากจริงๆ เหมือนกับว่าทุกอย่างกำลังพุ่งตรงเข้ามาเป็นจุดเดียวในเวลาไล่เลี่ยกัน เพราะจะว่าไปแล้ว ปัญหาหลักๆ ที่เริ่มส่งผลสะเทือนต่อพรรค ก็น่าจะเริ่มมาจากผลการเลือกตั้งใหญ่คราวที่แล้ว หลังจากพรรคต้องพ่ายแพ้การเลือกตั้ง โดยเฉพาะการสูญเสียที่นั่ง ส.ส.ในหลายจังหวัดทางภาคใต้ ซึ่งถือว่า เป็นพื้นที่ “เมืองหลวงทางการเมือง” มาอย่างยาวนาน ทั้งการสูญเสียที่นั่งให้กับพรรคเกิดใหม่ในเวลานั้น อย่างพรรคพลังประชารัฐ เช่น ที่ จ.นครศรีธรรมราช สงขลา เป็นต้น รวมไปถึงต้องพ่ายแพ้ให้กับพรรคภูมิใจไทย ที่ จ.พัทลุง ซึ่งสำหรับพรรคหลังนี้ยังมีแนวโน้มอาจจะยึดพื้นที่เอาไว้ได้อีกพักใหญ่
ไม่ต้องพูดถึงสำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องสูญพันธุ์เป็นครั้งแรก นั่นคือ ไม่มี ส.ส.ของพรรคแม้แต่คนเดียว พ่ายแพ้เรียบวุธ ในตอนนั้นหลายคนมองว่า เป็นเพราะยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีในทางการเมือง และการหาเสียงที่ผิดพลาด จากการที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคในขณะนั้น ประกาศในแทบนาทีสุดท้ายว่า “ไม่เอาประยุทธ์” ทำให้คนไม่น้อยเทประชาธิปัตย์ อีกทั้งที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์ ถือว่าได้ผ่านจุดพีกไปนานแล้ว หลังจากที่เคยเห็นฝีมือในการบริหารบ้านเมืองในช่วงหนึ่ง และต่อเนื่องกันมา จนมีเสียงค่อนแคะว่าพรรคนี้ “ดีแต่พูด” อะไรประมาณนั้น
อย่างไรก็ดี ผลจากการพ่ายแพ้การเลือกตั้งในครั้งนั้น ได้ส่งผลให้เกิดความแตกแยกครั้งใหญ่ และยืดเยื้อ คุกรุ่นมาจนถึงทุกวันนี้ และยังมีแนวโน้มจะดำรงอยู่จนไม่รู้ว่าจะเบาบางลงไปเมื่อใด เพราะผลจากการเลือกตั้งคราวนั้น อย่างที่รับรู้กันดีว่า นอกจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องลาออกทั้งตำแหน่งหัวหน้าพรรค และ ส.ส. จนต้องมีการเลือกหัวหน้าพรรค และคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ขึ้นมา ซึ่งระหว่างนี้ได้เกิดความแตกแยก ขัดแย้งขึ้นอย่างชัดเจน แบ่งเป็นหลายกลุ่มที่แยกกันสนับสนุนฝ่ายของตัวเอง
จนเมื่อผลการเลือกตั้งออกมา ปรากฏว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ได้เป็นหัวหน้าพรรค และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็นเลขาธิการพรรค พร้อมคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ ก็ทำให้มีการแยกย้ายกันไป ผู้สมัครชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรค หลังการช่วงชิงต่างก็ลาออกจากพรรค เช่น นายกรณ์ จาติกวณิช กับพวก มาก่อตั้งพรรคกล้า นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ลาออกมาตั้งพรรคไทยภักดี และ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ลาออกมาร่วมงานกับรัฐบาล เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมไปถึง นายอภิชัย เตชะอุบล ที่ลาออกมาร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ เป็นต้น
นี่ยังไม่รวมบรรดาอดีตแกนนำของพรรคประชาธิปัตย์ ที่เคยเป็นสมาชิกพรรคมาอย่างยาวนาน มีตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารพรรค เป็นอดีต ส.ส. เป็น ส.ส.อีกหลายคน เช่น นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ นายสุรเชษฐ์ มาศดิตถ์ นายวิฑูรย์ นามบุตร นายถาวร เสนเนียม เป็นต้น แม้ว่าจะมีหลายคนลาออกไปแล้ว แต่ถือว่าความขัดแย้งภายในก็ยังดำรงอยู่ต่อไป จะเห็นว่า หลายครั้งยังมีความเคลื่อนไหวและการแสดงความเห็นจากหลายคนที่ยังสวนทางกับพรรค รวมไปถึงการกล่าวหาโจมตีผู้บริหารพรรคในปัจจุบัน รวมไปถึงการโหวตในสภาที่เคยสวนมติพรรคก็มี
