xs
xsm
sm
md
lg

พปชร.ไม่เสี่ยง ถอยเลือกซ่อมภาคใต้!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ - จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
เมืองไทย 360 องศา

พิจารณาจากอาการล่าสุดแล้ว มีความเป็นไปได้สูงที่พรรคพลังประชารัฐ จะไม่ส่งผู้สมัครเลือกตั้งซ่อมในภาคใต้ทั้งสองเขต คือ เขตเลือกตั้งที่ 6 จังหวัดสงขลา และเขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดชุมพร หลังจากที่ผลการประชุมพรรคเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ที่ผ่านมา ยังไม่มีข้อสรุป และนัดพิจารณาอีกครั้งในสัปดาห์หน้า วันที่ 21 ธันวาคม ซึ่งหากพิจารณากันจากท่าทีและองค์ประกอบอื่นๆ แล้ว น่าจะออกมาในแบบ “ยอมถอย” โดยอ้าง “มารยาท” ทางการเมือง เพื่อรักษาบรรยากาศและความสัมพันธ์ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง

สำหรับการเลือกตั้งซ่อมทั้งสองเขตดังกล่าว เป็นการเลือกตั้งซ่อมแทนตำแหน่งที่ว่าง หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นายถาวร เสนเนียม พ้นสมาชิกภาพ ส.ส. (เขต 6 จ.สงขลา) และ นายชุมพล จุลใส (ส.ส.เขต 1 จ.ชุมพร) โดยทั้งคู่เป็นอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จากการถูกดำเนินคดีกรณีการชุมนุมของ กปปส.ในอดีตที่ผ่านมา นอกเหนือจากอดีต  ส.ส.ที่เป็นแกนนำอีกบางคนที่เป็น ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ที่เลื่อนรายชื่อลำดับถัดไปขึ้นมาแทน

ที่ต้องบอกว่า ในครั้งนี้พรรคพลังประชารัฐ มีท่าที “ถอย” ต่างจากการเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดนครศรีธรรมราชคราวที่แล้ว ที่เป็นการเลือกตั้งแทน นายเทพไท เสนพงศ์ ซึ่งครั้งนั้น พรรคพลังประชารัฐ ส่งผู้สมัครคือ นายอาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ ลงแข่งขัน และได้รับชัยชนะ ได้ ส.ส.ในภาคใต้เพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งที่นั่งเป็น 14 ที่นั่ง โดยพรรคพลังประชารัฐให้เหตุผลว่า การเลือกตั้งเป็นการแข่งขันตามระบอบประชาธิปไตย ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินโดยไม่มีใครสามารถผูกขาดได้

และที่ต้องเน้นย้ำเป็นพิเศษ ก็คือ บรรยากาศในวันนั้น ช่างต่างกันลิบลับกับในวันนี้ เพราะคราวนั้นฝ่ายพรรคพลังประชารัฐเต็มไปด้วยความฮึกเหิมสุดขีด และมั่นใจในชัยชนะหลังจากก่อนหน้านั้นได้ชัยชนะจากการเลือกตั้งมาหลายจังหวัด อีกทั้งเมื่อย้อนอดีตดูคะแนนจากผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคมปี 2562 ก็ปรากฏว่า นายอาญาสิทธิ์ แพ้ นายเทพไท ที่ได้รับเลือกตั้งไม่กี่คะแนน ทำให้พรรคพลังประชารัฐต้องการแก้มือ

แต่เมื่อเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งซ่อมที่กำลังจะมีขึ้นในต้นปีหน้า บรรยากาศช่างต่างกันลิบลับ เพราะคราวนี้พรรคประชาธิปัตย์อยู่ในอาการ “ซีเรียส” กว่าคราวก่อน บรรดาระดับแกนนำพรรคหลายคน ต่างเรียงหน้าออกมาเตือนสติถึงเรื่อง “มารยาททางการเมือง” กับพรรคพลังประชารัฐ แบบ “เสียงเข้ม” กว่าเดิม ที่สำคัญ ก็คือ ยังมีการขู่ถึงเรื่องความสัมพันธ์ภายในพรรคร่วมรัฐบาล ที่อาจจะสะเทือนไปถึงรัฐบาลผสมที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำอีกด้วย

แกนนำบางคนยังได้ยกตัวอย่างในเรื่องกฎหมายสำคัญ ที่เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน กฎหมายงบประมาณปี 66 ที่จะเข้าสภาฯ รวมไปถึงญัตติซักฟอก ที่ฝ่ายค้านเตรียมยื่นเข้ามาในปีหน้าอีกด้วย

