“สนธิรัตน์” แกนนำสร้างอนาคตไทย ย้ำความสำคัญ “ศูนย์กระจายสินค้าชุมชน” ต่อยอดการค้าขายในชุมชน-ภูมิปัญญา เพิ่มมูลค่าทาง ศก.ให้ชุมชน เสริมองค์ความรู้การบริหาร-ระบบบัญชี-การตลาด เดินหน้าปฏิรูป ศก.ฐานราก เพิ่มเสาหลัก ศก.ให้ประเทศ
วันนี้ (9 มี.ค.) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ แกนนำ และผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสร้างอนาคตไทย โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “สินค้าชุมชนกับเสาหลักเศรษฐกิจฐานราก : การคิดแบบแนวลึกของการผลิตและการตลาดผ่านศูนย์กระจายสินค้าชุมชน” โดยสาระสำคัญระบุถึงการสนับสนุนศูนย์กระจายสินค้าชุมชน เพื่อนำไปสู่ความเข้มแข็งของเศรษฐกิจที่ฐานราก โดยการต่อยอดการค้าขายในชุมชน ต่อยอดภูมิปัญญา และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ชุมชน พร้อมทั้งการเพิ่มความสามารถในการค้าขาย และการบริหารจัดการวิธีการบริหารระบบบัญชี และระบบการเงินเข้า เพื่อสร้างนักการจัดการและนักการตลาดชุมชน ซึ่งประสบความสำเร็จในประเทศญี่ปุ่นมีจุดขายสินค้าของเมืองที่เรียกว่า Roadside Station หรือ มิจิโนะเอกิ (Michi no eki) ในภาษาญี่ปุ่น โดยสมัยที่ดำรงตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ ก็ได้วางรากฐานการขายของเด่นของหมู่บ้านผ่านการขายของออนไลน์ และออนไลน์ในแบบเถาเป่าโมเดลของจีน หรือสมัยที่ดำรงตำแหน่ง รมว.พลังงาน ก็ได้ส่งเสริมโครงการไทยเด็ดที่ให้มีการนำผลิตภัณฑ์ของดีของเด่นในท้องถิ่นต่างๆ มาวางขายในปั๊ม ปตท.
“แนวคิดศูนย์กระจายสินค้าชุมชนนี้ คือ การผ่าโครงสร้างการคิดเรื่องเศรษฐกิจฐานรากผ่านการเปลี่ยนแนวคิดการขายสินค้าชุมชนที่ไม่ได้คิดว่าจะให้ขายได้ แต่จะทำให้เป็นฐานที่จะรองรับเศรษฐกิจในอนาคตเป็นการปฏิรูปเศรษฐกิจฐานรากที่เป็นการสร้างเสาหลักทางเศรษฐกิจขึ้นมาอีกเสาหนึ่ง” นายสนธิรัตน์ ระบุ
ทั้งนี้ นายสนธิรัตน์ ระบุว่า “ผมมีนโยบายด้านเศรษฐกิจฐานรากมาเล่าให้ทุกคนฟังครับ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำศูนย์กระจายสินค้าชุมชน ที่ผมขอบอกว่านี้จะเป็นการปรับมุมคิดในการขายสินค้าชุมชนที่จะนำไปสู่ความเข้มแข็งของเศรษฐกิจที่ฐานราก
ศูนย์กระจายสินค้าชุมชนเป็นแนวคิดของการต่อยอดการค้าขายในชุมชน ต่อยอดภูมิปัญญา และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ชุมชน
ที่มาของแนวคิดนี้มาจากฐานคิดของการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งสร้างรายได้ สร้างอาชีพ ทุกครั้งที่ผมลงพื้นที่พบปะพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะการลงพื้นที่พบปะพี่น้องที่ทำวิสาหกิจชุมชน ผลิตสินค้าต่างๆ เพื่อทำการค้าในพื้นที่และนอกพื้นที่ ผมได้ซื้อได้ชิมได้ใช้ของกิน สินค้า ที่เอามาขายมาโชว์ ซึ่งก็เป็นของอร่อย ของมีคุณภาพทั้งสิ้น
บางครั้งผมถามว่า แล้วสินค้าเหล่านี้เอาไปขายอย่างไร ขายได้ไหม ขายดีไหม บ่อยครั้งมักจะได้คำตอบที่ทำให้ผมคิดว่า เราสามารถเพิ่มมูลค่าทางการตลาด และต่อยอดคุณภาพเชิงสินค้าในเชิงคุณภาพและการออกแบบดีไซน์ได้ แต่เราต้องคิดแบบแนวลึกของการผลิตและการตลาด และต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง
นี่จึงเป็นที่มาของแนวคิดศูนย์การกระจายสินค้าชุมชนครับ ซึ่งศูนย์กระจายฯ นี้ ไม่เพียงแต่เป็นที่รวมของสินค้าชุมชน ที่อาจจะเป็นที่รวมของทั้งตำบลหรืออำเภอ หรือจะใหญ่ขนาดรวมทั้งจังหวัด แต่ยังจะเป็นที่ที่ยกระดับคุณภาพ การบรรจุหีบห่อ และการตลาด
แต่เราไม่ได้คิดแค่สร้างศูนย์กระจายสินค้าชุมชนมาแล้วก็จบนะครับ เราต้องเพิ่มความสามารถในการค้าขาย และการบริหารจัดการด้วย คือ พี่น้องเกษตรกรเรามีความสามารถในการผลิตที่ดี แต่ต้องให้วิธีการบริหารระบบบัญชีและระบบการเงินเข้าไปอีกด้วย จึงเป็นที่มาของการสร้างนักการจัดการและนักการตลาดชุมชน ที่เราจะต้องจัดให้มีควบคู่ขึ้นมา
การทำศูนย์ฯ แบบนี้มีตัวอย่างความสำเร็จให้เห็นในต่างประเทศมาแล้วครับ อย่างที่ประเทศญี่ปุ่นที่เค้ามีการทำจุดขายสินค้าของเมือง ที่เรียกว่า Roadside Station หรือ มิจิโนะเอกิ (Michi no eki) ในภาษาญี่ปุ่น
เรื่องการผลักดันการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนผ่านสินค้าชุมชนนี่เป็นเรื่องที่ผมทำมาตลอดนะครับ ถ้าทุกท่านจำได้ครับตอนสมัยผมเป็น รมต. พาณิชย์ ผมก็ได้คิดวางรากฐานเรื่องของการขายของเด่นของหมู่บ้านผ่านการขายของออนไลน์และออผไลน์ในแบบเถาเป่าโมเดลของจีน หรือสมัยที่ผมเป็น รมต. พลังงาน ผมก็ได้ส่งเสริมโครงการไทยเด็ดที่ให้มีการนำผลิตภัณฑ์ของดีของเด่นในท้องถิ่นต่างๆ มาวางขายในปั๊ม ปตท.
ทั้งหมดของแนวคิดศูนย์กระจายสินค้าชุมชน นี้คือ การผ่าโครงสร้างการคิดเรื่องเศรษฐกิจฐานรากผ่านการเปลี่ยนแนวคิดการขายสินค้าชุมชนที่ไม่ได้คิดว่าจะให้ขายได้ แต่จะทำให้เป็นฐานที่จะรองรับเศรษฐกิจในอนาคต เป็นการปฏิรูปเศรษฐกิจฐานรากที่เป็นการสร้างเสาหลักทางเศรษฐกิจขึ้นมาอีกเสาหนึ่งครับ”