เผยโควิด-19 ปี 64 ทำวัยเก๋าใช้อินเทอร์เน็ตพุ่ง 6 ชม./วัน หวั่นรับ-ส่งข่าวลวง สสส. ผนึก 4 องค์กร MOU “สร้างสังคมสูงวัย รู้ทันสื่อ” ผุด ‘ศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ’ มุ่งพัฒนานวัตกรรมลดเสี่ยงเสพสื่อดิจิทัล รุกปั้น ‘อาสาสูงวัยเฝ้าระวังสื่อ’ ส่งต่อความรู้เท่าทันสื่อสู่ชุมชน เล็ง นำร่อง 12 จังหวัดกระจายทุกภูมิภาค
วันนี้ (5 เม.ย. 65)สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล บริษัท ทำมาปัน จำกัด และภาคีเครือข่ายสูงวัยรู้ทันสื่อ 12 จังหวัด ร่วมจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “สร้างสังคมสูงวัย รู้ทันสื่อ” เพื่อขับเคลื่อนการทำงานสร้างสังคมสูงวัยรู้ทันสื่อให้ครอบคลุมทั่วประเทศ นำไปสู่การสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะยั่งยืน
นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี กล่าวว่า ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์ ผู้สูงวัยต้อง “รู้เท่าทัน” สื่อ เนื่องจากสื่อมีพัฒนาการที่มีความสลับซับซ้อน (Complexity) จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะตามทันสื่อ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ จึงจำเป็นต้องมี “ตัวช่วย” ให้ผู้สูงวัยรู้ทันสื่อ สมาคมสภาผู้สูงอายุฯ จึงร่วมกับภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนงานสังคมสูงวัยรู้ทันสื่อ มุ่งพัฒนาระบบ องค์ความรู้ และนวัตกรรมเครื่องมือ เพื่อสร้างเป็นหลักการพื้นฐานของการรู้ทันสื่อในกลุ่มผู้สูงอายุ
นางญาณี รัชต์บริรักษ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า สสส. มุ่งเน้นเสริมพลังประชาชนสู่การเป็นพลเมืองดิจิทัลที่ตื่นรู้ มีทักษะเท่าทันสื่อ เท่าทันตนเอง มีความรับผิดชอบต่อสังคม สามารถใช้สื่อเป็นเครื่องมือดูแลตนเองและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมให้มีสุขภาวะที่ดี โดยมียุทธศาสตร์การทำงานมุ่งพัฒนา “คน” และ “ปัจจัยแวดล้อม” สร้างระบบนิเวศสื่อสุขภาวะที่มีความสมดุล จัดการความรู้และสร้างเครื่องมือที่สามารถนำไปยกระดับการทำงานและการขับเคลื่อนกลไกเชิงนโยบายสู่การปฏิบัติ
“การ MOU “สร้างสังคมสูงวัย รู้ทันสื่อ” ครั้งนี้ มีแนวทางส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงวัย 4 ข้อ ได้แก่ 1.พัฒนาทักษะเท่าทันสื่อ มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ ขยายผลเกิดเป็นเครือข่ายอาสาสูงวัยเฝ้าระวังสื่อในทุกพื้นที่ 2. พัฒนากลไกการทำงานในระดับพื้นที่ปฏิบัติการ สร้างกระบวนการเรียนรู้ กลไกเฝ้าระวังสื่อ 3. สนับสนุนการจัดการความรู้ งานวิชาการ เครื่องมือ และหลักสูตร ที่สอดคล้องกับบริบทการบริโภคสื่อของผู้สูงอายุในแต่ละพื้นที่ รวมถึงจัดตั้งศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ ร่วมกับสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ถือเป็น Knowledge Hub เพื่อยกระดับการขับเคลื่อนงานด้านการรู้เท่าทันสื่อผู้สูงอายุในสังคมไทยยั่งยืน และ 4. พัฒนาการสื่อสาร สร้างความเข้าใจด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง และสื่อสารสาธารณะสร้างการรับรู้ประเด็นผู้สูงอายุกับการรู้เท่าทันสื่อ มุ่งเป้าสู่การขับเคลื่อนกลไกเชิงนโยบาย” นางญาณี กล่าว
นางสุจิตรา พิทยานรเศรษฐ์ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ พม. กล่าวว่า กรมกิจการผู้สูงอายุ มุ่งพัฒนาคนและสังคมให้มีคุณภาพเต็มตามศักยภาพและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ จากข้อมูลพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ต พ.ศ. 2564 โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่าผู้สูงอายุไทย อายุระหว่าง 57-73 ปี ใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 6 ชั่วโมง 21 นาทีต่อวัน การเปิดรับข้อมูลอาจมีความเสี่ยงที่จะได้รับข่าวลวง ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจของผู้สูงอายุ ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ผู้สูงอายุต้องงดเว้นการรวมกลุ่มทำกิจกรรม การใช้สื่อออนไลน์ต่างๆ จึงมีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันมากขึ้น การเสริมสร้างสมรรถนะด้านการรู้เท่าทันสื่อให้กับกลุ่มผู้สูงอายุในสังคมไทยจึงเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ กรมกิจการผู้สูงอายุ จึงร่วมกับภาคีเครือข่าย พัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ ให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ของผู้สูงอายุในพื้นที่ระดับจังหวัด
นายวันชัย บุญประชา ที่ปรึกษากลุ่มคนตัวD บริษัท ทำมาปัน จำกัด กล่าวว่า กลุ่มคนตัวD ร่วมกับ สสส. และภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนงานสร้างพลเมืองเท่าทันสื่อ ตั้งแต่ปี 2562 มีบทบาทในการออกแบบกระบวนการการจัดการความรู้ ซึ่งในปี 2565 ได้พัฒนาเครื่องมือ “คาถาสูงวัย รู้ทันสื่อ” 3 ข้อ 1. จำเป็นหรือไม่? 2. หาข้อมูลเพิ่มเติม และ 3. เดือดร้อนตัวเองและคนรอบข้างหรือไม่? เพื่อให้ผู้สูงอายุเป็นผู้ที่สามารถวิเคราะห์สื่อ รับสื่อ และใช้สื่ออย่างปลอดภัย ตอบโจทย์บริบทการใช้สื่อในแต่ละพื้นที่ ทั้งสื่อออนไลน์ สื่อโทรทัศน์ และสื่อบุคคล ถือเป็นการป้องกันการแพร่กระจายของข่าวลวงและเตรียมความพร้อมสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์