xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ทำแผน 4 เดือนถอด "โควิด" ออกจากการระบาดใหญ่ เป็นโรคประจำถิ่นตั้งแต่ 1 ก.ค.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คณะกรรมการโรคติดต่อฯ เห็นชอบแผนปรับ "โควิด" เป็นโรคประจำถิ่น สธ.กางแผน 4 เดือน ออกจากโรคระบาดใหญ่ได้ตั้งแต่ 1 ก.ค.เป็นต้นไป ตั้งอนุกรรมการฯทำมาตรการรองรับ ทั้งการควบคุมโรค การรักษา กฎหมายและสังคม เล็งแก้กฎหมาย 9 ฉบับ ย้ำออกแม้ออกจากโรคประจำถิ่นยังต้องใส่หน้ากาก ตรวจ ATK เข้มป้องกันตัว

เมื่อวันที่ 9 มี.ค. นายอนุทิน ชาญวัรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2565 ว่า ที่ประชุมเห็นชอบ 4 เรื่อง คือ 1.หลักการจัดการตามแผนและมาตรการรองรับการเปลี่ยนผ่านการระบาดของโรคโควิด 19 สู่โรคประจำถิ่น บนพื้นฐานสุขภาพที่ดีของทุกคนและเศรษฐกิจของประเทศรุดหน้า ไม่ยึดติดไปไหนไม่ได้กับภาวะโรคระบาด ซึ่งประเทศอื่นๆ ก็ใช้นโยบายนี้เช่นกันในการเปลี่ยนผ่านโควิดให้เป็นโรคประจำถิ่น ทั้งนี้ ได้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้บริหารจัดการด้านต่างๆ มีมาตรการสำหรับผู้เดินทางเข้าออกประเทศ การเฝ้าระวังในประเทศ การสอบสวนโรค การบริหารจัดการวัคซีน มาตรการป้องกันและควบคุมโรค มาตรฐานการรักษาผู้ติดเชื้อและผู้ป่วย มาตรการทางกฎหมายและสังคม เพื่อให้ดำรงชีวิตเป็นปกติภายใต้มาตรการป้องกันตนและเศรษฐกิจเดินหน้าได้ ทั้งนี้ แม้จะเข้าสู่โรคประจำถิ่นแล้วยังต้องปฏิบัติตัวตามมาตรการป้องกันโรคอยู่ ทั้งใส่หน้ากาก เลี่ยงการอยู่ในหมู่มาก ล้างมือบ่อยๆ ตรวจ ATK ฉีดวัคซีน ทำให้อัตราเสี่ยงลดลง

2.แผนรณรงค์เร่งฉีดวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้นช่วงก่อนสงกรานต์ กลุ่มเป้าหมาย 608 ให้มากที่สุด เนื่องจากผู้เสียชีวิตมากกว่า 95% ยังเข้าไม่ถึงวัคซีน และเป็นกลุ่ม 608 ซึ่งตอนนี้ยังมีผู้สูงอายุอีก 2 ล้านคนยังไม่ได้รับวัคซีนเลย ก็พยายามเร่งรัด โดยให้ อสม.ทำความเข้าใจ แม้จะอยู่แต่บ้านไม่รับวัคซีน เพราะคิดว่าไม่ไปไหน แต่คนในบ้านยังออกไปข้างนอกก็มีความเสี่ยงรับเชื้อได้ ขอให้มารับวัคซีนเร็วที่สุด ส่วนคนสุขภาพดีและฉีดวัคซีนแม้ติดเชื้อก็ไม่มีอาการรุนแรง ทั้งนี้ ช่วงสงกรานต์ไม่ได้มีข้อห้ามเดินทางกลับภูมิลำเนา แต่ขอให้รักษามาตรการป้องกันตนเอง ใส่หน้ากาก เลี่ยงการอยู่ในคนจำนวนมาก ล้างมือ และรับวัคซีน การพบปะในครอบครัวก็จะปลอดภัย ส่วนเข็ม 4 เราพร้อมฉีดให้โดยเฉพาะคนที่สัมผัสผู้คนมากมาย เช่น ผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะ พนักงานห้าง ร้านค้า มาแจ้งได้ โดยเว้นจากเข็ม 3 ช่วง 3 เดือนขึ้นไป

