รมว.คมนาคม ลงพื้นที่ตรวจความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางยกระดับบนถนนพระราม 2 และทางพิเศษพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนฯ เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้ประชาชน
วันนี้ (9 มี.ค.) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางยกระดับบนถนนพระราม 2 และโครงการทางพิเศษพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอก กรุงเทพมหานครด้านตะวันตก โดยมี นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม นางสาวรัชนีพร ธิติทรัพย์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงคมนาคม นายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงคมนาคม ร่วมลงพื้นที่ และมี นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย นำลงพื้นที่และบรรยายสรุป ในวันที่ 9 มีนาคม 2565
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การบริหารงานของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายให้กระทรวงคมนาคมเร่งแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่ถนนพระราม 2 ซึ่งเป็นเส้นทางหลักที่เชื่อมสู่ภาคใต้ของประเทศให้ลุล่วงโดยเร็ว ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง โดยมีผลงานการปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี-ปากช่อง ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย กม. 9+800-21+500 ระยะทาง 11.7 กิโลเมตร ตอน 1 กม. 9+800-13+300 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2564 ตอน 2 กม. 13+300-17+400 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2564 และตอน 3 กม. 17+400-21+500 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2563 ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการในปัจจุบันมีความคืบหน้าดังนี้
1. โครงการก่อสร้างทางยกระดับทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี-ปากช่อง ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย ช่วง กม. ที่ 11+959.904-20+295.417 ของกรมทางหลวง เป็นการก่อสร้างทางยกระดับ จำนวน 6 ช่องจราจร ไป-กลับ (ทิศทางละ 3 ช่องจราจร) ภาพรวมโครงการมีความคืบหน้า 61% คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2566 แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 3 ตอน ระยะทาง 8.2 กิโลเมตร คือ ตอนที่ 1 ระยะทาง 2.575 กิโลเมตร รวมทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน ปัจจุบันมีความคืบหน้า 62.61% ตอนที่ 2 ระยะทาง 4.1 กิโลเมตร ปัจจุบันมีความคืบหน้า 46.75% และตอนที่ 3 ระยะทาง 1.6 กิโลเมตร ปัจจุบันมีความคืบหน้า 74.84%
2. โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว มีแนวสายทางเชื่อมต่อกับโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก บริเวณด่านบางขุนเทียนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 10 สัญญา บนถนนพระราม 2 ตั้งแต่ กม. ที่ 20+295-36+645 ระยะทาง 16.4 กิโลเมตร มูลค่า 18,759.230 ล้านบาท เริ่มต้นสัญญาวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 15 มกราคม 2568
3. โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก ของ กทพ. เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดของทางพิเศษเฉลิมมหานคร ช่วงบางโคล่-สะพานพระราม 9-ดาวคะนอง ที่มีปริมาณการจราจรเฉลี่ยสูงถึง 150,000 คันต่อวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาเร่งด่วนอย่างยั่งยืน กระทรวงคมนาคมจึงได้มีนโยบายให้พัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะโครงข่ายถนนและทางพิเศษในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ขณะนี้โครงการฯ อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ภาพรวมโครงการมีความคืบหน้า 24.32 % คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2567 ประกอบด้วย 5 สัญญา คือ สัญญาที่ 1 ระยะทาง 6.4 กิโลเมตร มีความก้าวหน้า 0.82% สัญญาที่ 2 ระยะทาง 5.3 กิโลเมตร มีความก้าวหน้า 34.33% สัญญาที่ 3 ระยะทาง 5 กิโลเมตร มีความก้าวหน้า 1.48% สัญญาที่ 4 ระยะทาง 2 กิโลเมตร มีความก้าวหน้า 68.88% และสัญญาที่ 5 งานระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง ระบบควบคุมจราจร และระบบสื่อสาร อยู่ระหว่างการจัดซื้อจัดจ้าง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับ KPI ในการบริหารจัดการก่อสร้างและการจราจร ซึ่งมีการพัฒนาใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาบริหารจัดการก่อสร้างอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดผลกระทบต่อการจราจร ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการเชื่อมต่อระบบคมนาคมสู่ภาคใต้ให้มีความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัย โดยมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมให้กรมทางหลวงและการทางพิเศษแห่งประเทศไทยคำนึงถึงปัจจัยเรื่องอุทกภัยด้วยในการออกแบบและบริหารจัดการโครงการ และเพิ่มความถี่ในการประชาสัมพันธ์โครงการให้เข้าถึงประชาชนให้มากที่สุดโดยเฉพาะช่องทาง Social Media การใช้ Influencer เข้ามาช่วยในการสื่อสารและการทำกิจกรรมของโครงการ เพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจให้เป็นวงกว้างและเข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น รวมถึงบูรณาการในการวางแผนเคลื่อนย้ายระบบสาธารณูปโภคกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้การพัฒนาโครงการขนาดใหญ่จะต้องวางแผนการพัฒนา Business Model ที่ชัดเจน เพื่อให้หน่วยงานมีรายได้เลี้ยงตัวเองอันจะเป็นการลดภาระทางงบประมาณของภาครัฐในระยะยาว รวมถึงต้องคำนึงถึงการพัฒนา TOD (Transit Oriented Development) และโอกาสในการพัฒนาพื้นที่อสังหาริมทรัพย์ใหม่ๆ ที่โครงการสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ลงตรวจพื้นที่ก่อสร้าง โดยเริ่มจากโครงการก่อสร้างทางยกระดับฯ ของกรมทางหลวง และต่อไปที่โครงการทางพิเศษฯ ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และได้สั่งการให้ ทล. และ กทพ. บูรณาการร่วมกัน 6 มิติ ได้แก่ มิติบริหารพื้นที่ร่วม มิติการออกแบบ มิติการเร่งรัดงานก่อสร้าง มิติการบริหารจราจร มิติการประชาสัมพันธ์ และมิติการช่วยเหลือกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น การบริหารการใช้พื้นที่ร่วมกันโครงการที่มีพื้นที่ซับซ้อน การใช้พื้นสะพานแบบหล่อสำเร็จรูป (Precast Box Segment) การกำกับดูแลติดตามให้การก่อสร้างเป็นไปตามแผนที่วางไว้ การก่อสร้างในพื้นที่เฉพาะที่กั้นไว้ การประชาสัมพันธ์สื่อสารข้อมูลด้วยป้าย VMS (ป้ายปรับเปลี่ยนข้อความ) MVMS (ป้ายปรับเปลี่ยนข้อความแบบเคลื่อนที่ได้) และติดตั้งกล้อง CCTV ตรวจสภาพการจราจรเตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือทันทีที่เกิดอุบัติเหตุ พร้อมจัดตั้งศูนย์บริหารและบูรณาการเพื่อควบคุมการในโครงการก่อสร้างแบบ Real-Time เพื่ออำนวยความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด ลดปัญหาการจราจรติดขัดบนท้องถนน และอำนวยความสะดวก ความปลอดภัยให้ประชาชนผู้ใช้ทางระหว่างการก่อสร้าง