xs
xsm
sm
md
lg

ชป.เร่งเครื่องงานระบบส่งน้ำคลองลำกง -อ่างห้วยน้ำเฮี้ย แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมชลฯเร่งเครื่องงานระบบส่งน้ำคลองลำกง และ อ่างฯห้วยน้ำเฮี้ย จ.เพชรบูรณ์ หวังแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและ เกษตรกรรม

วันนี้(29 ม.ค. 65) ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ นายชูชาติ รักจิตร รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายสุริยพล นุชอนงค์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง และนายกฤษณ์ ชุมแสงศรี ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 10 และผู้เกี่ยวข้องลงพื้นที่ไปติดตามและเร่งรัดการดำเนินงานโครงการระบบส่งน้ำอ่างเก็บน้ำคลองลำกง และโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำเฮี้ย จังหวัดเพชรบูรณ์ หวังแก้ปัญหาภัยแล้งและเสริมความมั่นคงด้านน้ำในพื้นที่

นายชูชาติ รักจิตร รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน โดยสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 10 ได้ดำเนินการก่อสร้างระบบส่งน้ำอ่างเก็บน้ำคลองลำกง ตำบลวังท่าดี อำเภอหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและ เกษตรกรรม ซึ่งอยู่ในแผนงานระยะเร่งด่วนของโครงการพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำป่าสักตอนบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ลักษณะโครงการแบ่งเป็นระบบท่อส่งน้ำและระบบคลองส่งน้ำ ความยาวรวมประมาณ 99 กิโลเมตร และระบบคลองระบายน้ำฝั่งซ้าย-ขวา รวม 23 สาย ความยาวรวม 44 กิโลเมตร ระยะเวลาดำเนินการ 8 ปี (ปี 2562-2569) มีพื้นที่รับประโยชน์กว่า 50,000 ไร่ ในเขตตำบลท่าแดง ตำบลวังท่าดี ตำบลวังโบสถ์ ตำบลบ่อไทย อำเภอหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์ ปัจจุบันมีความคืบหน้าไปแล้วประมาณร้อยละ 38 ได้สั่งการให้ปรับการดำเนินการให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2568 และงานก่อสร้างระบบส่งน้ำที่แล้วเสร็จแต่ละปี ต้องส่งน้ำให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์เป็นช่วงๆด้วย

สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำเฮี้ย ตำบลบ้านเนิน อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ปัจจุบันมีความคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 80 คาดว่าจะเปิดใช้งานและเก็บน้ำได้ในช่วงปลายปี 2565 หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะเก็บกักน้ำได้ประมาณ 5.40 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นแหล่งน้ำต้นทุนที่จะช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และการเกษตร ในพื้นที่อำเภอหล่มเก่าและอำเภอหล่มสัก มีพื้นที่รับประโยชน์ในเขตโครงการฯ ในฤดูฝนประมาณ 4,500 ไร่ และฤดูแล้งอีกประมาณ 900 ไร่

ทั้งนี้ได้กำชับให้ควบคุมคุณภาพงานก่อสร้างให้เป็นไปตามข้อกำหนดทางวิศวกรรม และเร่งรัดให้งานแล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้เริ่มเก็บน้ำได้ในปี 2565 ซึ่งจะทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์ได้เร็วขึ้น ช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้นในอนาคตอันใกล้








กำลังโหลดความคิดเห็น