3.เร่งรัดการให้วัคซีนหัด หัดเยอรมัน ภายใต้โครงการกำจัดโรคหัด หัดเยอรมัน ตามพันธสัญญานานาชาติ ซึ่งกรมควบคุมโรคจะรับมาดำเนินการต่อไป และ 4.การรักษาผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซี ด้วยวิธี Test&Treat เนื่องจากทุกวันนี้เรามียา แต่มีข้อกำหนดต้องให้อายุรแพทย์ด้านตับหรือช่องท้องจ่ายยา แต่ รพ.รัฐทั่วประเทศไม่มีแพทย์ด้านนี้ทุก รพ. ทั้งนี้ เราต้องการให้ผู้ป่วยตับอักเสบซีรับการดูแลตามสิทธิ เข้าถึงยาโดยเร็วและไม่มีข้อจำกัด ดูแลได้ใน รพ.ชุมชน และรพ.ทั่วไป โดยเปิดให้แพทย์ทั่วไป รับการฝึกอบรม เพื่อจ่ายยาและติดตามการรักษาที่มีประสิทธิภาพ โดยมีอายุรแพทย์ทางเดินอาหารเป็นที่ปรึกษาหรือพี่เลี้ยงให้คำแนะนำ

เมื่อถามถึงการเป็นโรคประจำถิ่นต้องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินด้วยหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า อย่ากังวลกับพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะเราไม่ได้เอามาปราบจลาจลหรือป้องกันการก่อความไม่สงบ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องเรื่องการสู่รบเลย เป็นเรื่องการบริหารจัดการสถานการณ์การระบาด จะเห็นว่าไม่เคยมารบกวนวิถีชีวิตประชาชนเลย แต่ทำให้บูรณาการหน่วยงานทุกภาคส่วนทำงานภายใต้ทิศทางเดียวกัน แต่เมื่อเป็นโรคประจำถิ่น ทุกอย่างอยู่ภายใต้มือหมอ ก็จะพิจารณาเรื่องสถานการณ์ฉุกเฉิน ยืนยันว่านายกฯ ก็ไม่ได้ต้องการให้มีสถานการณ์ฉุกเฉินแม้แต่น้อย แต่ทาง สธ.บอกให้คงไว้ก่อน เพราะมีเรื่องการบริหารสถานการณ์ชายแดน การขอความร่วมมือฝ่ายมั่นคงเมื่อระบาดเยอะๆ สธ.ไม่สามารถสั่งการข้ามหน่วยงานให้ทำงานทันที ไม่ใช่ไม่มีความร่วมมือ แต่เราต้องการให้ทุกอย่างอยู่ภายใต้ความคุ้มครองกฎหมาย

เมื่อถามถึงแผนและมาตรการรองรับการเปลี่ยนผ่าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. กล่าวว่า คณะกรรมการฯ เห็นชอบแผนรองรับการเข้าสู่ Endemic approach แบ่งออกเป็น 4 เดือน เรียกว่า 3 บวก 1 (4 ระยะ) ดังนี้ ระยะที่ 1 (12 มี.ค.-ต้นเม.ย.) เรียกว่า Combatting เป็นระยะต่อสู้ ออกแรงกดตัวเลขไม่ให้สูงกว่านี้ เพื่อลดการระบาดและความรุนแรงลง จะมีมาตรการต่างๆ ออกไป การดำเนินการให้กักตัวลดลง ระยะที่ 2 (เม.ย.-พ.ค.) เรียกว่า Plateau คือ การคงระดับผู้ติดเชื้อไม่ให้สูงขึ้น เป็นระนาบจนลดลงเรื่อยๆ ระยะที่ 3 (ปลาย พ.ค.-30 มิ.ย.) เรียกว่า Declining ลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงให้เหลือ 1-2 พันราย และอีกบวก 1 หรือระยะ 4 ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2565 เป็นต้นไป เรียกว่า Post pandemic คือ ออกจากโรคระบาด เข้าสู่โรคประจำถิ่น

