สนง.ก่อสร้างกรมชลฯเผยโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองสังข์ มีความคืบหน้า45 เปอร์เซนต์แล้ว คาดพื้นที่ได้รับประโยชน์ กว่า 2.2 หมื่นไร่ ช่วยบรรเทาภัยแล้ง-อุทกภัยให้ปชช.ในพื้นที่ตลอดทั้งปี
นายนนทภักดิ์ สุขสบ ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลกรุงหยัน กล่าวว่าต.กรุงหยัน อ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช ตั้งอยู่ด้านตะวันตกของเทือกเขาบรรทัด พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มสลับภูเขาหินปูนเป็นหย่อมๆ มีแนวเขานางนอนที่ในอดีตถูกแผ้วถางทำไร่ทำให้พื้นที่มีความชื้นน้อย ในฤดูฝนจะมีฝนตกชุกเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากเทือกเขาบรรทัด แต่ในฤดูแล้งจะแห้งแล้งด้วยเพราะไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำในพื้นที่ จากสภาพภูมิประเทศเมื่อสังคมขยายทั้งประชากรและที่ทำกิน ต.กรุงหยัน จึงเป็นเสมือนไข่แดงดินแดนอับน้ำฝน เพราะน้ำจากเทือกเขาบรรทัดจะถูกใช้ในพื้นที่โดยรอบเป็นส่วนใหญ่ 10 กว่าปีที่ผ่านมาพื้นที่ประสบกับภาวะแล้งจัดมาอย่างต่อเนื่อง จนโรงพยาบาลทุ่งใหญ่ต้องไปซื้อน้ำเพื่อนำมาใช้ในโรงพยาบาลจากเทศบาลคลองจันดี เนื่องจากคลองจันดีมีลำน้ำที่ไหลตรงลงมาจากเทือกเขาบรรทัด
“น้ำตรงนี้ถือเป็นหัวใจหลัก ตอนนี้มีโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำขึ้นมาในพื้นที่ผมก็เห็นด้วย อย่างน้อย ๆ เวลาลูกหลานไปรักษาที่โรงพยาบาลจะได้ไม่ขาดแคลนน้ำ ก็ดีใจที่จะมีอ่างเก็บน้ำในพื้นที่”
นายนนทภักดิ์กล่าวว่าเมื่อวันที่ 26 ม.. ที่ผ่านมา พล.อ.กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคใต้ และพล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท องคมนตรี รองประธานฯ พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ เพิ่มเกษร รองเลขาธิการ กปร. และ คณะอนุกรรมการฯ ได้เดินทางไปยังพื้นที่ที่จะมีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองสังข์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านกรุงหยัน หมู่ที่ 2 ต.กรุงหยัน อ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช เพื่อติดตามผลการดำเนินงานโครงการฯ ซึ่งเป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริให้พิจารณาก่อสร้างโครงการฯ เพื่อบริหารจัดการน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกในเขตอ.ทุ่งใหญ่ ซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 70,000 ไร่ ให้มีน้ำตลอดทั้งปี รวมทั้งการเลี้ยงสัตว์
ทั้งนี้พล.อ.กัมปนาท กล่าวว่า ด้วยงบประมาณของประเทศที่มีจำกัด ฉะนั้นการพิจารณาแต่ละโครงการจะต้องทำด้วยความรอบคอบ และเกิดประโยชน์ต่อประชาชนเป็นส่วนรวม โครงการนี้เป็นพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งทรงพระราชทานไว้ ตลอดมาส่วนงานที่เกี่ยวข้องได้ช่วยกันผลักดันเพื่อให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้มีน้ำกินน้ำใช้เพียงพอต่อการทำการเกษตร
“เข้าใจดีว่าทุกโครงการจะมีทั้งประชาชนที่ได้รับประโยชน์ และผู้เสียประโยชน์ โดยเฉพาะเรื่องของพื้นที่ที่ต้องนำมาใช้เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ฉะนั้นผู้ที่จะได้รับผลกระทบทางจังหวัดก็จะเข้ามาดูแล เช่น การจัดสรรที่ดินทำกินแห่งใหม่อะไรต่าง ๆ ให้ ประชาชนทุกคนเป็นพสกนิกรเราจะไม่ทิ้งใคร เราจะไปด้วยกัน เดินไปด้วยกัน มีปัญหาอะไรก็พูดคุยกัน ไม่ปิดกั้นกัน สำหรับโครงการฯ นี้ ประโยชน์มีมากมายจริง ๆ” องคมนตรี กล่าว
ด้านนายสุรชัย โกยทรัพย์ หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรมสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 15 กรมชลประทาน กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมชลประทานได้เริ่มโครงการระยะที่หนึ่ง คือ สร้างฝายคลองสังข์พร้อมระบบส่งน้ำ ช่วยให้พื้นทำกินของราษฎรกว่า 11,200 ไร่ สามารถสูบน้ำมาใช้ประโยชน์ได้ ในปี 2562 ได้เริ่มก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองสังข์ฯ เพื่อเก็บกักน้ำต้นทุนสนับสนุนฝายคลองสังข์ เมื่อแล้วเสร็จจะสามารถเปิดพื้นที่ได้รับประโยชน์ทางด้านท้ายฝายอีก 10,800 ไร่ รวมพื้นที่ได้รับประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากโครงการฯ อยู่ที่ประมาณ 22,000 ไร่ ซึ่งปัจจุบันการก่อสร้างคืบหน้าไปแล้วกว่า 45%” นายสุรชัย กล่าว
อย่างไรก็ตามสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ได้สนองพระราชดำริโดยสนับสนุนงบประมาณในปี 2561 ให้กรมชลประทาน ดำเนินกิจกรรมเบื้องต้น และงานส่วนประกอบ โดยเป็นเขื่อนดินประเภททำนบดินแบ่งโซน (Zone Type) เพื่อปิดกั้นลำคลองสังข์ สามารถเก็บกักน้ำได้ 36.57 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อโครงการฯ แล้วเสร็จจะสามารถส่งน้ำสนับสนุนการอุปโภคบริโภคให้แก่ราษฎรบ้านกรุงหยัน หมู่ที่ 2 บ้านหมู่บ้านป่าไม้ หมู่ที่ 4 บ้านป่าคลองกรุงหยัน หมู่ที่ 5 บ้านถ้ำเพดาน หมู่ที่ 7 และบ้านบ่อปลา หมู่ที่ 8 ต.กรุงหยัน อ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช ประมาณ 1,887 ครัวเรือน ราษฎร 6,123 คน และพื้นที่การเกษตรประมาณ 22,000 ไร่ ได้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี รวมทั้งสามารถบรรเทาภัยแล้ง และอุทกภัยให้แก่ราษฎรในพื้นที่ซึ่งประสบความเดือดร้อนเป็นประจำทุกปีอีกด้วย