“หมอชลน่าน” ยันเพื่อไทย ส่ง “สุรชาติ” ลงเลือกตั้งซ่อม ส.ส.หลักสี่ มั่นใจสู้ “เจ๊หลี” ชิงพื้นที่คืนมาได้ หากฝ่าย ปชต.ร่วมกันสู้ แต่ต้องหนีคำว่า “ฮั้วการเมือง” ให้ได้
วันนี้ (23 ธ.ค.) ที่รัฐสภา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.กทม. เขตหลักสี่ หลัง นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้สิ้นสุดสมาชิกภาพการเป็น ส.ส. ว่า พรรค พท.ได้มีการพูดคุยกันเบื้องต้น ว่า จะมีการนัดหมายเพื่อพูดคุยเรื่องนี้ที่ทำการพรรค พท. วันนี้ ส่วนจะมีการส่งผู้สมัครหรือไม่ขึ้นอยู่กับมติของที่ประชุม ซึ่งเป็นหน้าที่ของกรรมการบริหารพรรคที่จะเป็นคนตัดสิน
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า หากดูเงื่อนไขหรือเหตุผลที่จะนำไปสู่การพิจารณาว่าจะส่งผู้สมัครหรือไม่ เรามีข้อพิจารณาพอสมควร เพราะเขตหลักสี่เป็นพื้นที่เดิมของพรรค พท. เราแพ้การเลือกตั้งในปี 62 แต่แพ้อันดับหนึ่งแค่ไม่กี่คะแนน โดยได้ 32,000 กว่าคะแนน ถือว่าเป็นคะแนนที่ดีมาก สำหรับการเลือกตั้งใน กทม. หากตรวจสอบดูจะพบว่า ใน กทม. พรรค พท. ส่งผู้สมัคร 20 เขต ได้ 32,000 กว่าคะแนนเป็นอันดับ 3 ของผู้ที่ได้รับเลือกตั้งใน กทม. นั่นคือ ฐานคะแนนเดิมที่มีอยู่ นอกจากนี้ นายสุรชาติ เทียนทอง อดีตผู้สมัคร ส.ส. ก็หน้าที่ผู้แทนของประชาชนอยู่ในเขตเลือกตั้งตลอดเวลา ซึ่งก็เป็นภาพอย่างหนึ่งที่นำเข้าสู่กระบวนการตัดสิน หากพรรค พท. ไม่ส่งเลือกตั้งก็จะตอบคำถามประชาชนไม่ได้ และพรรคก็จะสูญเสียโอกาส
เมื่อถามว่า คุณสมบัติของ นายสุรชาติ จะสู้ นางสรัลรัศมิ์ เจนจาคะ หรือ “เจ๊หลี” ภรรยาของนายสิระ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม. พรรค พปชร. ได้หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เรามั่นใจ โดยเฉพาะเรื่องการทำหน้าที่ ความพร้อม และจิตวิญญาณความเป็นผู้แทน ซึ่งเขาพิสูจน์ว่า 17 ปี ในการใช้ชีวิตอยู่กับการเป็นผู้แทน ซึ่งจากการแสดงออกเขามีความมุ่งมั่นและตั้งใจมาก ดังนั้น เรื่องความพร้อมและคุณสมบัติเราไม่ห่วง แต่ไม่ได้บอกว่าเราเหนือกว่าคนอื่น แต่เรามั่นใจว่า สิ่งที่เรานำเสนอประชาชนน่าจะเป็นคุณสมบัติที่พรรค พท. เลือกสิ่งที่ดีที่สุด
เมื่อถามว่า ความมั่นใจว่าจะชิงเก้าอี้ ส.ส.เขตหลักสี่ คืนมาได้หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า มั่นใจว่าน่าจะชิงเก้าอี้คืนกลับมาได้แม้จะมีคู่แข่ง ซึ่งพรรคที่เกี่ยวข้องน่าจะส่งทั้งหมด สายประชาธิปไตยอย่างน้อย 2 พรรค ความจริงแล้วการเลือกตั้งซ่อม เราคิดกันว่า จะใช้ยุทธศาสตร์ในการเลือกตั้งมาเป็นข้อตัดสินหรือไม่ ในการส่งผู้สมัคร ซึ่งขึ้นอยู่วิธีคิดของแต่ละพรรคการเมือง เราไม่สามารถไปโน้มน้าวชักจูง หรือทำให้เกิดกระบวนการนี้ได้ หากสามารถมารวมกันได้ก็เป็นยุทธศาสตร์การเลือกตั้งเพื่อชนะในพื้นที่นั้นๆ แต่ประชาชนต้องยอมรับได้ เช่น ฝ่ายประชาธิปไตยแข่งกับอีกฝ่ายหนึ่ง โดยมีการคิดร่วมกัน สู้ร่วมกัน ก็จะมีโอกาสชนะสูงมาก มั่นใจว่า ฝ่ายประชาธิปไตยชนะแน่ในเขตนี้ แต่จะเป็นพรรคไหนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนเงื่อนไขที่จะมารวมกันนั้นจะต้องหลีกหนีคำว่า “ฮั้วการเมือง” ให้ได้
เมื่อถามว่า กังวลเรื่องอำนาจอื่นที่จะมาแทรกแซงหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า จากการเลือกตั้งปี 62 ที่ผ่านมา เราเจอสิ่งนี้เยอะมาก การเลือกตั้งที่ไม่เป็นไปตามวิถีประชาธิปไตย มีอำนาจอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นอำนาจรัฐ อำนาจเงิน และอำนาจการจัดการ เราเจอมาตลอด ซึ่งนั่นเป็นการเลือกตั้งทั่วไปเขายังทำได้ ดังนั้น การเลือกซ่อมเขาทำได้มากกว่านั้น และจะเข้มข้นมากขึ้นในพื้นที่นี้ที่เป็นพื้นที่เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง ไม่ใช่แต่ได้ ส.ส.จากการเลือกตั้งซ่อมเพียงอย่างเดียว แต่ยังวัดในอีกหลายเรื่องทั้งเรื่องความนิยมของพรรคการเมืองในพื้นที่ กทม. และวัดอนาตคนที่จะมาเป็นผู้ว่าฯ กทม.
เมื่อถามถึงกรณีที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชรายชื่อและหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ประกาศไม่ส่งผู้สมัคร ส.ส.เขตหลักสี่ เพื่อไม่ให้ฝ่ายค้านตัดคะแนนกันเอง นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ต้องขอบคุณหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ที่ประกาศออกชัดเจน หากฝั่งประชาธิปไตยมียุทธศาสตร์การเลือกตั้งเพื่อชนะอีกฝ่ายหนึ่ง การกระทำเช่นนี้ก็เป็นการแสดงออกในเชิงยุทธศาสตร์และเป้าหมาย
เมื่อถามว่า ได้มีการพูดคุยกับพรรคก้าวไกลในเรื่องนี้หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ยังไม่ได้คุย เราไม่อยากไปล่วงละเมิดสิทธิของแต่ละพรรค ส่วนจะมีกลไกในการพูดคุยกันหรือไม่นั้น ต้องดูทิศทางและท่าทีต่างๆ ที่จะแสดงออกมาก่อน.