xs
xsm
sm
md
lg

สสส. เปิดตัว “สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ” ฮับการเรียนรู้สร้างเสริมสุขภาพครบวงจร ปั้น “นักสร้างเสริมสุขภาพมืออาชีพ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ที่ชั้น 34 อาคาร SM Tower เขตพญาไท กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานเปิดตัว สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ OPEN HOUSE: ThaiHealth Academy เป็นทางการครั้งแรก โดยมีพิธีทำบุญเลี้ยงพระ พร้อมมีกิจกรรม Workshop หลักสูตร Communication across generations - การสื่อสารเพื่อความเข้าใจ รองรับ Gen ใหม่ เข้าใจGen เก่า และ Thriving & Enchanted Organization – ถอดรหัสองค์กรแห่งการเรียนรู้
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ หรือ ThaiHealth Academy” ถือเป็นหน่วยงานลักษณะพิเศษใน สสส. ที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพว่าด้วยการจัดตั้งและการบริหารสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2563 ประกาศเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2563 ด้วยเหตุผลสองประการสำคัญ คือ 1. ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของบุคคลด้านการสร้างเสริมสุขภาพให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตามเจตนารมณ์ที่มุ่งมั่นของ สสส. ในการสนับสนุนการยกระดับขีดความสามารถ (Competency Development) ของภาคีเครือข่าย สสส. ในฐานะหุ้นส่วนสำคัญ (Partner) ที่ร่วมขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาวะในประเทศ 2. มุ่งขยายฐานผู้รับประโยชน์ไปยังกลุ่มบุคคล หน่วยงาน และองค์กรภาคสังคมต่างๆ ตลอดจนภาคเอกชน ในการสร้าง “นักสร้างเสริมสุขภาพมืออาชีพ” ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการก่อให้เกิดสังคมสุขภาวะทั้งในระดับประเทศและระดับสากล


“ในปี 2565 มีการพัฒนาหลักสูตรตามสมรรถนะหลักที่จำเป็นในการขับเลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพ (ThaiHealth Core Competency) การจัดอบรมพัฒนาศักยภาพ จัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต การประชุมวิชาการ ตลอดจนให้บริการทางวิชาการ ให้คำปรึกษาแนะนำแก่ภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ และการสร้างพันธมิตรความร่วมมือเพื่อการขยายหลักสูตรหรือขยายฐานกลุ่มเป้าหมายผู้รับประโยชน์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยเกิดหลักสูตร งานพัฒนาศักยภาพภาคี 21 หลักสูตร งานพัฒนาหลักสูตร หน่วยงานภายนอก 30 หลักสูตร มีผู้ได้รับประโยชน์เข้าร่วมอบรมจำนวนกว่า 2,600 ราย สสส. มุ่งหวัง ที่จะเห็นสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ บรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งใจไว้ คือ พัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายอย่างเป็นระบบ สามารถพัฒนาขีดความสามารถ และยกระดับภาคีเครือข่ายให้เป็น “นักสร้างเสริมสุขภาวะมืออาชีพ” และได้รับการยอมรับทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ” ดร.สุปรีดา กล่าว

​รศ. ดร.นพ. นันทวัช สิทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า สถาบันฯ มีทิศทางและยุทธศาสตร์การดำเนินงานที่ชัดเจน เป็นองค์กรรูปแบบกึ่งธุรกิจที่ไม่แสวงหาผลกำไร โดยมีพันธกิจในการพัฒนาศักยภาพและให้คำปรึกษาภาคีเครือข่าย เพื่อยกระดับขีดความสามารถนักสร้างเสริมสุขภาพ บทบาทของสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ จึงเป็นการร่วมสนับสนุนพัฒนาศักยภาพของบุคคลด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต เสริมสร้างความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมให้บุคคลสามารถดูแลสุขภาพตนเองและครอบครัว รวมถึงสนับสนุนผลักดันให้สังคม สิ่งแวดล้อม อยู่ในสภาวะที่เอื้อต่อการทำให้มีสุขภาพที่ดี ลดความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดผลทางสุขภาพ และเพิ่มพฤติกรรมสุขภาพพึงประสงค์

“หลักการพื้นฐานที่ สสส. วางไว้เป็นต้นแบบในการพัฒนาองค์ความรู้ คือ 5+2 Core Competency ประกอบไปด้วย 5 สมรรถนะหลัก คือ การสร้างเสริมสุขภาวะ, การบริหารโครงการสุขภาวะ, การสื่อสารเพื่อสังคมสุขภาวะ, การสร้างและบริหารเครือข่าย, ผู้นำและทักษะในการจัดการในงานสุขภาวะ และอีก 2 สมรรถนะ คือ การจัดการความรู้ และการจัดการความยั่งยืน” รศ. ดร.นพ. นันทวัช กล่าว


รศ. ดร.นพ. นันทวัช กล่าวต่อว่า สำหรับหลักสูตรอบรมพัฒนาศักยภาพที่น่าสนใจครอบคลุมทั้งภาคีเครือข่ายสุขภาพ องค์กรภาครัฐและเอกชน อาทิ หลักสูตรนักประเมินภายในมืออาชีพเป็นการประเมินภายใน (Internal Evaluation) เครื่องมือทางสังคมอย่างหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ทำงานขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาวะสามารถยกระดับคุณภาพการทำงานได้ทันต่อสถานการณ์และปัญหา หลักสูตรกลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงสู่องค์กรสุขภาวะ (Transformation Strategies for Well-being Organization) สำหรับหน่วยงานภาครัฐและองค์กรภาคเอกชน หลักสูตรการผลักดันนโยบายสาธารณะ (Policy Brief / Policy Advocacy) สำหรับหน่วยงานภาครัฐ และหลักสูตรถอดรหัสองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Thriving & Enchanted Organization) สำหรับองค์กรภาคเอกชน เพื่อพัฒนาการเรียนรู้สภาวะของการเป็นผู้นำองค์กร (Leadership) สร้างการเรียนรู้ร่วมกันของคนในองค์กร (Team Learning) ถ่ายทอดแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์และทักษะร่วมกัน และสร้างทัศนคติต่อบุคลากรให้มีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนเองตลอดเวลา สร้างแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) และสร้างฐานความรู้ที่เข้มแข็ง (Core Competence) ให้องค์กรเท่าทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันทั้งในปัจจุบันและอนาคต นอกจากนี้ยังมีการออกแบบหลักสูตรเฉพาะเพื่อให้สอดคล้องเหมาะสมกับบริบทขององค์กรนั้นๆ อีกด้วย


















กำลังโหลดความคิดเห็น