xs
xsm
sm
md
lg

วุฒิฯ ประชุมสัปดาห์หน้าถก พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร และ พ.ร.ก.สารต้องห้ามฯ ปลดไทยพ้นบัญชีดำ WADA

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วิปวุฒิสภาเตรียมวาระประชุมสัปดาห์หน้า จันทร์ที่ 24 ม.ค.พิจารณา พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร และ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬาฯ ให้สอดคล้องกับประมวลกฎการต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก ปลดไทยพ้นบัญชีดำ WADA นำธงไทยกลับสู่การแข่งขันกีฬานานาชาติ

วันนี้ (19 ม.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญ ได้เห็นชอบให้เผยแพร่ผลการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา ครั้งที่ 2/2565 (ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์) วันพุธที่ 19 มกราคม 2565 ซึ่งมีศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ ทำหน้าที่ประธานของที่ประชุม โดยมีเรื่องพิจารณาที่น่าสนใจ ดังนี้

1. ระเบียบวาระการประชุมวุฒิสภาที่สำคัญในสัปดาห์หน้า
การประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 18 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) วันจันทร์ที่ 24 มกราคม 2565 โดยมีระเบียบวาระสำคัญที่ต้องพิจารณา คือการพิจารณาพระราชกำหนดซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่
1) พระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2564
2) พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ. 2555 พ.ศ. 2564
2. พระราชกำหนดที่คณะรัฐมนตรีเสนอต่อวุฒิสภาเพื่อพิจารณาอนุมัติตามมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญ จำนวน 2 ฉบับ คือ
2.1 พระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2564


พระราชกำหนดฉบับนี้ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2564 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป โดยคณะรัฐมนตรีได้เสนอต่อวุฒิสภาเพื่อพิจารณาอนุมัติตามมาตรา 174 ของรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2564 ทั้งนี้ พระราชกำหนดดังกล่าวมีจำนวน 3 มาตรา มีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกความในภาค 2 พิกัดอัตราอากรขาเข้า แห่งพิกัดอัตราศุลกากรท้ายพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2559 และให้ใช้ความตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดนี้แทน เพื่อให้พิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ของไทยสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์การศุลกากรโลกและอาเซียน ตามพันธกรณีที่ไทยเป็นภาคีอนุสัญญาระบบฮาร์โมไนซ์ขององค์การศุลกากรโลกและพันธกรณีตามพิธีสารว่าด้วยการนำพิกัดศุลกากรฮาร์โมไนซ์อาเซียน

ที่ประชุมพิจารณาพระราชกำหนดฉบับดังกล่าวแล้วเห็นควรให้อยู่ในดุลพินิจของที่ประชุมวุฒิสภาพิจารณาต่อไป

2.2 พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ. 2555 พ.ศ. 2564
พระราชกำหนดฉบับนี้ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2564 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป โดยคณะรัฐมนตรีได้เสนอต่อวุฒิสภา เพื่อพิจารณาอนุมัติตามมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 ทั้งนี้ พระราชกำหนดดังกล่าวมีจำนวน 23 มาตรา มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ. 2555 เพื่อให้สอดคล้องกับประมวลกฎการต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (World Anti-Doping Code) ที่ได้รับการปรับปรุงโดยองค์การต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (World Anti-Doping Agency : WADA) โดยกำหนดนิยามคำว่า “สารต้องห้าม” ให้หมายถึงสารหรือประเภทของสารตามภาคผนวกหนึ่งท้ายอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการต่อต้านการใช้สารต้องห้ามในการกีฬา ซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พร้อมทั้งกำหนดบทนิยามอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และกำหนดให้ออกกฎ ข้อบังคับ นโยบาย หรือการปฏิบัติเชิงบริหารต่าง ๆ ในการดำเนินการต่อต้านการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา ต้องสอดคล้องกับประมวลกฎการต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลกและมาตรฐานสากล (World Anti-Doping Code) ตามหลักการที่ระบุไว้ในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการต่อต้านการใช้สารต้องห้ามในการกีฬา ซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และปรับปรุงให้สอดคล้องอยู่เสมอ


โดยเฉพาะย่างยิ่ง ได้กำหนดให้จัดตั้ง “สำนักงานควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา” เป็นหน่วยงานในการกีฬาแห่งประเทศไทย ที่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติงาน ตามข้อกำหนดของ WADA นอกจากนั้นยังให้ออกประกาศเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ. 2555 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้ให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชกำหนดใช้บังคับ หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬารายงานเหตุผลที่ไม่อาจดำเนินการได้ต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาเพื่อทราบ

ทั้งนี้ เชื่อว่าการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ. 2555 ในครั้งนี้จะทำให้ประเทศไทยถูกปลดจากกลุ่มประเทศที่ไม่ปฏิบัติตามกฎของ WADA อันจะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถใช้ธงชาติไทยเป็นสัญลักษณ์ในการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ ในระดับภูมิภาค ระดับทวีป และระดับโลก และได้สิทธิในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ ตลอดจนร่วมเป็นกรรมการและรับทุนสนับสนุนจากWADA และสามารถส่งผู้แทนของรัฐบาลไทยไปเป็นกรรมการในสหพันธ์กีฬานานาชาติได้

ที่ประชุมพิจารณาพระราชกำหนดฉบับดังกล่าวแล้วเห็นควรให้อยู่ในดุลพินิจของที่ประชุมวุฒิสภาพิจารณาต่อไป

3. โครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การประชุมวุฒิสภาผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์”
- ที่ประชุมรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การประชุมวุฒิสภาผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์” ของคณะกรรมการวิชาการของวุฒิสภา เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ และสนับสนุนข้อมูล
ที่สำคัญเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ให้แก่สมาชิกวุฒิสภาในวันอังคารที่ 25 มกราคม 2565 เวลา 14.00 นาฬิกา ณ ห้องประชุมวุฒิสภา (ห้องประชุมพระจันทรา)




กำลังโหลดความคิดเห็น