xs
xsm
sm
md
lg

สตง.เปิดผลตรวจแผนใช้เงินกู้สู้โควิด-19 ใน 3 ระลอกแรก ของ สธ. 41 โครงการ วงเงิน 6.3 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สตง.เปิดผลตรวจสอบแผนใช้เงินกู้สู้โควิด-19 ใน 3 ระลอกแรก ของ “กระทรวงสาธารณสุข” ใน 41 โครงการ วงเงิน 6.3 หมื่นล้าน ตาม พ.ร.ก.เงินกู้ 4.5 หมื่นล้าน และเงินโอนจากกลุ่ม 2-3 เพิ่มเติม 1.8 หมื่นล้าน แจงเหตุจำเป็น ทำการจัดซื้อบางโครงการล่าช้า พบ “ระลอก 3” หลายโครงการสำคัญ เพิ่งรับอนุมัติงบมากกว่า 3.8 หมื่นล้าน ส่วน “งานก่อสร้าง” 40 โครงการ วงเงิน 1.4 หมื่นล้าน ทยอยเสร็จเมื่อต้นปี 65

วันนี้ (30 มี.ค.) มีรายงานจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สตง.เวียนหนังสือถึงปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รายงานผลการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานแผนงาน หรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

เป็นการตรวจสอบจาก “แผนงาน/โครงการเงินกู้ของกระทรวงสาธารณสุข” วงเงิน 45,000 ล้านบาท ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 และ โอนเงินกู้จากแผนงาน โครงการกลุ่มที่ 2 และ 3 เพิ่มเติมจำนวน 18,897.99 ล้านบาท เมื่อวันที่ 6 และ 27 ก.ค. 2564 )

สตง.ระบุว่า จากการตรวจสอบโครงการที่ได้รับการอนุมัติ ส่วนใหญ่มีความล่าช้า เหตุเพราะหลายโครงการเพิ่งเริ่มได้รับการอนุมัติ ในช่วงการแพร่ระบาดระลอกที่ 2 และระลอกที่ 3

พบว่า ระยะเวลาที่เริ่มอนุมัติโครงการในระลอกที่ 2 นับจากการออกพระราชกำหนดให้กระทรวงการคลังกู้เงินฯ ประมาณ 8 เดือน (เม.ย.- ธ.ค. 2563) และของระลอกที่ 3 ประมาณ 1 ปี (เม.ย.2563 - เม.ย.2564)

โดยตั้งแต่การเกิดปัญหาตั้งแต่ระลอกที่ 1 (ม.ค.- พ.ย.2563) ระลอกที่ 2 (ธ.ค. 2563 - มี.ค. 2564 ) จนถึงระลอกที่ 3 (เม.ย. - ก.ย. 2564) มีโครงการที่ได้รับการอนุมัติจำนวน 41 โครงการ วงเงินกู้ที่อนุมัติรวมทั้งสิ้น 63,897.99 ล้านบาท

พบว่า การอนุมัติโครงการที่สำคัญและจำเป็นต่อการแก้ไขปัญหาอยู่ในช่วงการระบาดระลอกที่ 3 อาทิ การจัดหาวัคซีน อย่างไรก็ตามหลังจากการอนุมัติ หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องใช้ระยะเวลาในกระบวนการจัดชื้อจัดหา ซึ่งทำให้ผลการดำเนินงานต้องล่าช้าออกไป

สามารถสรุปได้ว่า การอนุมัติโครงการในช่วงเริ่มการแพร่ระบาดระลอกที่ 1 จำนวน 5 โครงการ เป็นเงิน 2,555.50 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 5.68 ของกรอบวงเงินกู้ที่อนุมัติ (45,000 ล้านบาท)

“ส่วนใหญ่ เป็นโครงการจ่ายค่าตอบแทน เยียวยา สำหรับการปฏิบัติงานให้กับ อสม. คิดเป็นร้อยละ 61.65 ของวงเงินที่ อนุมัติในระลอกที่ 1 และโครงการเกี่ยวกับการจัดหาเครื่องมือ วัสดุ ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ต้องเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและพร้อมใช้งานได้ประมาณปลายปี พ.ศ. 2564 คิดเป็นร้อยละ 38.35 ของวงเงินที่อนุมัติในระลอกที่ 1”

การอนุมัติโครงการในระลอกที่ 2 จำนวน 37 โครงการ เป็นเงิน 23,267.63 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 51.71 ของกรอบวงเงินกู้ที่อนุมัติ (45,000 ล้านบาท) เป็นโครงการเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมด้านสถานพยาบาลและเกี่ยวกับการผลิตวัคซีน ค่าบริการสาธารณสุข ค่าตอบแทน เยียวยา สำหรับการปฏิบัติงานให้กับ อสม. การจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์การแพทย์และการพัฒนาปรับปรุงอาคาร ห้องปฏิบัติการ การจัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์อื่นๆ

