“เพื่อไทย” แฉ รบ.ปิดข้อมูลหมูติดเชื้อระบาดเอื้อเจ้าสัว 3 ราย โกยส่งออกหมู ปล่อยชาวบ้านเดือดร้อนทั้งประเทศ “ประภัตร” แจง ไม่มีเจตนาปกปิด โชว์ผลแล็ปยันตรวจซากหมูตายเป็นพีอาร์อาร์เอส เจอท้าขุดซากหมูหาเชื้อพิสูจน์ สวนกลับ “ไม่ได้แกล้งเซ่อ แต่หาไม่เจอจริงๆ”
วันนี้ (20 ม.ค.) นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ตั้งกระทู้ถามสดเรื่องสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ว่า ประเทศเพื่อนบ้านของไทยเกิดการแพร่ระบาดของโรค แต่ไทยเป็นประเทศไข่แดงที่ไม่ติดเชิ้อระบาดนี้ ผลคือการส่งออกหมูทั้งหมูเป็นและหมูตาย ถีบขึ้น 300 เปอร์เซ็นต์ ประโยชน์ตกที่เจ้าสัวรายใหญ่ 3 เจ้า อยากถามว่านี่คือ สาเหตุที่รัฐปกปิดข้อมูล เพื่อประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งใช่หรือไม่ คนเดือดร้อนทั้งประเทศ ผู้ได้ประโยชน์มีเพียงหยิบมือเดียว บีบผู้เลี้ยงสุกรรายเล็กให้ตาย เอื้อรายใหญ่ให้เข้มแข็ง ให้สามารถควบคุมราคาหมู ปั่นราคาได้สูงบนคราบน้ำตาประชาชน
“มีผู้เลี้ยงรายย่อยรายหนึ่งปล่อยคลิปว่าขายหมูได้ในราคา 60 บาท วันนี้ชัดเจนว่าผู้เลี้ยงรายดังกล่าวทำคอนแทกต์ ฟาร์มมิ่ง แปลว่า บริษัทใหญ่ซื้อเนื้อหมูได้ในราคา 60 บาท แต่ทำไมวันนี้ราคาหมูหน้าเขียงถึงอยู่ที่ 280 บาท ถามว่าราคานี้มาได้อย่างไร ในฐานะที่เป็น ส.ส. และรัฐบาล จะไม่ทำอะไรเลยหรือเพื่อประชาชน ในการกักตุนหรือเอารัดเอาเปรียบของนายทุน”
นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงว่า ที่ผ่านมา เราส่งสุกรตรวจในห้องปฏิบัติการ ซึ่งผลแลปออกมาว่าไม่พบ ASF แต่พบโรคโรคระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจสุกร (PRRS) แทน ซึ่งตนก็อยากทำความเข้าใจตรงนี้ก่อน ส่วน โรค ASF เรามาเจอกันตอนปี 65 ที่มีการสำรวจอย่างจริงจังแล้วพบที่โรงฆ่าสัตว์ที่จังหวัดนครปฐม ยืนยันว่า ตนและรัฐบาลไม่มีเจตนาปกปิด เพราะเป็นรื่องเสียหายทั้งระบบ พบแล้วไม่ประกาศทั่วโลกก็ไม่เอาด้วย
“ที่บอกว่า วันนี้คนเลี้ยงหมุรายเล็กรายน้อยหมดตัว เหลือแต่รายใหญ่ เพราะเขามีทุนดูแลหมูได้นั้น ถูกต้อง และในปี 63 มีการส่งออกหมูจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม วันนี้หมูในประเทศโดยเฉลี่ยมี 19 ล้านตัว มีผู้เลี้ยง 190,000 ราย แบ่งเป็นรายย่อย 180,000 ราย รายกลาง 3,000 ราย รายใหญ่ 200 ราย โดยประมาณ วันนี้ ครม. อนุมัติงบประมาณ 1017 ล้านบาท แก้ไขปัญหา ผมเห็นใจนายกฯที่รับแรงปะทะอยู่คนเดียว ทั้งเรื่องหมูและสินค้าราคาแพง เอาไปผูกกับหมูหมด ผมว่าไม่ถูก” รมช.เกษตรฯ ระบุ
นายประภัตร ชี้แจงด้วยว่า สำหรับข้อมูลที่มีการเปิดเผยว่าหมูตาย 5-6 ล้านตัวนั้น ตนได้ดูตัวเลขรายงานสุกรในประเทศแล้ว ขอชี้แจงว่า ไม่จริง ไม่มีตัวเลขว่าหมูขาด คิดว่าน่าจะเกิดอะไรขึ้นบางอย่าง ซึ่งไม่อยากพูดว่ามีการกักตุน แต่มีข้อมูลที่น่าสนใจ พบว่า ปลายเดือน ธ.ค. ปี64 เข้าเดือน ม.ค. ปี 65 ต้นทุนเลี้ยงหมูผิดปกติอยุ่ที่ 91.85 บาท ราคาขายหน้าฟาร์ม 110 บาทต่อกิโลกรัม และราคาหน้าเขียงอยู่ที่ 215 บาท ซึ่งราคาหน้าเขียงก็คำนวนจากกรมการค้าภายใน สรุป คือ ราคาหมูแพง หมูตายเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุเท่านั้น
ตอนท้าย นายจุลพันธ์ ท้าให้ขุดศพหมูขึ้นมาตรวจอีกครั้ง เชื่อว่า เจอโรค ASF แน่นอน อย่างไรก็ดี การปกปิดข้อมูลดังกล่าวมีการปกปิดอย่างเป็นระบบ นอกจากนั้น ในส่วนของราคาเนื้อหมูที่สูงขึ้น เชื่อว่า มีผู้ได้ประโยชน์จากผู้ค้าที่เก็บสต๊อกเนื้อหมู และตนพร้อมจะพาไปแหล่งที่เก็บสต๊อกเนื้อหมู ไม่ใช่ไปตรวจสต๊อกที่โรงเนื้อแกะและเนื้อวัว ซึ่ง นายประภัตร กล่าวยอมรับว่า “ผมไม่ได้แกล้งเซ่อ แต่ตรวจไม่เจอจริง”