ความขัดแย้งที่ยังมีอยู่แบบนี้มาอย่างต่อเนื่อง ที่เป็นลักษณะ “ฟัดกันนัว” เชื่อมโยงกันหลายกลุ่ม นั่นคือ ระหว่างกลุ่มเดิมกับกลุ่มผู้บริหารพรรคชุดใหม่ หรือระหว่างกลุ่มเดิมกับกลุ่มเดิม มีความขัดแย้งคุกรุ่นกันทุกภาค ล่าสุด ยังมีความเคลื่อนไหวที่ส่อเค้าบานปลายในพื้นที่ภาคใต้ เช่น จ.สงขลา หลังจาก นายเดชอิศม์ ขาวทอง เข้ามาเป็นรองหัวหน้าพรรค คุมภาคใต้ แทนนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ หลังจากสนับสนุนภรรยา ตัวเองชนะเลือกตั้งซ่อมที่ จ.สงขลา ที่ผ่านมา รวมไปถึงความเคลื่อนไหวแย่งชิงการเป็นผู้สมัครของพรรคในหลายจังหวัด ที่มีความแตกหักกันหลายพื้นที่ ไม่เว้นแม้แต่ที่ จ.พังงา ของหัวหน้าพรรค นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
แน่นอนว่า สำหรับการวางตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้น หากมองในภาพรวมๆ แล้ว ก็ถือว่ามีความขัดแย้งไม่พอใจกันแทบทุกพรรคอยู่แล้ว เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ ยิ่งหากมีการแข่งขันสูง มันก็ยิ่งมีการแย่งชิง แต่สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ มันมีปัจจัยแทรกซ้อนอื่นๆ อีก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความขัดแย้งที่ไม่ยอมรับกลุ่มผู้บริหารพรรคชุดใหม่ ที่ยืดเยื้อมานาน และที่สำคัญ เมื่อลักษณะของพรรคที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ที่ถือว่าเคยเป็นจุดขายแบบประชาธิปไตย ไม่มีนายทุนพรรค แต่เวลานี้กลับกลายเป็นว่าทุกคนก็แสดงออกตามความคิด ความเชื่อของตัวเอง
ล่าสุด ก็เหมือนกับ “ฟ้าผ่า” ซ้ำเติมปัญหาภายในพรรคประชาธิปัตย์ให้ “สาหัส” ลงไปอีก หลังจาก นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ ถูกดำเนินคดีในคดีข่มขืนและอนาจาร มันก็ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะเขาเป็นทั้งรองหัวหน้าพรรค หัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย เป็นผู้อำนวยการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครของพรรค ได้รับการแต่งตั้ง และผลักดันมาจาก หัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน คือ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ อีกด้วย
เรื่องอื้อฉาวที่สร้างผลกระทบกับพรรคอย่างใหญ่หลวง และสร้างความอับอายไปทั่ว ซ้ำเติมเข้าไปอีก แม้ว่าพยายามตัดไฟไม่ให้ลุกลามออกไปไกล ด้วยการแถลงแบบ “ตัดหางปล่อยวัด” ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องใดๆ ไม่สนับสนุนการคุกคามทางเพศ รวมทั้งสนับสนุนและเร่งรัดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเต็มที่ก็ตาม แต่ภาพลักษณ์ที่เกิดขึ้นแม้ว่าไม่ได้ยอมรับกันตรงๆ แต่เชื่อว่า หลายคนก็คงรับรู้ว่า “มันหนักมาก” โดยเฉพาะหน้านั่นคือ กระทบต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ที่คงต้องใช้คำแบบซอฟต์ที่สุดแค่ “ไม่น้อย” แล้วกัน
และจากกรณีล่าสุดดังกล่าว ยังทำให้ปัญหาความขัดแย้งแตกแยกเดิมส่อเค้าปะทุรุนแรงได้อีก สังเกตได้จาก “ไลน์หลุด” ออกมา ที่มีระดับกรรมการบริหารพรรคบางคนกดดันให้ นายจุรินทร์ ในฐานะหัวหน้าพรรค ต้องรับผิดชอบ ในฐานะเป็นผู้ผลักดันแต่งตั้ง นายปริญญ์ เป็นรองหัวหน้าพรรค และเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ รวมไปถึงผู้อำนวยการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ทั้งที่มีคนคัดค้านโดยอ้างภูมิหลัง
เอาเป็นว่า กรณีที่เกิดขึ้นในพรรคประชาธิปัตย์หลายเรื่องที่ผ่านมา มาจนถึงกรณีล่าสุด มันย่อมส่งผลกระทบกับพรรคการเมืองเก่าแก่พรรคนี้ ที่มีความขัดแย้งแตกแยกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ยอมจบ ส่วนสาเหตุของความแตกแยกนั้นจะมาจากอะไรนั้นเชื่อว่ามีหลายสาเหตุ และคนในพรรคก็น่าจะรู้ดี คงเถียงกันไม่จบ รวมทั้งยังไม่รู้ด้วยว่าในอนาคตมันจะจบแบบไหนอีกด้วย!!