เมืองไทย 360 องศา
แม้ว่านาทีนี้ยังไม่ชัดเจนว่า พรรคพลังประชารัฐ จะส่งผู้สมัครเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 1 จังหวัดชุมพร แทน นายชุมพล จุลใส และ เขต 6 จังหวัดสงขลา แทน นายถาวร เสนเนียม จากพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากทั้งคู่ได้ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้พ้นสมาชิกภาพการเป็น ส.ส.จากการที่เป็นแกนนำ กปปส. และถูกศาลตัดสินในคดีอาญาว่ามีความผิด โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ยังไม่ได้หารือกันในเรื่องนี้
อย่างไรก็ดี เชื่อว่า ในเร็วๆ นี้ พรรคพลังประชารัฐ จะต้องเรียกประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อพิจารณาถึงเรื่องดังกล่าว รวมไปถึงต้องพิจารณากันถึงความสัมพันธ์ภายในพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะเจ้าของที่นั่ง ส.ส.เดิมทั้งสองเขต ในสองจังหวัด
เมื่อพิจารณาจากการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.นครศรีธรรมราช แทน นายเทพไท เสนพงศ์ ก็ปรากฏว่า พรรคพลังประชารัฐ ก็ส่งผู้สมัครลงแข่งขันและได้รับชัยชนะ สามารถเพิ่มที่นั่ง ส.ส.ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และในภาคใต้โดยรวมอีกด้วย
ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากผลคะแนนการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา ปรากฏว่า ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ มีคะแนนเป็นอันดับสอง ซึ่งพ่ายแพ้ผู้สมัครที่ได้รับเลือกในครั้งนั้นไม่มากนัก หรือมาเป็นอันดับสองทั้งสองเขต โดย ชุมพร เขต 1 นายชุมพล ได้เป็น ส.ส.ด้วยคะแนนเลือกตั้ง 42,683 คะแนน และผู้สมัครที่ได้คะแนนเป็นอันดับ 2 รองลงมาเป็นผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ คือ นายชวลิต อาจหาญ ได้คะแนน 31,219 คะแนน
ขณะที่เขต 6 สงขลา นายถาวร ชนะเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 28,465 โดยผู้สมัครจากพลังประชารัฐ มาเป็นอันดับ 2 คือ นายสมปอง บริสุทธิ์ ได้ 19,317 คะแนน
สำหรับท่าทีของ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ในภาคใต้หลายคนเริ่มมีการเคลื่อนไหวสนับสนุนให้พรรคส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งซ่อมในครั้งนี้ เพื่อพิสูจน์ความนิยมของพรรคว่าจะออกมาแบบไหน
โดย นายวันชัย ปริญญาศิริ ส.ส.สงขลา พรรค พปชร. ในฐานะคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง กล่าวว่า ในฐานะกรรมการสรรหาเบื้องต้นยังไม่ได้รับคำสั่งจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค และ พล.อ.ประวิตร ยังไม่ได้สั่งการอะไรออกมา เพราะคำตัดสินของศาลเพิ่งออก ต้องรอว่าหัวหน้าพรรคจะตัดสินใจอย่างไรก่อน
เมื่อถามว่า หากสุดท้ายส่งเลือกตั้งซ่อม ทางพรรคมีผู้สมัครเตรียมลงเลือกตั้งซ่อมหรือไม่ นายวันชัย กล่าวว่า ตอนนี้มีคนประสงค์ลงหลายคน แต่ทางพรรคต้องดูว่า ใครที่มีความเหมาะสมมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ผู้สมัครที่ประสงค์จะลงสมัครต้องผ่านคณะกรรมการสรรหาก่อน เมื่อถามย้ำว่า ผู้ที่ประสงค์จะลงสมัครเลือกตั้งนั้นมีกี่คน นายวันชัย กล่าวว่า ตอนนี้กระบวนการเพิ่งเริ่มต้น เพราะคำสั่งเพิ่งออก ทางคณะกรรมการบริหารพรรคยังไม่ได้พูดคุยกัน คาดว่า ในวันที่ 9 ธ.ค. คงคุยกันในเบื้องต้นก่อน
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับการพิจารณาส่งผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อม ส.ส.สงขลา และชุมพร โดยหลักการของพรรคการเมืองพรรคใหญ่คงต้องพิจารณาส่งผู้สมัคร ส่วนตัวบุคคลจะต้องผ่านคณะกรรมการบริหารพรรค เพื่อพิจารณาและให้ความเห็นชอบ แต่มีปัจจัยที่จะต้องนำมาพิจารณาคือ ทั้ง 2 พื้นที่เป็นของพรรคร่วมรัฐบาล จึงต้องพูดคุยกันเพื่อให้เกิดความเข้าใจ และไม่ให้มีปัญหาในภายหลังตามมา