โดย นายชิณวรณ์ บุณยเกียรติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และประธานวิปรัฐบาลของพรรค กล่าวว่า จนขณะนี้ยังไม่ทราบแนวทางของพรรคพลังประชารัฐ แต่คิดว่ายังมีเวลาที่จะพูดคุยกัน ซึ่งขณะนี้เป็นช่วงสุดท้ายของวาระสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งหากพรรคร่วมรัฐบาลไม่มาแข่งขันกันเอง ก็จะทำให้พรรคที่เป็นตัวแทนสามารถนำผลงานของรัฐบาลไปชี้แจงต่อประชาชนได้อย่างชัดเจน นายกรัฐมนตรีก็จะไม่เป็นเป้าของฝ่ายค้าน ดังนั้น ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ส่งผู้สมัครเพียงพรรคเดียว ประชาชนก็จะหาเรื่องตำหนิรัฐบาลไม่ได้ พรรคประชาธิปัตย์ก็จะต้องรับผิดชอบเอง

“ผมขอย้ำถึงมารยาททางการเมือง และขอเรียกร้องไปยังกระบวนการการทำงานของพรรคร่วมรัฐบาลในช่วงหลังนี้ ควรทำให้มีเอกภาพมากขึ้น เพราะหลังจากนี้ ยังคงมีวาระสภาฯ ที่สำคัญอีกมาก อาทิ การพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี รวมถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นต้น” นายชินวรณ์ กล่าว

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากท่าทีของแต่ละพรรค และแนวโน้มการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งซ่อมในครั้งนี้ เริ่มจากพรรคพลังประชารัฐที่คงต้องชั่งน้ำหนัก ว่า จะ “ได้คุ้มเสีย” หรือไม่ เพราะหากเทียบกับการเลือกตั้งซ่อมที่นครศรีธรรมราชคราวที่แล้ว ถือว่าบรรยากาศก็ต่างกัน และที่สำคัญ โอกาสที่การเลือกตั้งซ่อมคราวนี้มีโอกาสชนะมีไม่มาก อีกทั้งยังมีกระแสความขัดแย้งภายในที่ชัดเจนทั้งระดับ ส.ส.ภาคใต้ กับระดับผู้บริหารพรรคบางกลุ่ม

แม้ว่าภายในพรรคพลังประชารัฐบางกลุ่ม จะพยายามผลักดันให้ส่งผู้สมัคร เพื่อทดสอบความนิยมของพรรคในภาคใต้ รวมไปถึงทดสอบ “กระแสลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่า ยังเหนียวแน่นหรือไม่ แต่หากมองในภาพความเป็นจริง นาทีนี้แม้ว่ากระแสของ “ลุงตู่” ในภาคใต้ยังถือว่าใช้ได้ แต่เชื่อว่าบรรยากาศเปลี่ยนไปจากเดิมไม่มากก็น้อยแล้ว และน่าคิดก็คือ “มันคุ้มหรือไม่” หากต้องมาปะทะกับพรรคประชาธิปัตย์ในสนามเลือกตั้งก่อนกำหนด

ขณะที่ฟากฝั่งพรรคประชาธิปัตย์ คราวนี้มองจากอาการแล้วเห็นชัดว่า “ไม่เกรงใจ” แล้ว เพราะอย่างน้อยต้องรักษาสองที่นั่ง ส.ส.เอาไว้ให้ได้ เพื่อรักษาฐานที่มั่นสำคัญในภาคใต้ภายใต้ทีมผู้บริหารในยุคของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ไม่ให้ใครรุกคืบเข้ามาอีก ซึ่งภาคใต้ถือว่าเป็นฐานที่มั่นเดียวที่ยังพอรักษาเอาไว้ เมื่อเทียบกับในกรุงเทพมหานครที่ยังไม่มีความแน่นอนสูงกว่า อีกทั้งหากสามารถรักษาเก้าอี้ทั้งเขต 6 สงขลา และ เขต 1 ชุมพร เอาไว้ได้มั่น ก็เหมือนกับว่าเพิ่มความมั่นใจ หลังจากที่ไม่กี่วันก่อนได้มีการเปิดตัว นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ เป็นว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯกรุงเทพมหานครไปแล้ว เรียกเสียงฮือฮาไปพอสมควรแล้ว

ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากท่าทีของแต่ละฝ่าย ทั้งฝ่ายพรรคพลังประชารัฐ ที่จนบัดนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ก็ยังไม่เคาะผู้สมัคร จนต้องเลื่อนไปประชุมตัดสินใจในสัปดาห์หน้า ซึ่งน่าจะยอมถอย เพราะได้ไม่คุ้มเสียแน่นอน โดยมีโอกาสกินใจถึงขั้นกระทบความสัมพันธ์ในรัฐบาลอีกด้วย ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ก็ต้องเต็มที่เพื่อรักษาเก้าอี้เอาไว้ให้ได้ และหากพลังประชารัฐเปิดทาง พรรคภูมิใจไทย ก็ไม่ส่ง มันก็ย่อมแบเบอร์ เมื่อมองบรรยากาศแบบนี้ ก็ย่อมเห็นคำตอบแล้วว่าจะออกมาแบบไหน !!


กำลังโหลดความคิดเห็น