การอนุมัติโครงการในระลอกที่ 3 จำนวน 9 โครงการ เป็นเงิน 38,074.87 ล้านบาท จากกรอบวงเงินกู้ที่คงเหลือจำนวน 19,176.88 ล้านบาท และวงเงินที่อนุมัติเพิ่มเติม เป็นเงิน 18,897.99 ล้านบาท (อนุมัติโครงการเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2564 และวันที่ 27 ก.ค. 2564) เป็นโครงการเกี่ยวกับค่าบริการสาธารณสุข การจัดหาวัคซีน ค่าตอบแทน เยียวยา สำหรับการปฏิบัติงานให้กับ อสม. การจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์การแพทย์และการพัฒนาปรับปรุงอาคาร ห้องปฏิบัติการ

ยังพบว่า บางโครงการที่ได้รับอนุมัติ ยังไม่แล้วเสร็จทันต่อการแก้ไขปัญหาได้อย่างทันกาล ข้อมูลเพียง ณ วันที่ 15 ก.ย. 2564 ตามแผนการดำเนินงานที่กำหนดจะมีโครงการแล้วเสร็จ จำนวน 27 โครงการ เป็นเงิน 55,151.12 ล้านบาท และอยู่ระหว่างดำเนินการ อีกจำนวน 24 โครงการ เป็นเงิน 8,746.86 ล้านบาท

ทั้งนี้ มีการเบิกจ่ายเงินจริง จำนวน 45,790.85 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 71.66 ของกรอบวงเงินกู้ทั้งสิ้นที่อนุมัติ

อย่างไรก็ตาม พบว่า โครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จและเบิกจ่ายเงินแล้ว ส่วนใหญ่เป็นโครงการเกี่ยวกับ “ค่าบริการสาธารณสุขภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)” รวม 4 โครงการ (ระลอกที่ 2 และ 3) รวมทั้งสิ้น 30,348.35 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 66.28 ของจำนวนเงินทั้งสิ้นที่มีการเบิกจ่ายแล้ว หรือคิดเป็นร้อยละ 47.49 ของกรอบวงเงินกู้ ที่อนุมัติทั้งสิ้น

รองลงมาเป็นค่าตอบแทน เยียวยา ซดเขย และเสี่ยงภัยสำหรับการปฏิบัติงานของ อสม. ในการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคในชุมชน จำนวน 5 โครงการ รวมเป็นเงิน 6,301.84 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 13.76 ของจำนวนเงินทั้งสิ้นที่มีการ เบิกจ่ายแล้ว

“ส่วนโครงการที่เกี่ยวกับปรับปรุงสิ่งก่อสร้าง การเตรียมความพร้อมสถานพยาบาล การจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ การวิจัย พัฒนาห้องปฏิบัติการและระบบสื่อสาร จำนวน 40 โครงการ 14,748.44 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 23.08 ของกรอบวงเงินกู้ที่อนุมัติ ที่ส่วนใหญ่คาดว่าจะสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จในกระบวนการจัดชื้อจัดจ้าง ตลอดจนทดสอบการใฃ้งาน และพร้อมใช้งานได้ในช่วงประมาณปลายปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 หรือปลายปี พ.ศ. 2564”

จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นพบข้อจำกัดในทางปฏิบัติของหน่วยงานที่รับผิดชอบ อาทิ ครุภัณฑ์บางรายการ ต้องสั่งซื้อและนำเข้าจากต่างประเทศ อุปกรณ์หรือห้องปฏิบัติการเป็นลักษณะที่ต้องดำเนินการเฉพาะทาง ซึ่งต้องหาผู้รับจ้างที่มีความชำนาญ การปรับปรุงสิ่งก่อสร้างต้องใช้เวลาในการเตรียมความพร้อมชองสถานที่การ ขนย้ายก่อนการดำเนินการ ประกอบกับการอนุมัติโครงการเป็นไปอย่างล่าช้า เป็นต้น

ยังพบว่า บางโครงการที่ได้รับการอนุมัติไม่สอดคล้องโดยตรงต่อการแก้ไขปัญหาฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วน อาทิ โครงการจัดหาครุภัณฑ์เครื่องฉายรังสี สำหรับแก้ปัญหาผลกระทบจาก โควิด-19 ด้านการแพทย์และสาธารณสุข วงเงินงบประมาณ 877.20 ล้านบาท

ขณะที่ การดำเนินงานตามโครงการเป็นลักษณะกระจายตามความต้องการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่า มีหน่วยงานที่ได้รับการอนุมัติโครงการและสนับสนุน เงินงบประมาณรวมจำนวน 24 หน่วยงาน และจากการพิจารณาตามข้อมูลประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ “ไม่พบข้อมูลที่กล่าวอ้างอิงถึงแผนภาพรวมของกระทรวงสาธารณสุขในการดำเนินงาน”

จากการตรวจสอบพบว่า การจัดทำและเสนอโครงการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุข มีระยะเวลาในการจัดทำข้อเสนอโครงการหรือกำหนดแผนการดำเนินงาน ตามโครงการน้อยมาก.


กำลังโหลดความคิดเห็น