xs
xsm
sm
md
lg

“สถิตย์” แนะทุกกระทรวงจำแนกประเภทสินค้าระบบฮาร์โมไนซ์ อาเซียนควรใช้อัตราอากรเหมือนกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ส.ว.สถิตย์” อภิปรายพิกัดอัตราศุลกากร แนะกำหนดให้การจำแนกประเภทสินค้าระบบฮาร์โมไนซ์ใช้เป็นการทั่วไปทุกกระทรวง สู่การทำซิงเกิลวินโดว์ อาเซียนควรใช้อัตราอากรเหมือนกัน เพื่อเป็นสหภาพศุลกากรอาเซียน

วันนี้ (24 ม.ค.) ที่ประชุมวุฒิสภา ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายเรื่อง ร่างพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๖๔
โดยระบุว่า พิกัดอัตราศุลกากร แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนที่ ๑ คือ พิกัดศุลกากร ซึ่งเป็นการจำแนกประเภทสินค้า และส่วนที่ ๒ คือ อัตราศุลกากร เป็นการกำหนดอัตราอากรเพื่อการชำระภาษี ในส่วนที่เกี่ยวกับพิกัดศุลกากรนั้นเป็นการจำแนกประเภทสินค้าออกมาเป็นประเภทต่างๆ โดยใช้ตัวเลขเป็นรหัสสินค้า แต่เดิมการจำแนกประเภทสินค้าในโลกมีหลายประเภท ในทางการค้าจำแนกเป็นตัวเลขแบบหนึ่ง ในทางการขนส่งจำแนกตัวเลขอีกแบบหนึ่ง ในกิจกรรมอื่นจำแนกตัวเลขไปอีกแบบหนึ่ง หรือแม้ในทางการค้ากันเองก็จำแนกประเภทไปหลายแบบ จึงได้มีการคิดกันในระดับโลก โดยองค์กรศุลกากรโลกเป็นหลักว่า การจำแนกประเภทสินค้าของโลกควรจะเป็นระบบเดียวกัน ในที่สุดจึงได้พัฒนาเป็น ระบบฮาร์โมไนซ์ (Harmonized System : HS) ชื่อเต็มว่า The Harmonized Commodity Description and Coding System ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฮาร์โนซ์และได้นำมาประกาศเป็นกฎหมายไทย โดยตราเป็นพระราชกำหนดฉบับที่ ๑ เมื่อปี ๒๕๓๐ ด้วยการเปลี่ยนแปลงทางสินค้าของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าใหม่ๆ อย่างเช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ จึงทำให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงการจำแนกประเภทสินค้าของระบบฮาร์โมไนซ์ทุกๆ ๕ ปี ตั้งแต่ปี ๒๕๓๐ จนถึงปี ๒๕๖๕ การจำแนกระบบบฮาร์โมไนซ์ จำแนกออกเป็นรหัสตัวเลข ๖ หลัก แต่ระดับอาเซียนเห็นว่าการจำแนกในระดับ ๖ หลักไม่ละเอียดพอ อาเซียนจึงจำแนกในระดับ ๘ หลัก ประเทศไทยอยู่ในอาเซียนจึงใช้ระบบฮาร์โมไนซ์ในระดับอาเซียน ที่เรียกว่า อาเซียนฮาร์โมไนซ์ แทริฟโนเมนเคเจอร์ (ASEAN Harmonized Tariff Nomenclature : AHTN) ก่อนที่จะมาเป็นพระราชกำหนดฉบับนี้ ได้ผ่านการพิจารณาขององค์กรศุลกากรโลกมาเป็นเวลาพอสมควร ในระดับอาเซียนก็ได้พิจารณากันเป็นเวลานาน จึงลงตัวออกมาเป็นระบบฮาร์โมไนซ์ในระดับอาเซียน เพราะฉะนั้น การจำแนกประเภทสินค้า โดยออกมาเป็นพระราชกำหนดฉบับนี้ จึงได้มีการพิจารณากันโดยถ่องแท้แล้ว ทั้งในระดับโลก ระดับอาเซียน และระดับกระทรวงการคลัง ระดับกรมศุลกากรของไทย
ส.ว.สถิตย์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ระบบฮาร์โมไนซ์ นอกจากจะใช้กับกรมศุลกากรแล้ว ยังใช้ในเรื่องอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับภายในประเทศยังใช้กับการห้ามนำเข้าสินค้า และการนำเข้าสินค้าที่ต้องได้รับอนุญาต ด้วยเหตุนี้จึงเสนอแนะกระทรวงการคลังว่า นอกจากจัดทำระบบฮาร์โมไนซ์เพื่อการจัดเก็บภาษีแล้ว ควรจะประสานงานกับกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ให้นำระบบฮาร์โมไนซ์เดียวกันไปใช้ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม โดยหากจะออกข้อห้าม ข้อจำกัดใด ๆ ในการนำเข้า ขอให้จำแนกประเภทสินค้าตามหลักฮาร์โมไนซ์ จะทำให้สินค้าที่เข้ามาในประเทศไทยทั้งในระบบเสียภาษี ระบบการอนุญาต และระบบข้อห้ามเป็นระบบเดียวกัน
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอัตราอากร แม้ว่าประเทศไทยจะใช้ฮาร์โมไนซ์ระดับอาเซียน แต่การกำหนดอัตราอากรนั้น เป็นอธิปไตยทางภาษีที่ประเทศไทยกำหนดได้ด้วยตนเอง ประเทศไทยเข้าร่วมกับอาเซียนมานานตั้งแต่เริ่มต้น จนกระทั่งเป็นเขตการค้าเสรี และประชาคมเศรษฐกิจ แต่อัตราอากรที่นำเข้าประเทศไทยในสินค้าประเภทเดียวกันกับที่นำเข้าในประเทศสิงคโปร์ ประเทศมาเลเซีย ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศอื่นๆ ไม่เหมือนกัน การเป็นประชาคมเศรษฐกิจที่ดีนั้น นอกจากระบบพิกัดศุลกากร ซึ่งเป็นการจำแนกประเภทสินค้าเหมือนกันแล้ว ในระดับอาเซียนอัตราอากรควรจะเหมือนกันด้วย เพื่อที่ว่าสินค้าจากประเทศที่สามนอกอาเซียน จะไม่นำเข้าไปในประเทศที่อัตราต่ำและหาทางหลีกเลี่ยงเพื่อนำเข้ามาในประเทศที่อัตราสูง แต่ถ้ากำหนดให้อัตราอากรในระดับอาเซียนเท่ากันหมดแล้วจะไม่มีปรากฏการณ์ดังกล่าว

ส.ว.สถิตย์ จึงได้เสนอแนะในทางนโยบาย ๒ ประการ
ประการที่ ๑ ควรจะกำหนดให้การจำแนกประเภทสินค้าระบบฮาโมไนซ์ใช้เป็นการทั่วไปทุกกระทรวง เป็นระบบฮาร์โมไนซ์เดียวกัน และนำไปสู่การทำซิงเกิลวินโดว์ (single window) ซึ่งยากจะเป็นไปได้ตราบใดที่การจำแนก
ประเภทสินค้าไม่เหมือนกัน
ประการที่ ๒ เรื่องอัตราอากรนั้น เพื่อความเป็นกลางทางภาษีนำเข้า หากทั้งอาเซียนใช้อัตราอากรเหมือนกันแล้ว นอกจากอาเซียนจะเป็นเขตการค้าเสรี เป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว ยังเป็นสหภาพศุลกากรอาเซียนอีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น