อย่างไรก็ตาม มี ส.ส.ภาคใต้ของพรรค พปชร. หลายคนเรียกร้องให้ผู้ใหญ่ตัดสินใจส่งผู้สมัคร ส.ส.เลือกตั้งซ่อมทั้ง 2 เขต เพราะจะได้เป็นการวัดกระแสนิยมของพรรคในพื้นที่ภาคใต้ก่อนจะมีการเลือกตั้งใหญ่ไปในตัว
แม้ว่าในตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุปว่าพรรคพลังประชารัฐจะส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งซ่อมแข่งขันหรือไม่ แต่หากพิจารณาจากแนวโน้มแล้วก็ยังเชื่อว่า น่าจะส่งลงแข่งขัน มากกว่าไม่ส่ง แต่ขณะเดียวกัน ก็ขึ้นอยู่กับการล็อบบี้เจรจากันระหว่างผู้บริหารระหว่างสองพรรค โดยอ้างมารยาททางการเมือง และเพื่อตัดปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง แต่ถึงอย่างไรสำหรับเรื่องข้ออ้าง “มารยาท” ทางการเมือง ได้ถูกทำลายลงไปแล้วเมื่อครั้งเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดนครศรีธรรมราชที่ผ่านมา โดยอ้างเหตุผลให้ “ประชาชนตัดสิน”
สำหรับคราวนี้จะมีน้ำหนักหรือไม่ และจะได้คุ้มเสียหรือไม่ โดยเฉพาะในช่วงที่เป็นช่วงท้ายของรัฐบาล ที่ต้องการประคองให้อยู่รอดไปครบเทอม ไม่ต้องการให้เสียการใหญ่ที่รออยู่ทั้งกฎหมายสำคัญ ทั้ง พ.ร.บ.งบประมาณ การเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก หรือ “เอเปก” ที่กำลังจะเริ่มขึ้นต่อเนื่องไปตลอดถึงปีหน้า รวมไปถึงการเร่งสร้างผลงานทางด้านเศรษฐกิจ เพื่อนำไปใช้สำหรับการเลือกตั้งหลังครบวาระในปี 2566 ถือว่าเป็นช่วงนาทีทองโค้งสุดท้ายอะไรประมาณนั้น
แน่นอนว่า หากมองในมุมของพรรคพลังประชารัฐ ก็ต้องบอกว่า “คิดหนัก” เหมือนกัน เพราะส่งลงสมัคร หากพ่ายแพ้ขึ้นมาซ้ำอีกคราวนี้ โอกาสที่จะถูกเคลมกลายเป็นเรื่อง “ลุงตู่ขาลง” จะถูกขยายผลเป็นเรื่อง “เสื่อมความนิยม” ในภาคใต้ หรือไม่ ซึ่งจะส่งผลต่อการเลือกตั้งใหญ่คราวหน้าหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาหากบอกว่า ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐ ที่ได้รับการเลือกตั้งมามากถึง 13 บวก เลือกตั้งซ่อมนครศรีฯ อีก 1 คน ถือว่าเป็นเพราะ “กระแสลุงตู่” ล้วนๆ ก็พูดอย่างนั้นก็ได้ หลังจากที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ทิ้งไพ่สำคัญประกาศ “ไม่เอาลุงตู่”
แต่ขณะเดียวกัน หากชนะเลือกตั้งซ่อมขึ้นมา มันก็ต้อง “หมางใจ” กับพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลภายใต้การนำของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และยังจะถูกกล่าวหาว่า ทำลายธรรมเนียมของพรรคร่วมในอดีตที่จะเปิดโอกาสให้ พรรคที่เป็นเจ้าของที่นั่งเดิมส่งผู้สมัครรักษาที่นั่ง โดยพรรคอื่นจะเปิดทางให้ อะไรประมาณนี้ แต่เมื่อพิจารณาจากกรณีเลือกตั้งซ่อมที่ จ.นครศรีฯที่ผ่านมา ก็ถือว่าถูกทำลายลงไปแล้ว โดยอ้างว่าให้ประชาชนตัดสินดังกล่าว
ดังนั้น หากพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อม และโฟกัสเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ ที่กำลังชั่งใจว่า จะส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งซ่อมทั้งสองเขตที่ว่านี้หรือไม่ และจะได้คุ้มเสียหรือไม่ โดยเฉพาะหากเกิดพ่ายแพ้ขึ้นมา มันจะกระทบต่อ “กระแสลุงตู่” ในภาคใต้ที่จะฟันธงทันทีว่า สิ้นมนต์แล้วหรือไม่ ซึ่งย่อมส่งผลต่อการ “ไปต่อ” อีกด้วย และที่สำคัญ ยังมีเรื่องความสัมพันธ์ในพรรคร่วมรัฐบาลที่ต้องนำมาชั่งน้ำหนักในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้อีกด้วย !!