xs
xsm
sm
md
lg

ครม.เคาะ “แผนการคลังระยะปานกลาง” ปีงบ 66-69 คาด GDP ปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 3.2-4.2

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ครม. เห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2566-2569) คาด GDP ปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 3.2-4.2 มุ่งดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัวผ่านการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล

วันนี้ (22 ธ.ค.) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2566-2569) ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 สถานะและประมาณการเศรษฐกิจ ส่วนที่ 2 สถานะและประมาณการคลัง และ ส่วนที่ 3 เป้าหมายและนโยบายการคลัง ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยสถานะและประมาณการเศรษฐกิจ โดยในปี 2566 คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 3.2-4.2 (ค่ากลางร้อยละ 3.7) และ GDP Deflator อยู่ในช่วงร้อยละ 0.7-1.7 (ค่ากลางร้อยละ 1.2) สำหรับในปี 2567 คาดว่า GDP จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.9-3.9 (ค่ากลางร้อยละ 3.4) ขณะที่ในปี 2568-2569 คาดว่า จะอยู่ในช่วงร้อยละ 2.8- 3.8 (ค่ากลางร้อยละ 3.3) และ GDP Deflator อยู่ในช่วงร้อยละ 0.7-1.7 ในปี 2567 และเร่งขึ้นเป็นเฉลี่ยในช่วงร้อยละ 0.8-1.8 ในปี 2568 และ 2569

สำหรับสถานะและประมาณการการคลัง มีการประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2566-2569 เท่ากับ 2,490,000 2,560,000 2,640,000 และ 2,720,000 ล้านบาท ตามลำดับ โดยประมาการงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2566-2569 เท่ากับ 3,185,000 3,270,000 3,363,000 และ 3,456,000 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งมีสมมติฐานที่สำคัญ เช่น สัดส่วนงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นร้อยละ 2.0-3.5 ของวงเงินงบประมาณ รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้มีสัดส่วนร้อยละ 2.5 – 4.0 ของวงเงินงบประมาณ ค่าใช้จ่ายบุคลากรมีอัตราเพิ่มโดยเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 4.0 โดยใช้มาตรการให้หน่วยรับงบประมาณที่มีเงินรายได้นำมาสมทบ เป็นต้น

โดยเป้าหมายและนโยบายการคลังในการดำเนินนโยบายการคลังในระยะปานกลาง รัฐบาลยังมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัวผ่านการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและสังคมจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตของประชาชน ซึ่งงผลต่อเนื่องถึงภาคการคลัง ทำให้เกิดภาระที่สะสมต่อภาคการคลังของไทย ทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดกลับมารุนแรงได้อีก ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้ภาครัฐจำเป็นต้องดำเนินมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบเพิ่มเติมอีกในอนาคต นอกจากนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลก (Global Megatrends) ที่จะส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ อาทิ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิากาศ และโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัย ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งการจัดเก็บรายได้และการจัดสรรงบประมาณของภาครัฐ

ดังนั้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการคลังทั้งในระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว รัฐบาลมุ่งบริหารจัดการเพื่อเพิ่มศักยภาพทางการคลัง ทั้งในด้านรายได้ รายจ่ายและหนี้สาธารณะ ควบคู่ไปกับการรักษาวินัยทางการคลังด้วยหลัก CARE ซึ่งไปกรอบด้วย Creating Fiscal Space หรือ การเพิ่มพื้นที่ทางการคลังอย่างระมัดระวัง Assuring Debt Sustainability หรือ การบริหารจัดการหนี้อย่างมีภูมิคุ้มกัน Revenue Recovering หรือ การฟื้นฟูการจัดเก็บรายได้ และ Expenditure Reprioritizing หรือ การปรับการจัดสรรงบประมาณ


กำลังโหลดความคิดเห็น