xs
xsm
sm
md
lg

ปชต.จอมปลอม ไม่แตะทุจริต!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สมศักดิ์ เทพสุทิน - ราเมศ รัตนเชวง
เมืองไทย 360 องศา

ก็สมควรแล้วที่สังคมกำลังวิพากษ์วิจารณ์พรรคร่วมฝ่ายค้าน รวมไปถึงกลุ่มการเมืองที่มักแอบอ้างตัวเองว่าเป็น “ฝ่ายประชาธิปไตย” แต่กลับไม่พูดถึง ไม่แตะต้อง หรือเคลื่อนไหวกดดันกับกรณีที่มีการอภัยโทษให้กับนักโทษที่ต้องโทษคดีทุจริตที่สร้างความเสียหายร้ายแรงให้กับบ้านเมือง ให้กับงบประมาณ ทุจริตเงินภาษีของประชาชน จนเหลือเวลาติดคุกจริงเพียงไม่กี่ปี ขณะที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติจำนวนมหาศาล แต่ที่ผ่านมา พรรคฝ่ายค้านกลับ “เงียบกริ๊บ” ไม่มีการส่งเสียงออกมาให้ได้ยินสักแอะ

ใช่แล้ว กำลังกล่าวถึงพรรคฝ่ายค้านหลัก ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล รวมไปถึงพรรคอื่นๆ ในเวลานี้ ที่มักจะอ้างว่าเป็น “ฝ่ายประชาธิปไตย” นั่นแหละ ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นประชาธิปไตยแบบไหนกันแน่ ที่ไม่สนใจเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน หรือเป็นเพราะเกรงว่าจะถูกฟื้นฝอยหาตะเข็บแล้วจะเข้าตัว หรือจะกระทบกระเทือนไปถึง “นายใหญ่-นายหญิง” หรือเปล่า จึงไม่กล้าออกตัวกันสักราย

กลับกลายเป็นว่า ในทางตรงกันข้ามกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวโวยวายส่งเสียงดังกลับเป็นกลุ่ม ส.ว.ที่พวกนักประชาธิปไตยกล่าวหาว่าเป็น “ทาสเผด็จการ” ไร้ค่า ต้องยุบทิ้ง รวมไปถึงกลุ่มองค์กร เช่น องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) รวมไปถึงนักเคลื่อนไหวทางสังคมอื่นๆ จำนวนมาก ที่ออกมากดดัน วิพากษ์วิจารณ์ โดยเป้าหมายหลักพุ่งไปที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และกรมราชทัณฑ์

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา และคาดว่า ยังต่อเนื่องไปอีกสักพักสำหรับการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความไม่พอใจจากสังคมกับการที่นักโทษคดีทุจริตร้ายแรง โดยเฉพาะจากคดีทุจริตจากโครงการรับจำนำข้าว ที่สร้างความเสียหายทางงบประมาณไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท และทุกปีที่ผ่านมา รัฐบาลต้องกันงบประมาณไว้ส่วนหนึ่งใช้หนี้ และคาดว่า ยังต้องใช้เวลาในการชำระหนี้อีกไม่ต่ำกว่า 4-5 ปีถึงจะชดใช้หมด

โดยต้นเหตุมาจากบรรดานักโทษคดีร้ายแรงดังกล่าวที่บางรายมีคำพิพากษาให้จำคุกกว่า 40 ปี แต่กลับได้รับการอภัยโทษหลายครั้งจนเหลือเวลาติดคุกอีกไม่ถึง 10 ปี โดยมีการยื่นขออภัยโทษปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 4 ครั้ง โดยมีการตั้งข้อสังเกตอีกว่า อาจจะมีการจ่ายเงินในเรื่องดังกล่าวด้วยหรือไม่

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้รับทราบถึงปฏิกิริยาจากสังคมดังกล่าว และสั่งให้รับฟังความเห็น และเตรียมแก้ไขกฎหมายให้เหมาะสมต่อไป รวมไปถึงกลุ่ม ส.ว.ที่มีการตั้งกระทู้ถามนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โดยยืนยันว่า ทุกอย่างเป็นไปตามหลักเกณฑ์และกฎหมายที่กำหนดเอาไว้

อย่างไรก็ดี สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ ได้มีการเคลื่อนไหวอย่างเป็นรูปธรรมที่สุด โดย นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีการพักโทษ ลดโทษในคดีทุจริตตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางว่า พรรค ปชป. มีมติให้ยื่นร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ต่อสภาฯ เพื่อให้มีการแก้ไขในประเด็นที่สำคัญ เช่น

รูปแบบโครงสร้างของคณะกรรมการราชทัณฑ์ ให้มีความอิสระโปร่งใส และมีความเชี่ยวชาญอย่างแท้จริง หลักเกณฑ์การลดวันต้องโทษจำคุก โดยเฉพาะคดีทุจริตจะมีการกำหนดความสำคัญไว้ให้มีกระบวนการที่รัดกุม และให้มีคณะกรรมการพิจารณาลดวันต้องโทษจำคุกคดีทุจริต โดยมีกระบวนสรรหาคณะกรรมการเช่นเดียวกับองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ให้มีความอิสระที่ทำหน้าที่ในการพิจารณาขั้นต้น

