xs
xsm
sm
md
lg

“ทนายอนันต์ชัย” พาเจ้าของ รง.เยลลี่ ร้อง ป.ป.ช.เอาผิด 5 จนท.DSI กล่าวหากักขังต่างด้าว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ทนายอนันต์ชัย” พา 3 แม่ลูกเจ้าของโรงงานทำขนมเยลลี่ ร้อง ป.ป.ช. เอาผิด 5 จนท.DSI ปมกล่าวหากักขังแรงงานต่างด้าว

วันนี้ (28 ก.พ.)จากกรณีที่เจ้าหน้าที่ DSI พร้อมหน่วยงานราชการอีกหลายหน่วย ได้บุกเข้าไปช่วยเหลือแรงงานชาวเมียนมา จำนวน 18 คน ภายในโรงงานทำขนมเยลลี่ ย่านลาดพร้าว-วังหิน เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2564 พร้อมทั้งกล่าวหาว่าเจ้าของโรงงาน “กักขัง-ค้ามนุษย์” ล่าสุด ทนายกระดูกเหล็ก พา 3 แม่ลูกเจ้าของโรงงานทำขนมเยลลี่ บุก ป.ป.ช. ร้องเอาผิด 5 เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ ฐานฟังความเท็จจาก 15 แรงงานชาวเมียนมา ว่ามีแรงงานถูกขัง พร้อมยัดข้อหาฉกรรจ์

ทนายอนันต์ชัย ไชยเดช ฉายา ทนายกระดูกเหล็ก พร้อมด้วย นางสาวสุธิดา เนาวรุ่งโรจน์ ,นายจักรกฤษณ์ และนางสาวลักษมน วิบูลย์ลักษณากุล 3 แม่ลูกเจ้าของโรงงานทำขนมเยลลี่ ได้นำหลักฐานยื่นแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบ 5 เจ้าหน้าที่ DSI ในข้อหา เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ,เป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานสอบสวนหรือ เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาหรือจัดการให้เป็นไปตามหมายอาญา กระทำการหรือไม่กระทำการ อย่างใดๆ ในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ เป็นการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดต้องรับโทษ รับโทษหนักขึ้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ,มาตรา 200 และมาตรา 83

สืบเนื่องจากนายเอกรินทร์ ดอนดง ผู้อำนวยการส่วนคดีการค้ามนุษย์1 กรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมนายพิสิษฐ์ จันทร์เรื่อง ,นางวรภัสสร พันธ์เกษม ,นายจิรภัทร ระฆัง และนายภาณุ ปิ่นทอง เจ้าหน้าที่คดีพิเศษชำนาญการ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความอาญา มาตรา 131 โดยมิได้รวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิดเท่าที่สามารถจะทำได้ ไม่ได้สอบสวนเพื่อนบ้านข้างเคียง เพื่อหาข้อเท็จจริง และพฤติการณ์ต่างๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา เพื่อผู้กระทำผิด และพิสูจน์ให้เห็นความผิด หรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา โดยมิได้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา พิสูจน์แต่ความผิดอย่างเดียว

และเมื่อ 3 แม่ลูกเจ้าของโรงงานทำขนมเยลลี่ มาอยู่ต่อหน้า ก็มิได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 วรรคสาม และวรรคสี่ โดยไม่ให้โอกาสแก้ข้อหา และแสดงพยานหลักฐานข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์แก่ 3 แม่ลูกเจ้าของโรงงานทำขนมเยลลี่ อีกทั้งได้แจ้งก่อนสอบคำให้การว่า ไม่ประสงค์จะให้การ ขอให้การในวันหลังก็ไม่ยินยอม อันเป็นความผิดตามมาตรา 134/4 (1) และยังข่มขู่ในระหว่างการสอบสวนว่า หากไม่ให้การ ก็จะไม่ให้ประกันตัว ตามมาตรา 135

ซึ่งในระหว่างสอบสวนนานกว่า 7 ชั่วโมง ก็ไม่ได้สอบสวนอย่างรวดเร็วต่อเนื่อง และเป็นธรรม ก่อนจะยัดเข้าห้องขังอีก 8 ชั่วโมง โดยไม่ให้ประกันตัวในชั้นพนักงานสอบสวน หลังจากที่ประกันตัวแล้ว ก็ยังหลอกล่อว่ายังสามารถยื่นเอกสารประกอบคำให้การได้ แต่ในที่สุดก็ฟ้องคดี ซึ่งมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 200 โดยเฉพาะกรณี บริษัท แอบโซลูท แม็ก ซิมัม จำกัด ซึ่งมิได้ดำเนินกิจการใดๆ เลย และจึงมิได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา แต่มีเจตนากลั่นแกล้ง ฟ้องคดีให้ได้รับโทษทางอาญา

ทั้งนี้ ทาง 3 แม่ลูกเจ้าของโรงงานทำขนมเยลลี่ จึงได้ยื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช. เพื่อเอาผิดกับนายจิรภัทร ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยมีเจตนาข่มขู่ นางสาวทัศวรรณ หากไม่ส่งเอกสาร จะออกหมายเรียกนางสาวทัศวรรณ ไปกรมสอบสวนคดีพิเศษอีกครั้ง อันมีลักษณะข่มขู่คุกคาม อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ส่วนนายภานุ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยการพูดโน้มน้าว จูงใจ เพื่อจะให้วิ่งความ นายเอกรินทร์ ,นายพิสิษฐ์ และนางวรภัสสร ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสั่งคดี โดยมิได้สอบข้อเท็จจริงให้ปรากฏตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131 โดยมุ่งพิสูจน์ความผิด แต่มิได้มุ่งพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ของ 3 แม่ลูกเจ้าของโรงงานทำขนมเยลลี่ รวมถึง 2 บริษัทแต่อย่างใด






กำลังโหลดความคิดเห็น