จับตา “สทนช.- มท.” จัดเลือกตั้ง “ลับ” ผู้ว่าราชการฯ 76 จังหวัด เลือกกันเอง นั่ง “ประธานกรรมการบริหารทรัพยากร 22 ลุ่มน้ำประเทศ” แถมให้เลือกตัวเองได้ พร้อมแจงอำนาจหน้าที่บริหารลุ่มน้ำ ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ พ.ศ. 2561 พบปีงบ 2566 พื้นที่ 22 ลุ่มน้ำ 353 ลุ่มน้ำสาขา ได้ไฟเขียวตั้งวงเงินบริหารจัดการ 59,036 โครงการ รวม 330,777 ล้านบาท
วันนี้ (11 เม.ย.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ในช่วงเช้าวันที่ 12 เม.ย.นี้ สำนักงานทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ (สทนช.) ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย จะจัดประชุมชี้แจงบทบาทของกรรมการลุ่มนํ้าในการบริหารจัดการทรัพยากรนํ้า 22 ลุ่มน้ำ รวมถึงกำหนดการเลือกตั้ง ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ระบบ Cisco Webex Meetings
ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ พ.ศ. 2561 มาตรา 27 ที่กำหนดให้มีคณะกรรมการลุ่มนํ้าประจำลุ่มนํ้า เมื่อได้มีการจัดทำพระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มนํ้า พ.ศ. 2564 แล้ว
ที่ประชุมจะชี้แจงบทบาท หน้าที่ และอำนาจ รวมถึงให้มีการดำเนินการเลือกตั้งประธานกรรมการลุ่มน้ำ ตามกฎหมายที่กำหนด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด ในเขต 22 ลุ่มนํ้า เลือกตั้งกันเอง “ทางลับ”
และให้คณะกรรมการลุ่มน้ำทุกชุด เลือกกรรมการลุ่มน้ำอีกสองคนเป็นรองประธานกรรมการ โดยให้กระทำ ทุก 3 ปี
“กำหนดให้ ผู้ว่าฯ 76 จังหวัด ในเขต 22 ลุ่มน้ำ ส่งบัตรเลือกประธานกรรมการลุ่มนํ้า ที่ลงคะแนนแล้วทุกใบ “เป็นเอกสารลับ” กลับมายัง สทนช. ภายในวันที่ 19 เม.ย.นี้”
สำหรับหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกประธานกรรมการลุ่มนํ้า ในแต่ละเขตลุ่มนํ้า ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด รับบัตรเลือกประธาน ตามจำนวนพื้นที่ลุ่มนํ้าของแต่ละจังหวัด (1 ใบ / 1 ลุ่มนํ้า) และให้ลงคะแนนให้ครบทุกใบ ด้วยวิธีกากบาทช่องที่ต้องการเพียงช่องเดียว
หากไม่ประสงค์ลงคะแนน ให้กากบาทในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน พร้อมทั้งลงลายมือชื่อในบัตรเลือกประธาน “โดยสามารถลงคะแนนให้ตนเองได้” ซึ่ง สทนช.จะดำเนินการนับคะแนน และประกาศผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดในแต่ละเขตลุ่มนํ้า เป็นประธานกรรมการลุ่มนํ้านั้นต่อไป
ที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทย ได้แต่งตั้งคณะกรรมการลุ่มนํ้าตามกฎหมายฉบับนี้ ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตลุ่มนํ้า ผู้แทนจากหน่วยราชการ 13 แห่ง โดยตำแหน่ง, ผู้แทน (ผู้บริหาร) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จังหวัดละหนึ่งคน
รวมถึง ผู้แทนกระทรวงกลาโหม (กห.) กรณีที่ลุ่มน้ำมีพื้นที่ติดต่อกับชายแดน ผู้แทนกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กรณีที่ลุ่มน้ำมีพื้นที่ติดต่อกับชายฝั่งทะเล
ผู้แทนศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กรณีที่ลุ่มน้ำอยู่ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และ ยะลา และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร นายกเมืองพัทยา โดยตำแหน่ง
ยังมีผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำ จากภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม และภาคพาณิชยกรรม รวมทั้ง กรรมการลุ่มนํ้าผู้ทรงคุณวุฒิ ครบทั้ง 22 ลุ่มน้ำแล้ว
สำหรับการเลือกตั้ง ผู้ว่าราชการจังหวัด 22 ลุ่มน้ำ ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มนํ้า พ.ศ. 2564 ประกอบด้วย ลุ่มน้ำสาละวิน มีผู้ว่าฯ 3 คน ลุ่มน้ำโขงเหนือ มีผู้ว่าฯ 3 คน ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ มีผู้ว่าฯ 15 คน
ลุ่มน้ำชี มีผู้ว่าฯ 15 คน ลุ่มน้ำมูล มีผู้ว่าฯ 15 คน ลุ่มน้ำปิง มีผู้ว่าฯ 6 คน ลุ่มน้ำวัง มีผู้ว่าฯ 4 คน ลุ่มน้ำยม มีผู้ว่าฯ 11 คน ลุ่มน้ำน่าน มีผู้ว่าฯ 10 คน
ลุ่มนํ้าเจ้าพระยา มีผู้ว่าฯ 19 คน รวม ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ลุ่มนํ้าสะแกกรัง มีผู้ว่าฯ 3 คน ลุ่มน้ำป่าสัก มีผู้ว่าฯ 7 คน ลุ่มน้ำท่าจีน มีผู้ว่าฯ 13 คน รวม ผู้ว่าฯกรุงเทพฯ ลุ่มน้ำแม่กลอง มีผู้ว่าฯ 8 คน ลุ่มน้ำบางปะกง มีผู้ว่าฯ 11 คน รวม ผู้ว่าฯกรุงเทพฯ
ลุ่มน้ำโตนเลสาบ มีผู้ว่าฯ 3 คน ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก มีผู้ว่าฯ 5 คน รวม นายกเมืองพัทยา ลุ่มน้ำเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ มีผู้ว่าฯ 5 คน
ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน มีผู้ว่าฯ 9 คน ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา มีผู้ว่าฯ 6 คน ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง มีผู้ว่าฯ 4 คน และลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีผู้ว่าฯ 11 คน
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 พบว่า ในพื้นที่ 22 ลุ่มน้ำ 353 ลุ่มน้ำสาขา สนช.ได้ตั้งงบประมาณบริหารจัดการทรัพยากรนํ้า ไว้ 59,036 โครงการ วงเงินรวม 330,777 ล้านบาท