กสม.ชง ข้อเสนอนายกฯแก้ปัญหาแรงงานข้ามขาติ แนะสำรวจความต้องการผู้ประกอบการ ทบทวนขั้นตอนนำเข้าแรงงาน 3 สัญชาติ เพิ่มจุดผ่านแดนถาวร พัฒนาแอปพลิเคชันให้ยืนยันตัวตน
วันนี้ (13 ม.ค. ) นายสุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แถลงว่า กสม.ได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 64 เรื่อง ข้อเสนอแนะกรณีแรงงานข้ามชาติกับสถานการณ์การลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายโดยหลังจากที่กสม. ได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเด็นแรงงานข้ามชาติในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และพบรายงานการลักลอบนำเข้าแรงงานผิดกฎหมายผ่านช่องทางธรรมชาติตามแนวชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน กสม. จึงได้จัดประชุมเพื่อฟังข้อมูล ความคิดเห็นจากหน่วยงานรัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และพบสภาพปัญหา เช่น ปัญหาการขาดแคลนแรงงานข้ามชาติ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านได้เดินทางกลับประเทศ แต่เมื่อรัฐบาลมีนโยบายเปิดประเทศและผู้ประกอบการเริ่มกลับมาเปิดกิจการเมื่อเดือน พ.ย. 64 ทำให้แรงงานต้องการเข้ามาทำงานในประเทศไทย เป็นเหตุให้มีการลักลอบนำเข้าแรงงานอย่างผิดกฎหมายมากขึ้น
นอกจากนี้ การนำเข้าแรงงานอย่างถูกต้องตามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงาน (MOU) ระหว่างประเทศไทย กับประเทศต้นทาง ประสบปัญหาอุปสรรค มีค่าใช้จ่ายสูง ผู้ประกอบการรายย่อยไม่สามารถแบกรับภาระได้ กฎระเบียบมีปัญหา เช่น ข้อจำกัดเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายแรงงาน การเปลี่ยนนายจ้างของแรงงานข้ามชาติตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 2560 ที่อาจทำให้แรงงานข้ามชาติไม่สามารถเลือกทำงานได้อย่างเสรี รวมถึงการที่ ครม.มีมติเกี่ยวกับการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ เป็นจำนวนมาก ทำให้การบริหารจัดการทางทะเบียนของแรงงานข้ามชาติไม่เป็นเอกภาพและมีความซ้ำซ้อนกัน
ซึ่ง กสม. เห็นว่า การบริหารจัดการเกี่ยวกับการนำเข้าแรงงานข้ามชาติควรคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในเรื่องสิทธิในการทำงาน สิทธิในโอกาสที่จะหาเลี้ยงชีพโดยลือกหรือรับอย่างเสรี มีสภาพการทำงานที่ยุติธรรม ตลอดจนสิทธิที่จะไม่ถูกเอาตัวเป็นทาสหรือ ถูกบังคับให้ตกอยู่ในภาวะเยี่ยงทาส ตามที่ได้มีการรับรองและคุ้มครองไว้ในกติการะหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีจึงได้แจ้งสภาพปัญหาและมีข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณามอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้มีผลในทางปฏิบัติโดยเร่งด่วน คือ
1. ให้กระทรวงแรงงาน พิจารณาดำเนินการ สำรวจความต้องการแรงงานข้ามชาติของผู้ประกอบการในทุกประเภทกิจการเพื่อเป็นฐานข้อมูลกลางสำหรับการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติทั้งระบบ และร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนขั้นตอนการนำเข้าแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติตาม MOU พร้อมหารือกับประเทศต้นทางเพื่อปรับลดขั้นตอนการดำเนินการให้มีความสะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น และปรับลดค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยสามารถนำเข้าแรงงานได้
นอกจากนี้ ควรแก้ไขเพิ่มเติม MOU การจ้างงานระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เพื่อเพิ่มโอกาสให้แรงงานเวียดนามสามารถทำงานได้ในประเภทกิจการอื่นนอกเหนือจากกิจการประมงทะเลและก่อสร้าง ได้เช่นเดียวกับแรงงานกัมพูชา ลาว และ เมียนมา โดย ควรเร่งจัดทำยุทธศาสตร์การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวฉบับใหม่ เพื่อใช้แทนยุทธศาสตร์ฯ พ.ศ. 2560-2564 เพื่อจัดหาแรงงานข้ามชาติให้เพียงพอต่อความต้องการทางเศรษฐกิจ และลดจำนวนแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายที่นำไปสู่ผลกระทบอื่น เช่น โรคระบาด ปัญหาสังคม การค้ามนุษย์ เป็นต้น โดยที่แนวทางการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติตามมติคณะรัฐมนตรีฉบับต่างๆ ควรรวบรวมให้เป็นแนวทางเดียวกัน พร้อมจัดทำเป็นเอกสารเผยแพร่ด้วยภาษาราชการของประเทศต้นทางด้วย
2. ให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาเปิดจุดผ่านแดนถาวรที่มีความพร้อมเพิ่มเติม เพื่อให้แรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองถูกต้องตามกฎหมายสามารถเดินทางเข้ามาได้รวดเร็วขึ้น
3. ให้กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกักตัวแรงงานข้ามชาติตามมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตรวจสอบและจัดหาสถานที่สำหรับการกักตัวแรงงานข้ามชาติที่มีมาตรฐานและเพียงพอ
4. ให้กระทรวงแรงงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จัดทำฐานข้อมูลแรงงานข้ามชาติให้เป็นระบบเดียวกัน รวมถึงการพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับยืนยันตัวตนเพื่อความสะดวก รวดเร็ว และลดค่าใช้จ่ายการขึ้นทะเบียนแรงงาน
ส่วนระยะยาว ให้กระทรวงแรงงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาดำเนินการ นำปัญหาการลักลอบนำเข้าแรงงานผิดกฎหมายไปหารือและเจรจาหาข้อตกลงร่วมกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน เพื่อแก้ไขป้องกันการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายและคุ้มครองสิทธิของแรงงานย้ายถิ่น นอกจากนี้ ควรสำรวจ ทบทวน และแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย หรือขั้นตอนการดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติที่อาจไม่สอดคล้องหรือเป็นอุปสรรคต่อการคุ้มครองแรงงาน เช่น ปรับปรุงระบบการเคลื่อนย้ายและการเปลี่ยนนายจ้างให้มีความเหมาะสมเพื่อให้แรงงานเลือกทำงานตามที่กฎหมายกำหนดได้อย่างเสรี ปรับปรุงระบบการเข้าถึงบริการสาธารณสุข รวมถึงสถานที่ตรวจสุขภาพที่สะดวกและเพียงพอ