พม. เร่งกวดขันปัญหาขอทานข้ามชาติ หวั่นสร้างปัญหาสังคม ย้ำผิดกม.ควบคุมการขอทาน จับมือภาคีทุกภาคส่วน หาแนวทางช่วยเหลือขอทานที่ตกเป็นเหยื่อจากการค้ามนุษย์ พร้อมผลักดันกลับประเทศต้นทาง
นายอนุกูล ปีดแก้ว อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยถึงปัญหาชาวต่างชาติที่ลักลอบเข้ามาในประเทศไทยเพื่อมาขอทาน โดยมีรายได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 500 บาท ซึ่งปัญหาขอทานเป็นปัญหาที่พบในเมืองใหญ่ที่มีผู้คนสัญจรเป็นจำนวนมาก การขอเงินหรือทรัพย์สินจากผู้อื่นเพื่อเลี้ยงชีพ การกระทำเพื่อให้ผู้อื่นเกิดความสงสารและส่งเงินหรือทรัพย์สินให้ ถือว่าเป็น “การขอทาน” ซึ่งผิดกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 ก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมา เช่น การค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเด็ก การทารุณกรรม หรืออาชญากรรมอื่น ๆ
สำหรับชาวต่างชาติที่ลักลอบเข้ามาในประเทศไทยเพื่อมาขอทาน ส่วนใหญ่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ต้องการมาหางานทำหรือมาตั้งต้นชีวิตใหม่ อีกทั้งไม่มีความรู้ด้านกฎหมายของประเทศไทย ประกอบกับคนไทยเป็นคนใจบุญชอบให้ทาน จึงส่งผลทำให้มีผู้ทำการขอทานต่างชาติเพิ่มสูงขึ้น โดยสถิติการจับกุมผู้ทำการขอทาน พบว่า เงินที่ได้จากการขอทาน ขึ้นอยู่กับสถานที่ หากเป็นย่านเศรษฐกิจสำคัญของ กรุงเทพมหานคร จะมีรายได้เฉลี่ยประมาณวันละ 1,000 - 2,000 บาทบางรายมีรายได้ ประมาณวันละ 6,000 - 7,000 บาท แต่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด - 19 ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ทำการขอทานมีรายได้ลดลงอย่างมาก โดยเฉลี่ยประมาณวันละ 50 บาท
นายอนุกูล กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา กระทรวง พม. โดย กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) ได้ดำเนินลงพื้นที่เสี่ยง เพื่อกวดขันและป้องปราม การกระทำความผิด รวมทั้งให้การช่วยเหลือในรายที่ประสบปัญหาทางสังคม นอกจากนั้นยังได้ให้ข้อมูล ประชาสัมพันธ์กับประชาชนทั่วไปเรื่องการให้ทานที่ถูกวิธี โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงการต่างประเทศ ภาคประชาสังคม และอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ทั่วประเทศ รวมทั้งการหาแนวทางการช่วยเหลือผู้ทำการขอทานที่ตกเป็นเหยื่อจากการค้ามนุษย์ และผลักดันขอทานต่างชาติกลับประเทศต้นทาง
อย่างไรก็ตาม ผู้ทำการขอทานถือว่า ผิดกฎหมาย หากผู้ใดฝ่าฝืน ต้องได้รับโทษตามที่กฎหมายกำหนด พบเห็นขอทาน โทร. 1300