นายกฯ ย้ำ ฟื้นความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบีย เป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของรัฐบาล สร้างโอกาสให้ไทยในหลายด้าน
วันนี้ (18 ก.พ.) เวลา 19.00 น. ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชั้น 2 อาคารรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 3 ครั้งที่ 32 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการเยือนประเทศซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการ เน้นย้ำความสำคัญของการส่งเสริมความสัมพันธ์ฉันมิตรของสองราชอาณาจักร และการเปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย เป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของรัฐบาลไทยซึ่งสร้างโอกาสให้แก่ไทยในหลายด้าน ทั้งนี้ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 65 ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว. กระทรวงกลาโหมแห่งซาอุดีอาระเบีย ระหว่างการเยือนประเทศซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการ โดยทั้ง 2 ฝ่าย ได้ยืนยันความตั้งใจร่วมกันในการสะสางประเด็นที่ค้างคาในอดีตทั้งหมด รวมทั้งยังเน้นย้ำความสำคัญของการส่งเสริมความสัมพันธ์ฉันมิตรของสองราชอาณาจักร และการเปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย โดยการฟื้นความสัมพันธ์ในครั้งนี้นับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของรัฐบาลไทยซึ่งสร้างโอกาสให้แก่ไทยในหลายด้าน ได้แก่ 1. ด้านแรงงานจากนโยบาย Vision 2030 ของซาอุดีอาระเบียที่มุ่งขยายการลงทุนในหลายภาคอุตสาหกรรมส่งผลให้มีความต้องการแรงงานเข้าสู่ระบบเป็นจำนวนมาก จึงเพิ่มช่องทางให้แก่แรงงานไทยซึ่งจัดว่าเป็นแรงงานคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในซาอุดีอาระเบียได้มากกว่าแสนคนในอนาคต 2. ด้านการท่องเที่ยว การกระชับความสัมพันธ์และยกเลิกวีซ่าจะช่วยให้นักท่องเที่ยวซาอุดีอาระเบียเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้น โดยคาดการณ์ว่า จะมีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาหลังจากนี้อีกมากกว่า 150,000 คน ซึ่งจะช่วยผลักดันเม็ดเงินเข้ามาในประเทศได้อีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในส่วนของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ Health Tourism ที่ “นักท่องเที่ยวระดับพรีเมียม” นิยมเดินทางมาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในไทย 3. ด้านการค้าและการลงทุน การร่วมวิจัยและลงทุน ทั้งในรูปแบบพลังงานดั้งเดิม พลังงานสะอาด และพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ชาติของทั้งสองประเทศ โดยซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศผู้ค้าและมีแหล่งสำรองน้ำมันเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และมีวิทยาการด้านพลังงานที่ทันสมัย ส่วนไทยก็มีเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่พร้อมรองรับการวิจัย พัฒนา และการลงทุนแห่งอนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามนโยบาย BCG Economy ของไทย ซึ่งสอดรับกับนโยบายเศรษฐกิจของซาอุดีอาระเบีย
นอกจากนี้ ยังอาจมีการขยับขยายข้อตกลงเพิ่มเติมในด้านน้ำมันดิบ ซึ่งการผูกมิตรกับซาอุดีอาระเบียที่ถือเป็นประเทศส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก อาจมีหนทางช่วยบรรเทาปัญหาราคาน้ำมันได้มากขึ้นอีกทางหนึ่ง และช่วยลดผลกระทบด้านราคาพลังงานที่เกิดขึ้นในอนาคตได้ และการกลับมาเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศจะส่งผลให้ธุรกิจหลายประเภทในไทยมีโอกาสขยับขยายตลาดไปหาผู้บริโภคใหม่ๆ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจอาหาร สินค้าเกษตร เครื่องประดับ ไปจนถึงสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งอาจช่วยเพิ่มปริมาณการค้าของไทยกับซาอุดีอาระเบียจากเดิม 4.5 หมื่นล้านบาทให้ไปถึง 1.5 แสนล้านบาท เหมือนก่อนปี 2532
นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งวาง Roadmap เพื่อขยายความร่วมมือระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบียในด้านต่างๆ โดยล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ได้หารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในการสนับสนุนการส่งออกสินค้าจากไทยไปยังซาอุดีอาระเบีย ในส่วนของภาคแรงงานซึ่งเป็นที่ต้องการของซาอุดีอาระเบียจำนวนมาก กระทรวงแรงงานได้ประสานความร่วมมือไปยังสำนักงานแรงงานซาอุดีอาระเบียในการรวบรวมข้อมูลความต้องการแรงงานประเภทต่างๆ ของตลาดแรงงานซาอุดีอาระเบีย เพื่อเตรียมความพร้อมแรงงานไทยในการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มทักษะ upskill and reskill ให้สอดคล้องกับความต้องการของซาอุดีอาระเบีย โดยเมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะมีการลงนามระหว่าง รมว. แรงงาน และ รมว. กระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสังคมแห่งซาอุดีอาระเบียต่อไป