ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุม EOC ติดตามสถานการณ์โรคโควิด-19 กำชับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และกรมควบคุมโรคติดตามเฝ้าระวังสายพันธุ์โอไมครอนใกล้ชิด พร้อมสื่อสารถึงประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความวิตกกังวล ให้ทุกจังหวัดกำกับติดตามมาตรการ VUCA ขอความร่วมมือประชาชนเข้มมาตรการ UP
วันนี้ (28 พ.ย.) นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคโควิด-19 (EOC) ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศ และข้อมูลการกลายพันธุ์ของสายพันธุ์โอไมครอนในทวีปแอฟริกาโดยสั่งการให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกรมควบคุมโรค ติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งสื่อสารข้อมูลให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความวิตกกังวลและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน
นายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าวว่า ในการรับมือกับโรคโควิด-19 ได้กำชับให้ทุกจังหวัดกำกับติดตามมาตรการ VUCA คือ การฉีดวัคซีน การป้องกันตนเองขั้นสูงสุด การทำพื้นที่ปลอดภัยจากโควิดและการตรวจคัดกรองด้วย ATK โดยเน้นเฝ้าระวังตรวจจับการระบาดในชุมชน/ชุมชนที่มีแรงงานต่างด้าว เร่งฉีดวัคซีนกลุ่ม 608 ให้ครอบคลุมเพิ่มขึ้น ทั้งในโรงพยาบาล เช่น คลินิกโรคเรื้อรัง, คลินิกฝากครรภ์ และนอกโรงพยาบาล เช่น ศูนย์ดูแลผู้สูงวัย-กลุ่มเปราะบาง จุดลงทะเบียนแรงงานต่างด้าว หน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมทั้งในชุมชน และสื่อสารให้ประชาชนใช้มาตรการป้องกันตนเองสูงสุด (Universal Prevention) ทุกที่ ทุกเวลา
“ขณะนี้ยังไม่พบสายพันธุ์โอไมครอนในไทย และเราได้ปรับมาตรการคัดกรองป้องกันให้รัดกุมยิ่งขึ้น จึงขอให้ประชาชนคลายความกังวล และติดตามข้อมูลข่าวสารจากรัฐบาล ผู้เชี่ยวชาญจากราชวิทยาลัยทางการแพทย์ และกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ มาตรการ Universal Prevention ยังเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยป้องกันโควิด-19 ได้ทุกสายพันธุ์ ขอให้ประชาชนปฏิบัติเป็นปกติวิสัย ในระยะนี้ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกัน สวมหน้ากากตลอดเวลา เว้นระยะห่าง ลดการสัมผัสกัน ถ้าป่วยมีอาการทางเดินหายใจ หรือมีความเสี่ยงสงสัยติดเชื้อให้ตรวจด้วย ATK หรือไปตรวจที่สถานพยาบาล” นายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าว
สำหรับจำนวนผู้เดินทางเข้าไทยทางอากาศ ตั้งแต่วันที่ 1-27 พฤศจิกายน 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 116,323 ราย พบติดเชื้อ 149 ราย คิดเป็น 0.13% เฉพาะวานนี้ (27 พฤศจิกายน) เดินทางเข้ามา 6,115 ราย พบผู้ติดเชื้อ 5 ราย ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อทุกรายถูกส่งเข้าระบบการรักษาพยาบาลและส่งตรวจหาสายพันธุ์เพื่อการเฝ้าระวัง โดย 10 ประเทศที่มีผู้เดินทางเข้ามามากที่สุด คือ USA เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น รัสเซีย เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส UAE และ สิงคโปร์