xs
xsm
sm
md
lg

กสม.ชี้ รัฐใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์โควิด เอาผิดม็อบพร่ำเพรื่อ กระทบเสรีภาพชุมนุม-แสดงออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กสม.ห่วงรัฐใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด ดำเนินคดีผู้ชุมนุมพร่ำเพรื่อ กระทบเสรีภาพชุมนุม-แสดงออก จี้ ต้องไม่ปิดกั้นเกินกว่าเหตุและไม่ได้สัดส่วนกับการควบคุมโรค

วันนี้ (17 ก.พ.) นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า ที่ประชุมกสม.เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 65 มีมติรับคำร้อง นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยและพวก ที่ยื่นร้องเมื่อ 31 ม.ค. 65 ขอให้ตรวจสอบการใช้ พ.ร.ก การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ดำเนินคดีกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ภายหลัง นายสมยศ และพวก ถูกตั้งข้อกล่าวหาในคดีอาญาฐานชุมนุมโดยฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการรวมตัวเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ณ สำนักงานสหประชาชาติ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2564 ไว้ดำเนินการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยมอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักคุ้มครองสิทธิมนุษยชนดำเนินการ

ทั้งนี้ เนื่องจาก กสม.เห็นว่า การที่ นายสมยศ และพวก ใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมโดยสงบตามที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 และมาตรา 44 รวมทั้งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 19 และข้อ 21 ในการยื่นหนังสือร้องเรียนรัฐบาลที่กระทำการอันอาจเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ณ สำนักงานสหประชาชาติ กรุงเทพฯ ในวันดังกล่าว แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งความดำเนินคดีอาญาข้อหาชุมนุมโดยฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อาจมีประเด็นเกี่ยวกับสิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิในการแสดงความคิดเห็นและสิทธิในการชุมนุม 

ซึ่งในประเด็นการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดย กสม. เคยมีรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีการชุมนุมทางการเมืองระหว่างเดือน ก.ค.- ก.ย. 64 พร้อมข้อเสนอแนะแจ้งไปยังนายกรัฐมนตรีเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2564 ว่า แม้ว่ารัฐบาลมีความชอบธรรมในการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในการจัดการและควบคุมการชุมนุมด้วยเหตุผลเพื่อเป็นการป้องกันภัยทางสาธารณสุข ประกอบกับเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบอาจถูกจำกัดได้ แต่เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบนั้น มีคุณค่าและมีความสำคัญมากในระบอบประชาธิปไตย การบังคับใช้กฎหมายเพื่อจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบจะต้องสอดคล้องกับหลักความพอสมควรแก่เหตุ กล่าวคือ จะต้องไม่ทำให้ประชาชนไม่สามารถใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบได้โดยสิ้นเชิง แม้จะเป็นช่วงเวลาที่มีการแพร่ระบาดของโรคก็ตาม การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อควบคุมการชุมนุมของรัฐบาลมีแนวโน้มเป็นการห้ามการชุมนุมแบบเหมารวมและห้ามชุมนุมโดยเด็ดขาด และไม่ได้สัดส่วนระหว่างเสรีภาพในการชุมนุม กับความปลอดภัยสาธารณะหรือการป้องกันภัยทางสาธารณสุข ซึ่ง กสม. ได้มีข้อเสนอแนะให้คณะรัฐมนตรีหลีกเลี่ยงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมดูแลความสงบเรียบร้อยในการชุมนุม เนื่องจากวัตถุประสงค์ของการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นไปเพื่อป้องกันภัยร้ายแรงที่กระทบต่อความมั่นคง และไม่อาจนำไปใช้ในการชุมนุมทางการเมืองทั่วไป

“กสม. มีความห่วงกังวลเป็นอย่างมากต่อการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ดำเนินคดีประชาชนซึ่งรวมกลุ่มกันเพื่อแสดงออกถึงข้อเรียกร้องทางการเมืองและข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในหลายกรณีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมของกลุ่มเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นเมื่อปลายปี 64 หรือการชุมนุมของกลุ่มพีมูฟเมื่อต้นเดือน ก.พ. 65 ซึ่งประชาชนหลายคนต้องถูกดำเนินคดีอาญาข้อหาชุมนุมโดยฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กสม.จึงขอเน้นย้ำให้รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชนที่มิควรถูกปิดกั้น หรือถูกจำกัดอย่างเกินสมควรแก่เหตุ และไม่ได้สัดส่วนกับการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค”


กำลังโหลดความคิดเห็น