เมืองไทย 360 องศา
ถือว่าเป็นช่วงเวลาเดียวกัน และทำให้เชื่อมโยงกันได้แบบพอดีกับการที่ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ในวันเดียวกับที่ พรรคพลังประชารัฐ กำลังประชุมใหญ่และเลือกคณะกรรมการบริหารชุดใหม่เพิ่มเติม ที่ จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 3 มีนาคม
โดย นายพีระพันธุ์ ยอมรับว่า ได้ทำหนังสือเอกสารการลาออกในการเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ และที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐไปแล้ว ซึ่งอยู่ในขั้นตอนให้เจ้าหน้าที่จะไปยื่นให้กับทางพรรคพลังประชารัฐ รวมถึงจะไปยื่นกับทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้วย โดยการตัดสินใจลาออกครั้งนี้ ยังไม่ได้พูดคุยกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พปชร. แต่เป็นไปตามที่ตนเคยกล่าวไว้ตั้งแต่การเข้ามาสังกัดพรรคพลังประชารัฐ ว่า จะเข้ามาเพื่อทำโครงสร้างพรรคให้เกิดความเข้มแข็ง และขณะนี้ได้จัดทำเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงหมดหน้าที่ และได้ตัดสินใจลาออก
นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า หลังจากนี้ จะทำหน้าที่ เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเพียงอย่างเดียวไปก่อน ยังไม่ตัดสินใจไปสมัคร หรือเข้าสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ ตามที่สื่อมวลชนวิเคราะห์ เหมือนเช่นตอนที่ตัดสินใจเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ก็ถูกมองว่า เป็นการสั่งการหรือมอบหมายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เพื่อเข้ามามีบทบาทเป็นสายตรงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งไม่เป็นความจริง
ขณะที่ก่อนหน้านั้น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ยังไม่ได้รับหนังสือลาออกจากนายพีระพันธุ์ จึงยังไม่ทราบข่าวดังกล่าว และกล่าวอีกครั้งภายหลังเปิดประชุมใหญ่สามัญพรรคพลังประชารัฐ ครั้งที่ 1/2565 ถึงความชัดเจนการยื่นใบลาออกของ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค พปชร. ว่า ไม่มี พร้อมทำมือปฏิเสธ
เมื่อถามถึงการแต่งตั้ง อดีตนายทหาร 2 คน เข้ามาเป็นกรรมการบริหารพรรค พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เขาเป็นทหารที่ไหน เพราะออกมาแล้ว ต้องเป็นอดีตทหาร
“ก็มาช่วยผม มาช่วยธุรการ” เมื่อถามว่า หนึ่งในกรรมการบริหารคนใหม่ เคยเป็นอดีตแม่ทัพภาคที่ 2 จะมาช่วยกลุ่มพื้นที่ภาคอีสานหรือไม่ พล.อ.ประวิตร ปฏิเสธตอบคำถามดังกล่าว
สำหรับอดีตนายทหารทั้งสองนายที่ว่านั้น คือ พล.อ.กฤษณ์โยธิน ศศิพัฒนวงษ์ อนุกรรมการฝ่ายหารายได้ มูลนิธิป่ารอยต่อฯ และเป็นอดีตฝ่ายเสนาธิการ พล.อ.ประวิตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรมว.กลาโหม และ พล.อ.ธัญญา เกียรติสาร อดีตแม่ทัพภาคที่ 2 ซึ่งเคยถูกตั้งข้อสังเกตว่า มีบทบาทเบื้องหลังในทางการเมืองพื้นที่ภาคอีสาน ช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี นายสุรสิทธิ์ นิธิวุฒิวรรักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายทะเบียนพรรคพลังประชารัฐ ระบุว่า นายพีระพันธุ์ สามารถแจ้งลาออกกับทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยตรงก็ได้
แน่นอนว่า สาเหตุที่ต้องโฟกัสทั้งสองเรื่อง คือ การลาออกจากสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ของ นายพีระพันธุ์ และการประชุมพรรคพลังประชารัฐ เนื่องจากมีความสัมพันธ์กันในทางการเมือง ทั้งตัวบุคคลและพรรค โดยหากกล่าวถึงนายพีระพันธุ์ ในวงการเมืองก็เข้าใจกันดีอยู่แล้วว่าเป็น “สายตรง” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ก่อนหน้านี้ ถูกผลักดันเข้ามามีบทบาทในพรรคพลังประชารัฐ และเชื่อมโยงกับกลุ่มก๊วนในพรรคที่ “แตะมือ” ร่วมกัน ความหมายที่เป็นนัย ก็คือ การ “คานหรือถ่วงดุล” อำนาจภายในพรรคนี้ เพื่อป้องกันปัญหา “ขาลอย” อย่างที่เข้าใจกัน
