“สาธิต” เผย “โอไมครอน” ยังไม่เข้าไทย เร่งหาวิธีตรวจจับ-สกัดเชื้อเข้าไทย เล็งทบทวนคงใช้ RT-PCR นักท่องเที่ยวเหมือนเดิม รับ ห่วงหลุดเข้าช่องทางธรรมชาติ
วันนี้ (29 พ.ย.) เมื่อเวลา 09.15 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงการรับมือโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่โอไมครอน (Omicron) ว่า ขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งการให้มีมาตรการป้องกันในระดับแรกแล้ว ส่วนการตรวจจับค้นหาเชื้อโอไมครอนจะเดินทางเข้ามาในประเทศ จะต้องทำเต็มที่ รัดกุม และทันต่อสถานการณ์ ทั้งนี้ ที่มีการปรับแผนอนุญาตให้ตรวจแบบ ATK แล้วสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้แทนการตรวจ RT-PCR ในประเทศกลุ่มเสี่ยงที่เข้ามาในไทย ขณะนี้จะต้องมีการทบทวนขยายเวลายังคงใช้ RT-PCR เหมือนเดิม ซึ่งเป็นมาตรการเข้มข้นเพื่อการตรวจจับค้นหาโอไมครอนที่จะมาจากต่างประเทศ ส่วนที่มีการเสนอในหลายๆ รูปแบบจะต้องมีการติดตามข้อมูลให้มีความชัดเจนมากที่สุด
นายสาธิต กล่าวต่อว่า ตนได้สั่งการไปที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทุกศูนย์ของกรมวิทย์ รวมทั้งภาคีเครือข่ายจะต้องมีวิธีตรวจจับหาโอไมครอนให้ได้ดีที่สุด แต่ขณะนี้โดยเทคนิคมีการประเมินว่าถ้าเชื้อเป็นเดลตาบางส่วน และอัลฟาบางส่วนให้ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นโอไมครอน และในสเต็ปต่อไปจะมีน้ำยาตรวจจับโอไมครอนโดยตรง
นายสาธิต กล่าวว่า ต้องยอมรับว่า เราไม่สามารถมีวัคซีนกับยาไปดักหน้าไวรัสทุกสายพันธุ์ เรามีแต่การติดตามข้อมูลให้เร็วที่สุด ส่วนบริษัทวัคซีนเขาก็คงจะเริ่มคิดค้นมีข้อมูลให้มากที่สุด เพื่อศึกษาวิจัย ทำวัคซีนเพื่อสู้กับการกลายพันธุ์ ฉะนั้น ไม้ตายของประชาชนจะต้องรักษามาตรการป้องกันแบบครอบจักรวาล ซึ่งเป็นสิ่งที่ป้องกันไวรัสได้ทุกสายพันธุ์ แต่อย่างไรก็ตาม อย่าเพิ่งตื่นตระหนกมากเกินไป เพราะการติดตามข้อมูลยังไม่มากพอ หากถามว่าไวรัสโอไมครอน มีการแพร่กระจายได้เร็วมากกว่าเดลตากี่เท่าหรือไม่อย่างไร และเท่าที่เห็นยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าจะมีอาการรุนแรงมากขึ้นในกลุ่มคนอายุเท่าไหร่ จึงต้องรอข้อมูลที่ชัดเจนจริงๆ ถ้ามีข้อมูล 2 ส่วนนี้ จึงจะน่าตื่นตระหนก อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลจากทุกศูนย์ของกรมวิทย์ และเครือข่าย 300 กว่าแล็บ ว่า โอไมครอนหลุดลอดมาในประเทศไทย แต่โดยธรรมชาติจะเริ่มป้องกันได้ยาก สำหรับการแพร่ระบาดของทุกไวรัส แม้จะป้องกันได้ทั้งทางอากาศ แต่ห่วงช่องทางธรรมชาติ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ ทั้งนี้ การตรวจจับให้เร็วที่สุดจะเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด จึงจะพยายามทำให้ดีที่สุดในการป้องกันอย่างเข้มข้น แต่โดยธรรมชาติเวลาโรคระบาดจะไปทั่ว ถ้าหยุดการเดินทางจริงๆ ต้องหยุดทั้งโลก ซึ่งสุดท้ายคือต้องหาวัคซีนมาป้องกันให้ได้