xs
xsm
sm
md
lg

ครม.รับรายงานสัดส่วนหนี้สาธารณะ หนี้ภาครัฐ ความเสี่ยงการคลัง 64 ยังอยู่ใต้กรอบวินัยการเงิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.รับทราบรายงานสัดส่วนหนี้สาธารณะ หนี้ภาครัฐ และความเสี่ยงทางการคลัง สิ้นปีงบ 64 ทุกอย่างยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ

วันนี้ (30 พ.ย.) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.รับทราบรายงานสัดส่วนหนี้สาธารณะ และรายงานสถานะหนี้สาธารณะ หนี้ภาครัฐและความเสี่ยงทางการคลัง ณ วันสิ้นปีงบประมาณ 2564 (30 กันยายน 2564) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ มีรายละเอียดดังนี้

1. รายงานสัดส่วนหนี้สาธารณะ มีสัดส่วนหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นจริง ณ 30 กันยายน 2564 ยังคงอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนด คือ
(1) สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ร้อยละ 58.15 ไม่เกินกรอบที่กำหนดคือ ร้อยละ 70
(2) สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ ร้อยละ 32.27 ไม่เกินกรอบที่กำหนดคือ ร้อยละ 35
(3) สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมด ร้อยละ 1.80 ไม่เกินกรอบที่กำหนดคือ ร้อยละ 10
(4) สัดส่วนภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการ ร้อยละ 0.06 ไม่เกินกรอบที่กำหนดคือ ร้อยละ 5

2. รายงานรายงานสถานะหนี้สาธารณะ หนี้ภาครัฐ และความเสี่ยงทางการคลัง สถานะหนี้คงค้าง
สถานะหนี้คงค้าง มีจำนวน 9.34 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 58.15 ต่อ GDP เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า จำนวน 1.49 ล้านบาท สาเหตุที่เพิ่มขึ้นเกิดจากการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ และการกู้เงินภายใต้กฎหมายพิเศษ 2 ฉบับ คือ 1) พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 พ.ศ. 2563 และ 2) พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคโควิด-19 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 สำหรับสถานะหนี้สาธารณะ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 มีรายละเอียด ดังนี้

(1) หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง จำนวน 7,504,214.24 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 46.73 ต่อ GDP
(2) หนี้รัฐบาลกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จำนวน 699,484.43 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.36 ต่อ GDP
(3) หนี้ของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 845,639.91 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.27 ต่อ GDP
(4)หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจในภาคการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) จำนวน 281,041.62 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.75 ต่อ GDP
(5) หนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ จำนวน 7,162.82 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.04 ต่อ GDP

สำหรับหนี้เงินกู้คงค้างของหน่วยงานรัฐ ประกอบด้วย
(1) รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ คือ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปริโครเลียม (มหาชน) จำนวน 1.20 แสนล้านบาท
(2) รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะที่ทำธุรกิจให้กู้ยืมเงิน ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ และธุรกิจประกันสินเชื่อที่กระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน เช่น เช่น บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ธนาคารออมสิน และธนาคารอาคารสงเคราะห์ จำนวน 5.90 แสนล้านบาท
(3) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7,850 แห่ง มีจำนวน 3.65 หมื่นล้านบาท
(4) ธนาคารแห่งประเทศไทย มีจำนวน 4.61 ล้านบาท

ส่วนความเสี่ยงทางการคลัง ยังอยู่ภายใต้กรอบในการบริหารหนี้สาธารณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนด โดยหนี้ส่วนใหญ่ร้อยละ 84.11 เป็นหนี้ที่เป็นภาระต่องบประมาณโดยตรง ซึ่งรัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อชำระคืนเมื่อถึงกำหนด ส่วนหนี้ที่ไม่เป็นภาระต่องบประมาณโดยตรงนั้น หน่วยงานจะเป็นผู้รับภาระการชำระหนี้ โดยใช้แหล่งรายได้อื่นที่ไม่ใช่งบประมาณมาชำระหนี้ สำหรับหนี้เงินกู้ของหน่วยงานรัฐที่ไม่นับเป็นหนี้สาธารณะ ไม่มีผลกระทบต่อภาระทางการคลัง เนื่องจากเป้นหน่วยงานที่มีสถานะการดำเนินงานที่มั่นคงและมีรายได้เพียงพอที่จะชำระหนี้เงินกู้เองได้


กำลังโหลดความคิดเห็น