เป็นการป้องกันบทเรียนที่เคยถูกท้าทายอำนาจจนเกือบล้มคว่ำมาแล้ว เมื่อครั้งการอภิปรายซักฟอกคราวที่แล้ว ในยุคที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ก่อนหน้านี้
ต่อมาก็มีการเคลื่อนไหวตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ โดย นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หรือ “แรมโบ้” ที่ถือว่าเป็น “มือไม้” และคนสนิทคนหนึ่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในขณะนี้ก็ว่าได้ และที่ผ่านมา นายเสกสกล ก็เคยให้สัมภาษณ์ย้ำถึงแนวทางชัดเจนว่า เพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ และเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ในการเลือกตั้งครั้งหน้าเพียงชื่อเดียวเท่านั้น และที่สำคัญ เป็นการไม่ให้นายกฯ “ถูกบีบไข่” เหมือนทุกวันนี้ ขณะเดียวกัน เห็นว่า พรรคพลังประชารัฐ ต้องมีความชัดเจนและต้องเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เพียงชื่อเดียวเหมือนกัน
พร้อมกันนั้น นายเสกสกล ยังระบุว่า มีระดับ “บิ๊กเนม” หลายคนที่จะมาร่วมกับพรรครวมไทยสร้างชาติ และหนึ่งในนั้น ก็คือ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค คนนี้แหละ โดยตามข่าวระบุว่า อาจจะมาเป็นหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ในอนาคต แม้ว่าเมื่อวันที่ 31 มีนาคม ที่ผ่านมา มีการประชุมพรรคไปแล้ว แต่ก็ยังไม่มีระดับบิ๊กเนม เข้ามาแต่อย่างใด โดยมีรายงานข่าวว่า “ถูกเบรก” เอาไว้ก่อน เพื่อป้องกันปัญหาผิดใจกับระหว่าง “สอง ป.” คือ พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร นั่นเอง หลังจากมีการยืนยันชัดเจนว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังอยู่กับเขา ไม่ไปไหน รวมไปถึงพรรคพลังประชารัฐ สนับสนุนให้เป็นนายกฯต่อไป
เมื่อเห็นความเคลื่อนไหวแบบนี้ของทั้งสองพรรค มองในมุมหนึ่งมันก็สะท้อนให้เห็นแนวโน้มชัดเจนว่า พรรครวมไทยสร้างชาติ ยังเดินหน้าเต็มกำลัง เป็นการขับเคลื่อนเพื่อเป็นฐานให้กับ “บิ๊กตู่” ในทางการเมือง ป้องกันขาลอย หรือ “ถูกบีบไข่” ตามคำนิยมที่เข้าใจกัน เพราะเมื่อฟังจากคำพูดล่าสุดของ นายพีระพันธุ์ ก็ไม่ได้ปฏิเสธในการรับตำแหน่งในพรรคดังกล่าวแต่อย่างใด ซึ่งคาดว่าจะรอเปิดตัวในโอกาสต่อไปพร้อมกับนักการเมืองคนสำคัญรายอื่นๆ ตามข่าว และแน่นอนว่าเมื่อเป็นแบบนี้มันก็เหมือนกับว่ายังไม่วางใจ “พี่ใหญ่” เต็มร้อยว่า จะยืนยันเสนอชื่อเดียว หรือ สองชื่อ โดยพ่วงชื่อพล.อ.ประวิตร เข้าไปด้วยหรือไม่
อย่างไรก็ดี ในภาพรวมแล้วก็ยังถือว่าทั้งสองพรรคยังเป็น “พันธมิตร” กัน เหมือนกับการเดินสองขา หรือ “แตกแบงก์ย่อย” ออกมา เพื่อรองรับการกติกาที่มีการปรับเปลี่ยนในรายละเอียดบางอย่าง โดยเฉพาะ “บัตรแบบสองเบอร์” ที่คณะกรรมาธิการพิจารณากฎหมายลูกได้โหวตเปลี่ยนแปลงมาแล้ว
ดังนั้น การเกิดขึ้นของพรรครวมไทยสร้างชาติ ในวันหน้า ถือว่ายังเป็น “ทางออก” ให้กับ “บิ๊กตู่” และป้องกันบทเรียน “ถูกบีบไข่” นั่นเอง ขณะเดียวกัน เมื่อถึงเวลาเหมาะสม ในฐานะนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจ “ยุบสภา” อยู่ในมือ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะลงมือ ซึ่งคาดกันว่า น่าจะปลายปี หลังการประชุมเอเปก เพื่อเลือกตั้งช่วงต้นปี และที่สำคัญ หากมีการยุบสภา มันก็ทำให้ ส.ส.ย้ายพรรคได้ภายในสามสิบวัน มันก็ย่อมมีการผ่องถ่ายเคลื่อนไหวกันได้สะดวก แบบนี้ก็น่าจะเห็นภาพชัดขึ้นแล้วหรือไม่ !!