xs
xsm
sm
md
lg

‘ธันย์ชนน’เตือน ศบค.อย่าลืมยกเลิก ‘พ.ร.ก.ฉุกเฉิน’ แนะปรับระบบดูแลผ่าน ‘ร้านขายยา’ ให้ประชาชนเข้าถึงง่าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้(14 มี.ค.)นายธันย์ชนน ศรีอัษฎาวุธกุล ว่าที่ผู้สมัคร ส.ก.เขตดุสิต พรรคก้าวไกล กล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 ว่า แม้สายพันธุ์โอมิครอนจะมีความรุนแรงน้อย แต่ก็แพร่กระจายง่าย จึงเริ่มเห็นแนวโน้มของระลอกนี้ที่คนวัยทำงานหรือพนักงานออฟฟิศติดเชื้อมากขึ้น เพียงแต่อาการไม่รุนแรง สามารถรักษาให้หายเองได้ในเวลาไม่นาน อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่น่ากังวลคือ การนำเชื้อกลับบ้านไม่ติดผู้สูงอายุหรือกลุ่มเปราะบางที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ใกล้เข้ามา การที่กระทรวงสาธารณสุขปรับวิธีการรับมือเป็นการรักษาตามอาการด้วยกลไก ‘เจอ -จ่าย-จบ’ ถือว่าสอดคล้องกับสถานการณ์ก็จริง แต่ยังต้องให้ความสำคัญกับการสื่อสารเพื่อให้ยังระมัดระวังหากมีผู้สูงอายุหรือกลุ่มเปราะบางอยู่อาศัยร่วมกันในบ้านด้วย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะรีบปล่อยมือแล้วปฏิบัติเสมือนว่าโควิดเป็นโรคประจำถิ่นที่ไม่มีความน่ากังวลสำหรับคนทุกกลุ่มไปแล้วไม่ได้ จะต้องมีระบบสนับสนุนให้ทุกกลุ่มมีความปลอดภัยรอดไปด้วยกันจริงๆ

“อย่าลืมว่า ถึงวันนี้ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ยังสูงกว่า 60 รายต่อวัน หรือยังมากกว่าครึ่งร้อย หลังเทศกาลสงกรานต์ยิ่งต้องเฝ้าระวัง เพราะคนวัยทำงานจำนวนมากจะกลับบ้านไปเยี่ยมผู้สุงอายุ จึงอาจนำเชื้อกลับไปติดพวกท่านได้ รัฐบาล ศบค. และกระทรวงสาธารณสุข จึงไม่ควรสื่อสารเฉพาะในมุมที่บอกว่าความรุนแรงเชื้อลดลงอย่างเดียวเพื่อรีบประกาศเป็นโรคประจำถิ่น จะได้ไม่ต้องรับผิดชอบแก้ปัญหาที่ตามมา ผมอยากฝากเรื่องนี้ให้ ศบค. ชุดใหญ่ ที่จะมีการประชุมกันในวันศุกร์ที่ 18 มี.ค.นี้ ไปขบคิดให้ดีในการออกมาตรการต่างๆเพื่อป้องกันการเสียชีวิตในกลุ่มเสี่ยงสูง ”

อย่างไรก็ตาม นายธันย์ชนน กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวทางการดูแลแบบ “เจอ-จ่าย-จบ” เพราะสำหรับคนทั่วไปส่วนใหญ่เมื่อพบว่าติดเชื้อมีความเสี่ยงเกิดอาการรุนแรงน้อย สามารถรักษาไปตามอาการโดยแยกกักตัวเองที่บ้านได้ เมื่อภาพรวมเป็นแบบนี้จึงคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ ศบค.จะต้องเคาะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โควิด ไปเลย เพราะที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไรในการควบคุมโรค ส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้กับผู้เห็นต่างทางการเมืองมากกว่า ดังนั้น เมื่อ ศบค.มีวาระจะถกกันเรื่องมาตรการเพื่อไปสู่การรับมือโควิดแบบโรคประจำถิ่น มาตรการแรกที่ควรถกก็ควรเป็นเรื่องนี้ เพื่อกลับไปใช้กฎหมายปกติในการควบคุมโรค

นอกจากนี้ อีกเรื่องที่อยากสะท้อนไปยัง ศบค. คือมาตรการ ‘เจอ-จ่าย-จบ’ ที่ยังคงมีปัญหาในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ มีการร้องเรียนเข้ามาผ่านทางตนและทีมงานพรรคก้าวไกลว่า แม้จะตรวจ ATK พบผลเป็นบวกและติดต่อไปที่โรงพยาบาลตามสิทธิ ไม่ว่าบัตรทองหรือประกันสังคม สิ่งที่เป็นจริงคือหลายคนไม่ได้รับยาในทันที ต้องกลับไปรออย่างไร้หวังที่บ้าน หรือไม่ก็ผลักภาระให้ไปเอาที่ภาคประชาสังคมแทนที่รัฐจะมีศักยภาพมากกว่าในการดูแล ในส่วนคู่สายของรัฐก็ไม่เพียงพอในการรับเรื่องโทรติดยาก หรือไม่ก็ยังถามหาผล PCR ในการหาฮอสพิเทล ซึ่งเรื่องนี้ยังสำคัญในกรณีกลุ่มที่ต้องการสถานที่กักแยกตัวจริงๆ เพื่อไม่ให้ติดกันหมดในครอบครัวหรือชุมชน จึงอยากฝาก ศบค. ไปถกกันให้ดีว่า จะทำอย่างไรจึงจะทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาได้โดยเร็ว และตัดวงจรการระบาดได้เร็ว ไม่แพร่กระจายต่อกันไป

“ในส่วนข้อเสนอแนะ ผมอยากให้ ศบค.พิจารณาแนวทางที่พรรคก้าวไกลเสนอ นั่นคือ การกระจายอำนาจการดูแลตัวเองกลับไปให้ประชาชน ควรให้พวกเขาสามารถซื้อยาสามัญรักษาตามอาการได้ที่ร้านขายยาทั่วไปแบบไม่จำเป็นต้องรอลงทะเบียน โดยมีรัฐเป็นผู้กำหนดชุดยาให้ร้านขายยา สำหรับเคสแบบต่างๆ เช่น แบบ 1 สำหรับเคสสีเขียว+บุคคลทั่วไป แบบที่ 2 สำหรับเด็กเล็ก แบบที่ 3 สำหรับผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีภาวะเสี่ยงเปราะบางมีโรคแทรกซ้อน และแบบที่ 4 สำหรับสตรีมีครรภ์ การจัดชุดยาทุกชุดจะต้องมีมาตรฐานเดียวกันที่กำหนดจากระทรวงสาธารณะสุข เพียงนำภาพถ่ายบัตรประชาชนคู่กับผลตรวจ ATK ไปแจ้งต่อเภสัชก็จะสามารถรับยารักษาได้ทันที และต้องกำหนดให้สามารถนำมาเบิกค่าใช้จ่ายกับรัฐได้ในภายหลังหากต้องการเบิก เพราะบางคนที่พอมีฐานะอาจมองว่าเสียเวลาและไม่เดือดร้อนเรื่องเงินก็จะไม่เบิก ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายของรัฐได้ในทางหนึ่ง ผมไม่ขัดข้องหากรัฐบาลวางเป้าหมายให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น แต่นโยบายที่กำหนดออกมาต้องทำได้จริง และมีแผนรองรับประชาชนที่มีเงื่อนไขในชีวิตต่างกันให้สามารถได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงได้” นายธันย์ชนน กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น