ศูนย์สิทธิผู้บริโภค กทม. ยื่นร้อง “อรรถวิชช์” หนุนค้านต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว 30 ปี หวั่นเสียโอกาสลดค่าตั๋ว อย่าเอาหนี้มาเป็นเงื่อนไขสัมปทาน ขอรัฐคิดปกป้องผลประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก ยังเหลือเวลาทบทวนอีกหลายปีก่อนหมดสัญญาปี 72
วันนี้ (21 ก.พ.) ตัวแทนศูนย์สิทธิผู้บริโภคจากหลายเขตใน กทม. ทั้งยานนาวา สาทร ลาดพร้าว ราชเทวี หลักสี่ ได้ยื่นหนังสือต่อ นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า เพื่อ ขอให้สนับสนุนเครือข่ายในการคัดค้านการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวไปอีก 30 ปี
นายอรรถวิชช์ กล่าวว่า พรรคกล้ายินดีร่วมต่อสู้บนแนวทางที่ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน โดยมองว่าถ้าเอาหนี้ไปแลกกับสัมปทาน เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาของรัฐ แต่ไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาให้ประชาชน เพราะจะทำให้เงื่อนไขการคิดค่าบริการแพงสูงกว่า 1 ใน 4 ของค่าครองชีพขั้นต่ำ อยู่กับเราไปอีกจนถึงปี 2602 ซึ่งเป็นการต่อขยายเวลานานเกินไป และค่าบริการประเทศอื่นไม่สูงขนาดนี้ จึงอยากให้รัฐบาลทบทวนให้ดี เพราะยังเหลือเวลาอีกหลายปีกว่าจะหมดสัญญาสัมปทานปี 2572
“อะไรที่รัฐเป็นหนี้กับบีทีเอสก็ต้องจ่าย แต่เรื่องหนี้ต้องแยกออกจากเรื่องสัมปทาน และคงไม่ใช่แค่เรื่องของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงคมนาคม แต่จะต้องปรึกษากระทรวงการคลัง ถึงโอกาสที่จะตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure fund) มาร่วมระดมทุนระหว่างภาครัฐและประชาชน เพื่อใช้หนี้แยกกับการต่อสัมปทาน ไม่เช่นนั้น ถ้าให้สัมปทานเอกชนไปเรื่อยๆ แบบนี้ มันจะมีปัญหาทางไกล เพราะรัฐจะควบคุมราคาไม่ได้ เพราะเอกชนจะเป็นคนคิดต้นทุน และจะเสียโอกาสพัฒนาโครงข่ายขนส่งที่เชื่อมต่อกันทั้งระบบแบบใยแมงมุม”
นางสำลี ศรีระพุก ประธานศูนย์สิทธิผู้บริโภค เขตยานนาวา กล่าวว่า กลุ่มเราขับเคลื่อนรวมกับสภาของผู้บริโภค มาตั้งแต่ที่จะกำหนดราคาค่าตั๋วสุดสายที่ 104 บาท จนปัจจุบันจะประกาศออกมาใช้ว่าสุดสายอยู่ที่ 65 บาท แต่ก็ยังมองว่าเป็นราคาที่สูงอยู่ ขณะเดียวกันค่าแรงขั้นต่ำรายได้ก็ไม่เยอะ การดำรงชีพ มีค่าใช้จ่ายสูงอยู่แล้ว การขึ้นรถไฟฟ้าไม่ใช่ขึ้นแค่จุดเดียวแล้วถึงบ้าน ไหนจะมาต่อมอเตอร์ไซค์ ต่อรถอีก ค่าแรงก็น้อยอยู่แล้ว ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ เป็นภาระที่ผู้บริโภคต้องแบกรับไว้ จึงอยากให้รัฐบาลได้มองและทบทวนเรื่องนี้ เห็นใจประชาชนผู้บริโภคบ้าง