“แผนดำเนินการทั้งหมดจะต้องการให้เกิดภายใน 4 เดือน โดยจะมีคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการควบคุมโรค คณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการรักษา คณะอนุกรรมการเกี่ยวกับกฎหมายและสังคม ซึ่งต้องแก้กฎหมายประมาณ 9 ฉบับ อย่างสังคมจะมีลักษณะอย่างไร ปรับตัวอย่างไร ก็จะมีแนวทางออกมา เช่น COVID Free Setting ต้องยกเป็นมาตรฐาน เป็นต้น ซึ่งต้องรอรายละเอียดต่างๆ ออกมา” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การควบคุมอัตราการเสียชีวิตเพื่อเข้าสู่โรคประจำถิ่นต้องไม่เกิน 1 ในพันราย หรือ 0.1% ซึ่งปัจจุบันเราอยู่ที่ 0.19-0.2% จึงยังไม่ถึงเป้าที่กำหนด เพราะคนเสียชีวิตส่วนใหญ่เป็น 608 ซึ่งต้องลดให้ได้ 0.1% หรือครึ่งหนึ่ง
เมื่อถามว่าผู้เสียชีวิตจากโควิดจริงๆเท่าไร นพ.โอภาส กล่าวว่า รายละเอียดแต่ละคนไม่เหมือนกัน ต้องให้หมอกรอกข้อมูลเข้ามา แต่เท่าที่ดูประมาณสัก 20-30% อาจไม่เกี่ยวกับโควิดโดยตรง เพราะไม่ได้ลงปอด อย่างบางรายติดเตียง ท้องเสียและเสียชีวิต แต่เมื่อตรวจ ATK พบบวก อย่างไรก็ตาม การตรวจเจอโควิดที่เสียชีวิตอาจไม่ใช่โควิด เพราะหลังๆมีโรคประจำตัว อย่างไตวาย มีภาวะติดเตียงไม่มีคนดูแล โรคมะเร็งระยะสุดท้าย จึงต้องเคลียร์ตัวเลขเสียชีวิตตรงนี้ ซึ่งอาจลดลงได้ 20-30% สิ่งสำคัญกลุ่ม 608 ต้องเร่งฉีดวัคซีนโควิดให้กลุ่มนี้ อย่างกลุ่มติดเตียง ก็ไม่อยากพาไปฉีด เพราะกลัวเป็นไข้ และหลายคนเข้าใจว่าอยู่กับบ้านไม่น่าติด เรื่องนี้จึงต้องเร่งสร้างความเข้าใจ

ถามถึงการเตรียมใช้ UCEP COVID Plus ที่จะเริ่มวันที่ 16 ม.ค.นี้ จะออกประกาศเมื่อไร นายอนุทินกล่าวว่า มติ ครม.UCEP COVID Plus อาการสีเหลืองและแดงรับบริการแบบฉุกเฉิน เราไม่ได้ตัดสิทธิ เราทำให้คนควรได้เตียงและได้เตียง คนไม่ต้องเข้าถึงเตียงก็ดูแลตัวเองที่บ้าน เหมือนที่ผู้ติดเชื้อทุกคนไม่จำเป็นต้องรับยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งประกาศตนลงนามไปแล้ว แต่จะมีการปรับแก้รายละเอียดวันที่ 16 มี.ค. แล้วจึงออกประกาศ โดยกลุ่มสีเขียวก็จะปรับไป รักษาฟรีตามสิทธิ


กำลังโหลดความคิดเห็น