xs
xsm
sm
md
lg

เผยผลวิจัยปลูกกัญชา 6 ต้น บ้านโนนมาลัย โมเดล 7 แปลงปลูก สร้างกำไรแล้วกว่า 1.4 แสน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถาบันกัญชาทางการเเพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เผย ผลวิจัย ปลูกกัญชา 6 ต้น บ้านโนนมาลัย โมเดล 7 แปลงปลูก สร้างกำไรสุทธิตั้งแต่ครอปแรก สูงถึง 1.48 แสนบาท เร่งสร้างเครือข่ายเกษตรกรปลูกกัญชารายย่อย ต่อยอดเศรษฐกิจชุมชน

วันนี้ (18 ม.ค.) นายเเพทย์กิตติ โล่สุวรรณรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันกัญชาทางการเเพทย์ เปิดเผยว่า สถาบันกัญชาทางการแพทย์ ได้จัดให้มีประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาทางการแพทย์ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2565 โดยเชิญ ภก.ชัยสิทธิ์ สุนทรา เภสัชกรชำนาญการ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์อุบลราชธานี ผู้ทำวิจัยเรื่อง “การถอดบทเรียนการปลูกกัญชาทางการแพทย์ของวิสาหกิจชุมชน กรณีศึกษาบ้านโนนมาลัย” มาสรุปผลการดำเนินการ

“การปลูกกัญชา ที่บ้านโนนมาลัย มีเป้าหมายเพื่อการเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ เพื่อใช้ในครัวเรือน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้ครัวเรือน และสร้างรายได้ในชุมชน โดยผลการศึกษาพบว่าการปลูกกัญชา 6 ต้น นั้น สามารถสร้างผลกำไร ให้แก่เกษตรกรได้ตั้งแต่รอบแรกของการปลูก โดยมีในช่วงระยะเวลา 8 เดือน พบว่าในภาพรวม 7 แปลงปลูกกัญชา มีต้นทุนคงที่ 80,201 บาท ต้นทุนผันแปร 37,931 บาท รวมต้นทุนทั้งหมด 118,132 บาท แต่เมื่อหักค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว สามารถสร้างรายได้สุทธิ 148,285 บาท” นายเเพทย์กิตติ กล่าว

ผู้อำนวยการสถาบันกัญชาทางการแพทย์ กล่าวว่า ผลการศึกษายืนยันอีกว่า นอกจากจะได้ความคุ้มค่าของโครงการแล้ว ยังได้องค์ความรู้เรื่องการปลูกกัญชา ตั้งแต่การเตรียมดิน การใส่ปุ๋ย การเก็บเกี่ยว และการนำกัญชาไปใช้ประโยชน์ ด้านต่างๆ สามารถถ่ายทอดต่อให้เกษตรกรกลุ่มอื่นๆ ได้อีก

นายเเพทย์กิตติ กล่าวว่า ผลการศึกษาพบว่า 3 ปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมให้ผู้ปลูกกัญชา ที่บ้านโนนมาลัย ประสบความสำเร็จ คือ 1. นโยบายที่ชัดเจน 2. ระบบนิเวศวิทยา หรือ Ecosystem ที่เหมาะสม และ 3. ความเข้มแข็งของเกษตรกร ที่ภาครัฐต้องเสริมความเข้มแข็ง

“ผู้ทำการศึกษาวิจัย ยังได้เสนอมาตรการ 5 ข้อ เพื่อปรับปรุงให้โครงการกัญชา 6 ต้น ของวิสาหกิจชุมชน สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ได้แก่ 1. การเปิดตลาดสินค้าชุมชน 2. การลดขั้นตอนการอนุญาตและกำกับดูแล 3. การสร้างเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐในการสนับสนุนการปลูกและแปรรูปกัญชาในทุกระดับ 4. การพัฒนาระบบพี่เลี้ยงให้แก่เกษตรกร และ 5. การสร้างเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกกัญชา เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างอำนาจในการต่อรอง” นายเเพทย์กิตติ กล่าว








กำลังโหลดความคิดเห็น