หากคดีที่มีคำพิพากษาให้ต้องโทษจำคุก 15 ปีขึ้นไป ต้องส่งไปให้ศาลที่คดีถึงที่สุดพิจารณาการลดวันต้องโทษจำคุก โดยจะกำหนดหลักเกณฑ์ให้มีการรับโทษมาแล้วกึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลได้มีคำพิพากษา เมื่อเข้าหลักเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว ถึงจะมีสิทธิ์ได้รับการพิจารณาลดโทษ เช่นเดียวกับคดียาเสพติดที่ร้ายแรง และคดีอื่นๆ ที่เป็นภัยต่อสังคมอย่างร้ายแรง

นายราเมศ กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการยกร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าวไว้แล้ว รอการพิจารณาร่วมกันของคณะกรรมการกฎหมายพรรค เพื่อที่จะให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ลงลายมือชื่อเพื่อยื่นต่อสภาต่อไป ซึ่งเรื่องนี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้มีคำสั่งให้คณะกรรมการกฎหมายของพรรครวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว เพราะเป็นเรื่องสำคัญ ตั้งแต่ที่มีข่าวเรื่องการลดวันต้องโทษจำคุกของจำเลยในคดีจำนำข้าว ซึ่งถือได้ว่าเป็นคดีที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติเป็นอย่างมาก สูญเสียงบประมาณแผ่นดินไปหลายแสนล้านบาท และศาลได้มีคำพิพากษาให้จำคุกบางราย ศาลตัดสินจำคุก 48 ปี ในปี 2560 แต่ขณะนี้ได้มีการลดวันต้องโทษมาหลายครั้งจนท้ายที่สุดปัจจุบันเหลือวันต้องโทษ 10 ปี เป็นการลดวันต้องโทษที่ประชาชนคนไทยใจหายมากที่สุด เพราะจำเลยแต่ละคนสร้างความเสียหายให้กับประเทศอย่างมหาศาล แต่กลับติดคุกจริงเพียงระยะเวลาอันสั้น

“ตุลาการที่ได้พิพากษาตัดสินไปแล้วก็เกิดความไม่สบายใจ เพราะเมื่อตัดสินไปแล้วไม่มีอำนาจเข้าไปมีส่วนในกระบวนการต่างๆเลย ข้อเท็จจริงในลักษณะนี้ได้เกิดขึ้นมาแล้วหลายคดี คดีที่ฆ่าผู้อื่นเป็นคดีอุจฉกรรจ์ ตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ท้ายสุดติดคุกจริงไม่กี่ปี ความจริงเหล่านี้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขกฎหมายราชทัณฑ์ เพื่อกำหนดกฎเกณฑ์ให้มีความโปร่งใสมีคณะกรรมการที่มีความอิสระและท้ายที่สุดให้ศาลได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดระยะเวลาปลอดภัยให้สังคม ถือว่าเป็นแนวทางที่ดีที่สุด โดยจะมีการยื่นต่อสภาฯ ในสัปดาห์หน้า” นายราเมศ กล่าว

แม้ว่าหากพิจารณากันตามความเป็นจริงแล้วการเคลื่อนไหวดังกล่าวของพรรคประชาธิปัตย์ในครั้งนี้ เป็นการ “จับกระแส” ทางสังคม หวังแต้มต่อทางการเมือง แต่จะคิดมากไปทำไม ในเมื่อเป็นการเสนอแก้ไขกฎหมายตามความต้องการของประชาชน และพิจารณาไปตามสถานการณ์ และไปว่ากันในสภาฯ

เพราะหากหันไปพิจารณาพรรคการเมืองอีกฝ่ายที่มักอ้างว่าตัวเองเป็นฝ่ายประชาธิปไตยที่เป็นพรรคฝ่ายค้าน ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย หรือพรรคก้าวไกล กลับนิ่งเฉย ไม่เคยออกมาแสดงความเห็นสักแอะ เหมือนกับไม่มีความรู้สึกทุกข์ร้อนเกิดขึ้นกับเรื่องการทุจริตในบ้านเมือง นอกเหนือจากการเคลื่อนไหวสนับสนุนการชุมนุมเพื่อล้มล้างสถาบันฯของกลุ่มม็อบสามนิ้ว ที่พวกเขาเห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน และได้รับความเดือดร้อนจนทนไม่ได้อีกต่อไป

ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงความเหมาะสมก็น่าจะถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับราชทัณฑ์ดังกล่าว โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการลดโทษกับนักโทษคดีทุจริตสร้างความเสียหายร้ายแรง รวมไปถึงนักโทษคดีอุกฉกรรจ์ว่าจะต้องโทษจำคุกเป็นเวลากี่ปีก่อน ถึงจะมีการพิจารณาลดโทษ และมีจำนวนปีละกี่ครั้ง ค่อยมาว่ากันในรายละเอียด ซึ่งนักการเมือง พรรคการเมืองต้องแสดงจุดยืนออกมา ไม่ใช่เงียบเหมือนเป่าสากแบบนี้ !!


กำลังโหลดความคิดเห็น