“ศักดิ์สยาม” วางศิลาฤกษ์โครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา เชื่อมพัทลุง-สงขลา เดินหน้ายกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน ส่งเสริมเศรษฐกิจการขนส่ง และท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
วันนี้ (18 มี.ค.) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา จังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นโครงการที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) โดยมี นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมด้วย นางนาที รัชกิจประการ ประธานคณะที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม พลโท เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 นายภูมิศิษฏ์ คงมี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง เขต 1 นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง เขต 2 คณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม ประชาชนในพื้นที่ และสื่อมวลชนเข้าร่วมพิธี และมีนายฉัตรชัย อุสาหะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง กล่าวต้อนรับ นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวรายงานเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ณ บริเวณสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา บ้านแหลมจองถนน ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ในวันที่ 18 มีนาคม 2565
รมว.คมนาคม กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาลภายใต้การบริหารงานของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการมุ่งมั่นพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งทั่วทั้งประเทศอย่างบูรณาการ ทั้งทางบก ราง น้ำ และอากาศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สร้างความอยู่ดีกินดีให้กับพี่น้องประชาชนมาโดยตลอด รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นในการเดินทางบนถนนและสะพานที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงคมนาคม ประกอบกับกระทรวงคมนาคมได้เดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านคมนาคมในเชิงรุก โดยมุ่งเน้นการบูรณาการระหว่างรูปแบบการขนส่ง การกำกับดูแลการพัฒนาระบบคมนาคมให้มีความสะดวก ปลอดภัย ตรงเวลา เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว กระจายรายได้สู่ชุมชน รวมถึงการแก้ไขปัญหาจราจรเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และสนับสนุนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน จึงมอบหมายให้ ทช. ดำเนินโครงการการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา ตำบลเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา-ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง เพื่อช่วยเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมขนส่งให้เกิดความสมบูรณ์ เพิ่มศักยภาพในการเดินทางเชื่อมระหว่างจังหวัดพัทลุงกับสงขลา ลดระยะทางประมาณ 80 กิโลเมตร หรือลดระยะเวลาในการเดินทางราว 2 ชั่วโมง เป็นการสนับสนุนอำนวยความสะดวกด้านพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม กระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว พร้อมทั้งยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทางของพี่น้องประชาชนทั้งสองฝั่งทะเลสาบสงขลา เนื่องจากตลอดแนวทะเลสาบสงขลามีสะพานอยู่เพียง 2 แห่ง ได้แก่ สะพานชะแล้ ตั้งอยู่ด้านล่างของทะเลสาบสงขลาเชื่อมต่ออำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา กับอำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง และสะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 (สะพานไสกลิ้ง-หัวป่า) ตั้งอยู่ด้านบนของทะเลสาบสงขลาเชื่อมต่ออำเภอระโนด จังหวัดสงขลา กับอำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง โดยสะพานทั้ง 2 แห่ง มีระยะทางห่างกัน 60 กิโลเมตร ทำให้ประชาชนที่อยู่พื้นที่ตรงกลางของทะเลสาบต้องใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง จากปัญหาดังกล่าวองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน รวมทั้งประชาชนในพื้นที่อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง และอำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา จึงขอรับการสนับสนุนการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา
ปัจจุบัน ทช. ได้ดำเนินการสำรวจออกแบบโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จและได้ผ่านการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ของสำนักนโยบายและเเผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี โดยในปี 2566 ได้จัดทำคำขอภายในกรอบวงเงินโครงการรวมทั้งสิ้น จำนวน 4,841 ล้านบาท มีระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี (ปี 2566-2568) โดยจะใช้เงินกู้และงบสมทบจากงบประมาณประจำปี ทั้งนี้ คาดว่าโครงการดังกล่าวจะเริ่มก่อสร้างประมาณ ปี 2566 คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จและเปิดให้ใช้บริการได้ในช่วงกลางปี 2569 ต่อไป
สำหรับโครงการดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นบริเวณทางแยกจากถนนทางหลวงชนบท พท.4004 (กม. ที่ 3+300) บ้านแหลมจองถนน ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง วางแนวข้ามทะเลสาบสงขลาไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และมีจุดสิ้นสุดที่ถนนองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (ถนนรอบเกาะใหญ่) บริเวณหมู่ 2 บ้านแหลมยาง ตำบลเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา รวมระยะทางทั้งสิ้น 7 กิโลเมตร โดยสะพานมีขนาด 2 ช่องจราจร (สามารถขยายเป็น 4 ช่องจราจรได้ในอนาคต) และมีรูปแบบสะพานที่เหมาะสม คือ สะพานคานขึง (Extradosed Bridge) และสะพานคานคอนกรีตรูปกล่องความหนาคงที่ (Box Segmental Bridge) นอกจากนี้ บริเวณราวสะพานได้ออกแบบให้มีความสวยงาม โดยนำรูปแบบทางจิตรกรรมมโนราห์ของท้องถิ่นมาประยุกต์ ประกอบกับลักษณะทางโครงสร้างของสะพานที่แตกต่างจากสะพานอื่นและสถาปัตยกรรมที่มีความสวยงาม ทำให้สะพานแห่งนี้จะเป็นแลนด์มาร์ก (Landmark) ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัด รวมถึงจะเป็นมิติใหม่ของการเดินทางจากสงขลาถึงพัทลุง เชื่อมโยงการคมนาคมขนส่ง ส่งเสริมเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน นำพาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน
ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้พบปะพูดคุยกับประชาชนที่มาร่วมงาน เพื่อนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชนในพื้นที่ไปประกอบการพิจารณากำหนดนโยบายในการขับเคลื่อนแผนงานโครงการของกระทรวงคมนาคมในอนาคต และเพื่อให้การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและเกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศต่อไป