กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แนะ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กำชับลูกน้องปฏิบัติตามระเบียบ กม.เคร่งครัด หลังมีผู้ร้องถูกยึดทรัพย์สินและไม่คืนกว่า 14 ปี ชี้ ละเมิดสิทธิ์ เตรียมยื่น ป.ป.ช.ดำเนินการต่อ
วันนี้ (24 ก.พ.) นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า ในการประชุม กสม. เมื่อวันที่ 21 ก.พ. ได้พิจารณาคำร้องและข้อเท็จจริงกรณีผู้ต้องขังรายหนึ่ง ที่ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำกลางเขาบิน จ.ราชบุรี อ้างว่า เมื่อเดือน ธ.ค. 2549 ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจภูธรนครชัยศรี จ.นครปฐม จับกุมในความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ 2522 และ พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยึดทรัพย์สินไว้เป็นของกลางในคดีอาญาหลายรายการ เช่น สร้อยคอทองคำ แหวนทองคำ พระเลี่ยมทอง สมุดบัญชีเงินฝาก สมุดคู่มือจดทะเบียนรถ และอาวุธปืนสั้น ต่อมาศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดไม่ริบทรัพย์สินดังกล่าว ซึ่งผู้ร้องได้ติดต่อขอรับคืนทรัพย์สินแล้วหลายครั้ง แต่ยังไม่ได้รับคืน
โดย กสม.เห็นว่า สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) มีหนังสือตั้งแต่เดือน ก.ค. 50 ถึงผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรนครชัยศรี แจ้งผลการตรวจสอบรายการทรัพย์สินของผู้ร้องที่ถูกจับกุม โดยระบุยังไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าทรัพย์สินดังกล่าวเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จึงไม่มีคำสั่งให้ตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ร้อง ประกอบกับศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อเดือน ต.ค. 53 ให้คืนทรัพย์สินแก่ผู้ร้อง ผู้ร้องจึงได้ให้ญาติติดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรนครชัยศรี เพื่อขอรับคืนทรัพย์สินแล้วหลายครั้ง แต่ทรัพย์สินดังกล่าวได้สูญหายไป ภายหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขอชดใช้ค่าเสียหายบางรายการเป็นเงินจำนวน 160,000 บาท แต่มีทรัพย์สินบางรายการ คือ สมุดคู่มือจดทะเบียนรถ ที่ผู้ร้องยังไม่ได้รับคืน ซึ่งการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้รีบดำเนินการส่งคืนทรัพย์สินให้แก่ผู้ร้องภายในเวลาอันควร ต้องให้ผู้ร้องติดตามทวงถามและร้องเรียนต่อหน่วยงานอื่นๆ จึงยอมขอชดใช้ค่าเสียหาย โดยเป็นการชดใช้หลังจากที่ผู้ร้องได้ร้องเรียนต่อ กสม. เพื่อขอให้ตรวจสอบ และเป็นระยะเวลากว่า 14 ปี นับแต่วันที่สำนักงาน ป.ป.ส. มีคำสั่งไม่ตรวจสอบทรัพย์สิน รวมทั้งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้คืนรายการทรัพย์สินแก่ผู้ร้อง การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ถูกร้องจึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ส่งผลกระทบต่อสิทธิของบุคคลในทรัพย์สิน เป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้ร้องสูญหาย อันเป็นการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 60 มาตรา 37 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 85 และไม่เป็นไปตามประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี ลักษณะ 15 บทที่ 1 ข้อ 415 ที่กำหนดไว้ รวมทั้งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ร้อง
ทั้งนี้ กสม.ยังมีมติให้เสนอแนะมาตรการในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) โดยให้ สตช. ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนและเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้ร้องสูญหาย กำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดทั่วประเทศที่มีหน้าที่จัดการหรือรักษาทรัพย์ของกลางในคดีอาญาให้ปฏิบัติตามกฎหมายและประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดีอย่างเคร่งครัด เพื่อมิให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินซึ่งเป็นของกลางในคดีอาญา และส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อพิจารณาตามหน้าที่และอำนาจต่อไป