xs
xsm
sm
md
lg

กสม.ชง ครม.ทำห้องน้ำสำหรับบุคคลทุกเพศ รองรับบุคคลมีความหลากหลายทางเพศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กสม. ชง ครม. กำหนดนโยบายทำห้องน้ำสำหรับบุคคลทุกเพศ รองรับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ หลังมีร้องถูกเลือกปฎิบัติ

วันนี้ (3 มี.ค.) นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2564-2565 กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในประเด็นเกี่ยวกับการจัดให้มีห้องน้ำสาธารณะสำหรับกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ จำนวน 36 คำร้อง โดย ระบุว่า เข้าใช้บริการห้องน้ำในร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า สถานศึกษา หน่วยงานราชการ และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ หลายแห่ง แล้วพบว่าสถานที่เหล่านี้ไม่มีห้องน้ำสำหรับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ทำให้เกิดความรู้สึกไม่สบายใจเมื่อต้องใช้ห้องน้ำ และเห็นว่า เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ในการประชุม กสม.วันที่ 28 ก.พ.จึงได้พิจารณาความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ หน่วยงานของรัฐ และเอกชน ตลอดจนบทบัญญัติของกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน ตลอดจนเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 27 และ พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ได้บัญญัติรับรองสิทธิและความเสมอภาคของบุคคล และวางหลักการห้ามเลือกปฏิบัติด้วยปัจจัยด้านเพศสภาพ ทั้งในการกำหนดนโยบาย กฎหมาย หรือวิธีปฏิบัติของหน่วยงานของรัฐ องค์กรเอกชน หรือบุคคลใดไว้ โดยเมื่อพิจารณาถึงแนวทางการใช้ห้องน้ำของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน พบว่า ในสถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน รวมถึงสถานประกอบการต่างๆ มีเพียงการจัดห้องน้ำตามเพศสรีระอันเป็นเพศแต่กำเนิด ได้แก่ ห้องน้ำชายและห้องน้ำหญิงเท่านั้น ทำให้กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ มีความรู้สึกว่าถูกเลือกปฏิบัติ เพราะไม่สามารถใช้ห้องน้ำได้ตรงตามอัตลักษณ์ทางเพศ หรือตามการแสดงออกทางเพศของตนได้ โดยเฉพาะกลุ่มบุคคลข้ามเพศ ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศแตกต่างจากเพศสรีระอันเป็นเพศแต่กำเนิด รวมทั้งยังมีประเด็นทัศนคติของผู้ใช้ห้องน้ำร่วมกับกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่ยังอาจขาดความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ

ดังนั้น เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศและขจัดการเลือกปฏิบัติในเรื่องนี้ กสม. จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะไปยังคณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยให้หน่วยงานของรัฐและเอกชนผู้ถูกร้องทั้ง 36 แห่ง รวมถึงหน่วยงานที่กำกับดูแล พิจารณาปรับปรุงห้องน้ำที่มีอยู่ หรือปรับเปลี่ยนห้องน้ำบางส่วนให้เป็นห้องน้ำสำหรับบุคคลทุกเพศ และเคารพซึ่งเจตจำนงส่วนบุคคลของคนที่มีความหลากหลายทางเพศที่จะสามารถใช้ห้องน้ำตามเพศสภาพหรืออัตลักษณ์ทางเพศของตน

นอกจากนี้ ระยะสั้น ให้ ครม. มอบหมายหน่วยงานของรัฐ พิจารณากำหนดนโยบาย มาตรการ หรือแนวทางในการใช้ห้องน้ำในสถานที่ราชการ และหน่วยงานอื่นในกำกับของรัฐ โดยส่งเสริมให้บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถใช้ห้องน้ำได้ตามเพศสภาพหรืออัตลักษณ์ทางเพศตามเจตจำนงของตนได้ โดยให้พิจารณาบริหารจัดการห้องน้ำที่มีอยู่แล้ว หรืออาจเพิ่มเติมห้องน้ำสำหรับบุคคลทุกเพศนอกเหนือไปจากห้องน้ำชาย ห้องน้ำหญิง และห้องน้ำคนพิการ ระยะยาว ให้ ครม. มอบหมายหน่วยงานของรัฐ ศึกษา และออกแบบการจัดทำห้องน้ำ ว่า ห้องน้ำสาธารณะควรมีลักษณะอย่างไรจึงจะรองรับการใช้งานของบุคคลทุกคนได้อย่างเหมาะสม เป็นไปตามหลักความเสมอภาคของบุคคล เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือระเบียบกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดให้มีห้องน้ำ ที่สามารถรองรับการใช้งานของบุคคลทุกเพศ ทุกวัย และมอบหมายกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และหน่วยงานที่จัดบริการสาธารณะอื่นที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศให้แก่บุคลากรภาครัฐและประชาชนทั่วไป ส่วนของภาคเอกชน ขอให้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประสานความร่วมมือและส่งเสริมให้ภาคเอกชนคำนึงถึงสิทธิและความเสมอภาคทางเพศ รวมทั้งมีนโยบายส่งเสริมให้มีการปรับปรุงห้องน้ำเพื่อรองรับบุคคลทุกเพศ ตลอดจนสนับสนุนให้บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถใช้ห้องน้ำได้ตามเพศสภาพหรืออัตลักษณ์ทางเพศตามเจตจำนงของตน บนพื้นฐานของหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGPs) ประกอบกับหลักการ SOGIESC ซึ่งปรากฏอยู่ในหลักการยอกยาการ์ตา 10+ อันเป็นแนวปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ


กำลังโหลดความคิดเห็น