“รสนา โตสิตระกูล” โพสต์แสดงความอาลัยทราบข่าว “หลวงปู่ติช นัท ฮันห์” ละสังขารอย่างสงบ ณ วัดตื่อเฮี้ยว ประเทศเวียดนาม ภูมิใจเป็นภิกษุณีชาวไทยที่ได้ใกล้ชิดและมีส่วนเผยแพร่ผลงานหนังสือพระพุทธประวัติ “เมฆสีขาว ทางก้าวเก่าแก่”
วันนี้ (22 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา เขียนโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (Rosana Tositrakul) ระบุข้อควาามว่า
เมฆสีขาว ทางก้าวเก่าแก่ของหลวงปู่ติช นัท ฮันห์
ดิฉันได้รับทราบข่าวการละสังขารอย่างสงบของหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ เมื่อเวลา 00.00 น.ของวันที่ 22 มกราคม 2022 ณ วัดตื่อเฮี้ยว เมืองเว้ ประเทศเวียดนาม ด้วยความอาลัยรักอย่างยิ่ง
เมื่อ 2 ปีที่แล้ว (12 มีนาคม 2562) ดิฉันและเพื่อนๆ จากสังฆะหมู่บ้านพลัมในไทยได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยียนหลวงปู่ที่วัดตื่อเฮี้ยว เมืองเว้ นครหลวงโบราณของเวียดนาม ที่ขณะนี้วัดที่ท่านพำนักได้รับการอารักขาจากรัฐบาล และโชคดีมากที่หลวงปู่มีสุขภาพดีพอที่จะให้พวกเราเข้าไปกราบเยี่ยมคารวะใกล้ชิดท่านได้ ด้วยความกรุณาของหลวงพี่นิรามิสา ซึ่งเป็นภิกษุณีชาวไทยศิษย์ใกล้ชิดของหลวงปู่ นับเป็นเวลากว่า 40 ปี ที่ดิฉันได้พบท่านอย่างใกล้ชิดอีกครั้งหนึ่ง
ดิฉันและเพื่อนๆ ในกลุ่มอหิงสาเป็นหนุ่มสาวชาวไทยกลุ่มแรกที่มีโอกาสพบกับหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ ที่ประเทศไทยเมื่อปี 2517ตอนนั้นเราเรียกท่านว่าไถ่ ที่แปลว่าพระเถราจารย์ ไถ่มาประชุมอาศรมแปซิฟิกร่วมกับอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์และนักคิดชั้นนำทางศาสนาจากทั่วโลกที่ วัดผาลาด จ.เชียงใหม่ ในกลุ่มอหิงสามีสมาชิก เช่น พระประชา ปสนฺนธมฺโม วิศิษฐ์ วังวิญญู พจนา จันทรสันติ ไพศาล วงศ์วรวิสิทธิ์ (ปัจจุบันคือ พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล) สันติสุข โสภณสิริ วีระ สมบูรณ์ อัจฉรา หังสพฤกษ์ ลัดดา วิวัฒน์สุรเวช สมลักษณ์ หุตานุวัตร เป็นต้น
พวกเราเป็นคนหนุ่ม สาวจากต่างมหาวิทยาลัยที่สนใจพุทธศาสนา และการเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยสันติวิธี การได้พบกับไถ่ในครั้งนั้นเป็นแรงบันดาลใจให้กับพวกเราที่ทำงานสังคมไปพร้อมกับการพัฒนาเปลี่ยนแปลงคุณภาพจิตด้านใน ไถ่บอกกับพวกเราว่า พุทธศาสนาจะต้องอยู่กับเราในชีวิตที่เป็นจริงทางสังคม อยู่ในเนื้อในตัวของเราในขณะดำเนินกิจกรรมทางสังคม พุทธศาสนาต้องไม่ใช่สิ่งที่อยู่บนหิ้ง หรืออยู่นอกชีวิตประจำวันของเรา ไถ่เรียกว่าเป็น “Engaged Buddhism” หรือที่พระอาจารย์ไพศาลพูดถึง การทำกิจ และการทำจิตต้องประกอบไปด้วยธรรมะ
ไถ่ได้แสดงธรรมะของท่านด้วยการปฏิบัติให้เห็น และท่านยังได้ก่อตั้งคณะนักบวชหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่เรียกว่า “คณะเทียบหิน The Sanga of Interbeing” ช่วงที่ได้พบท่าน สงครามเวียดนามใกล้สิ้นสุด ความรุนแรงของสงครามเวียดนามได้ทำร้ายลูกศิษย์ พระ และภิกษุณีในวัดของท่าน และลูกศิษย์ในโรงเรียนคนหนุ่มสาวเพื่อบริการสังคม มีคนเวียดนามที่หนีสงครามเข้ามาในไทยทางเรือที่รู้จักในชื่อของ Boat People และถูกโจรสลัดชาวไทยปล้น ฆ่า ข่มขืน ท่านเขียนบทกวีชื่อ Call me by my true name บอกว่ามนุษย์ไม่ใช่ศัตรูของเรา แต่ศัตรูที่แท้จริงของเราคือความโลภ ความเกลียดชัง ความรุนแรงและความหลงผิด ท่านใช้การภาวนาเพื่อปลดเปลื้องความทุกข์ใจในชะตากรรมของพี่น้องร่วมชาติ และมุ่งหน้าช่วยเหลือคนเหล่านั้นด้วยความเมตตากรุณา ในตอนนั้นพวกเราได้ช่วยเหลือท่านในการส่งข้าว และยาไปให้กับวัดของท่านที่เวียดนาม แม้ตอนนั้นท่านมีชื่อเสียงและมีภารกิจล้นมือแต่ท่านยังมีเมตตามีลิขิตด้วยลายมือของท่านเองถึงดิฉันเพื่อให้กำลังใจพวกเราในการภาวนาเพื่อสังคม พวกเรายังนำศีลเทียบหิน 14 ข้อของท่านมาภาวนาร่วมกันเป็นครั้งคราวในเวลานั้น ซึ่งดิฉันยังจำได้ดีว่า มีข้อหนึ่งที่ว่า จงอย่าครอบงำผู้อื่นแม้ด้วยวิธีทางการศึกษา หรือคิดว่าความเชื่อของเราเท่านั้นที่ถูกต้อง และท่านยังสอนให้พวกเราฟังเสียงความทุกข์ของผู้อื่นอย่างลึกซึ้ง ทำให้เราสามารถทำงานในท่ามกลางสังคมที่แบ่งฝักแบ่งฝ่ายได้อย่างไม่เป็นทุกข์
หนังสือเล่มแรกของไถ่นัท ฮันห์ ที่คุณประชา หุตานุวัตร สมัยที่เป็นพระประชา ปสันธัมโม แปลในชื่อว่า “ปาฏิหารย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ” นั้นคือ การสอนธรรมะให้เราอยู่กับปัจจุบันขณะ การอยู่กับปัจจุบันขณะ ช่วยปลดเปลื้องความทุกข์ของเราจากความคิด ที่ปรุงแต่ง และมายาภาพที่หลอกลวงเราอยู่
สมัยที่ได้พบท่านเมื่อ 40 กว่าปีก่อน ท่านชวนพวกเราเสวนาและภาวนาร่วมกัน ท่านจะถามอยู่เสมอว่า “เธอลืมลมหายใจของเธอหรือเปล่า” ลมหายใจคือสิ่งที่เชื่อมเรากับปัจจุบันขณะ เมื่อเรามีสติกับลมหายใจ เราจะอยู่ในปัจจุบันขณะ อยู่ในโลกที่เป็นจริง ไม่ใช่โลกในความคิดที่มีแต่อดีต และอนาคตที่ทำให้เราเป็นทุกข์ และกังวล
ปัจจุบันขณะไม่ใช่วันนี้ ชั่วโมงนี้ หรือ แม้แต่นาทีนี้ แต่ปัจจุบันขณะคือทุกลมหายใจเข้าออกของเรา เมื่อเรามีสติกับปัจจุบันขณะได้ต่อเนื่องมากเท่าไหร่ การทำกิจ และการทำจิตจะเป็นกระบวนการที่พัฒนาขัดเกลาตัวเอง ไปพร้อมๆ กับการปฏิบัติการทางสังคมเพื่อประโยชน์ส่วนรวมได้อย่างแท้จริงมากขึ้น
ในฐานะที่เป็นสานุศิษย์คนไทยคนหนึ่งที่เลื่อมใสในคำสอนของท่าน ดิฉันรู้สึกภาคภูมิใจที่อย่างน้อยได้มีส่วนเผยแพร่ผลงานของท่านด้วยการแปลหนังสือพระพุทธประวัติที่ท่านบรรจงนิพนธ์ขึ้นอย่างไพเราะงดงามในชื่อ OLD PATH WHITE CLOUD ซึ่งมีความหมายในทางธรรมาธิษฐานอันล้ำลึก กล่าวคือ Old Path หมายถึง อริยมรรค 8 หรือทางอันประเสริฐ 8 ประการ ส่วน White Cloud หมายถึง Interbeing การอิงอาศัยกันและกันของสรรพสิ่ง หรือสำนวนของท่านคือ การเป็นดั่งกันและกัน ปราศจากเมฆขาว ก็ปราศจากต้นไม้ ปราศจากชีวิตในธรรมชาติ เมื่อเห็นกระดาษแผ่นหนึ่ง จะเห็นดวงอาทิตย์ เมฆขาว ต้นไม้ คนปลูกต้นไม้ ในกระดาษแผ่นนั้น ปราศจากสิ่งเหล่านั้น ก็ปราศจากกระดาษแผ่นนั้น หรืออิทัปปัจยตา เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี หนังสือเล่มนี้ในฉบับแปลเป็นภาษาไทยใช้ชื่อว่า “เมฆสีขาว ทางก้าวเก่าแก่” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์โกมลคีมทอง
ดิฉันเคยทำใจไว้แล้วว่า การได้รับเมตตาจากท่านให้เข้าพบเป็นการภายในที่วัดตื่อเฮี้ยวเมื่อ 2 ปีก่อน อาจจะเป็นปัจฉิมทัศนา แต่ประทีปธรรมแห่งการภาวนาเพื่อสังคมที่ท่านจุดประกายไว้ให้พวกเรายังส่องสว่างให้เราก้าวเดินไปใน “ทางก้าวเก่าแก่” หรือพระอริยมรรคแห่งองค์พระบรมศาสดา การดำรงสติในปัจจุบันขณะด้วยการหายใจลึกๆเมื่อนึกได้ให้มากขึ้น จะช่วยให้ดิฉันก้าวเดินบนเส้นทางสายเดียวกับท่าน และสำหรับดิฉันซึ่งเป็นเพียงต้นหญ้าตฤณชาติติดดินยังสามารถสัมผัสได้ถึงความชุ่มเย็นของหยาดน้ำจากเมฆขาวบนฟากฟ้าเสมอ
รสนา โตสิตระกูล
เนื่องในวันละสังขารของ
หลวงปู่นัท ฮันห์
วันเสาร์ที่ 22 มกราคม 2565
Cr.@Rosana Tositrakul