ย้ำข้อเสนอเดิม! แก้ร่างกฎกระทรวง “กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช” ฉบับใหม่ แบ่งเงินให้ “เทศบาล-อบต.” จากรายได้ปีละ 2 พันล้าน “อุทยาน วนอุทยาน สวนพฤกษศาสตร์ หรือสวนรุกชาติ” จากอัตราร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 10 ภายใน 3 ปี ส่วนเงินที่จัดส่งให้ “เทศบาล-อบต.” ต้องนำไปใช้ส่งเสริม สนับสนุนการปฏิบัติงาน หรือการอนุรักษ์ บำรุงรักษา และฟื้นฟูอุทยานพื้นที่เท่านั้น พร้อมให้ตั้ง “ที่ปรึกษาอุทยาน” แต่ละแห่งเป็นผู้จัดสรรเงิน
วันนี้ (26 พ.ย. 64) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อพัฒนาการจัดเก็บรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มี รศ.วีระศักดิ์ เครือเทพ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) เป็นประธาน
ได้มีมติเห็นชอบ ยืนยันข้อสังเกตและข้อเสนอเดิม ต่อการ “แบ่งเงินค่าบริการและค่าตอบแทน” ฉบับใหม่ ที่ฝ่ายเลขานุการ ได้นำเสนอ “กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช” เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา หลังจากกรมอุทยานฯ ขอให้ฝ่ายเลขานุการ ปรับปรุงข้อสังเกตดังกล่าวเสร็จแล้ว
“อนุกรรมการเฉพาะกิจ ยังคงยืนยันข้อสังเกตประกอบการพิจารณาร่างกฎหมายแบ่งเงินค่าบริการและค่าตอบแทนในอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน สวนพฤกษศาสตร์ สวนรุกขชาติ ให้แก่ เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ฉบับเดิมที่ส่งให้กรมอุทยานฯพิจารณา ก่อนนำเสนอคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ชุดใหญ่”
เมื่อเดือน ก.ค. 64 คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อพัฒนาการจัดเก็บรายได้ แจ้งข้อสังเกต 3 ข้อ ให้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมาชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นำไปประกอบการพิจารณาออกกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ภายหลังมีการประกาศยกเลิก พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ประกอบด้วย
1. ให้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กำหนดระยะเวลาในการแบ่งเงินที่เรียกเก็บได้ตามมาตรา 29 แก่เทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อันเป็นที่ตั้งของอุทยาน วนอุทยาน สวนพฤกษศาสตร์ หรือสวนรุกขชาติแห่งนั้น ในเบื้องต้นในอัตราร้อยละ 5 โดยกำหนดเป้าหมายให้ได้ในอัตราร้อยละ 10 ตามมาตรา 30 ของ พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ภายใน 3 ปี หลังจากมีการประกาศใข้กฎกระทรวงแล้ว
2. ให้ กฎกระทรวงที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุพืช กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้เทศบาล และ อบต. นำเงินส่วนแบ่งที่เรียกเก็บได้ไปใช้ในการส่งเสริม และสนับสนุนการปฏิบัติงาน หรือการอนุรักษ์ บำรุงรักษา และฟื้นฟูอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน สวนพฤกษศาสตร์ หรือสวนรุกขชาติ ที่อยู่ในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบนั้น ควรคำนึงถึงเหตุผลและความจำเป็นที่สนับสนุนภารกิจของอุทยานในลักษณะทั่วไป โดยจัดสรรให้เป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยไม่ต้องจัดทำเป็นโครงการ
3. ให้ การจัดสรรเงินที่เรียกเก็บได้ระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่อุทยาน ควรมอบหมายให้คณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติ ในแต่ละแห่งเป็นผู้กำหนดสัดส่วนและหลักเกณฑ์การแบ่งภายในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แล้วจัดสรรเงินได้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ โดยคำนึงถึงภาระหน้าที่และผลกระทบที่เกิดขึ้นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีพื้นที่ในอุทยาน และมีการปรับทบทวน หลักเกณฑ์ทุก 2-3 ปี
ข้อเสนอดังกล่าว ก.ก.ถ. เคยมีมติ เมื่อปี 2559 ให้กรมอุทยานฯ รับไปปรับสัดส่วนเงินที่เก็บได้ตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 ออกตามความในพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ข้อ 1
“ซี่งกำหนดให้กรมอุทยานฯ แบ่งเงินในอัตราร้อยละห้าของเงินที่เก็บได้ตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติให้ อบต. จากเดิม “ร้อยละห้า” เป็น “ร้อยละสี่สิบ”
ต่อมา กระทรวงมหาดไทย รับไปเปลี่ยนแปลงวิธีการรับมอบเงินที่เก็บได้ ตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ ในแต่ละปีงบประมาณ จาก “ให้กระทรวงมหาดไทยรับมอบเงินที่เก็บได้ตาม กฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติฯ เป็นสี่งวด ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงมหาดไทยจะตกลงกัน”
“และเมื่อกระทรวงมหาดไทย ได้รับมอบแล้วให้แบ่งให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบล ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับเงินตามงวดนั้น” เป็น “ให้กรมอุทยานฯ จัดสรรเงินตามส่วนแบ่งให้องค์การบริหารสวนตำบลแต่ละแห่งใน พื้นที่ได้รับจัดสรรเป็นรายเดือน”
นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 134/2563 ลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาปรับปรุงกฎกระทรวงฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2541) โดยมี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นประธานคณะทำงาน กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
มีอำนาจหน้าที่พิจารณาสัดส่วน วิธีการรับมอบเงินที่เก็บได้ตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติให้แก่ อปท. ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยจัดทำร่างกฎกระทรวงเพื่อกำหนดสัดส่วนเงินที่เก็บได้และจัดสรรให้แก่ อปท. และวิธีการรับมอบเงินที่เก็บได้ตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ
โดยเมื่อปี 2560 กรมอุทยานฯ ออกมาทักท้วง กรณี ก.ก.ถ.เสนอแก้ไขกฎกระทรวงให้แบ่งเงินรายได้ค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานแห่งชาติให้กับ อปท. จากเดิมร้อยละ 5 เพิ่มเป็นร้อยละ 40 โดยให้เหตุผลว่า ยังไม่มีความพร้อม
สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 พบว่า เทศบาล และ อบต. กว่า 693 แห่ง จาก 55 จังหวัด ได้รับโอนเงินที่จัดเก็บตามกฎหมายฯ จำนวนร้อยละ 5 ซึ่งเป็นเงินจัดเก็บรายได้เดือน ต.ค. 2561 ถึง มี.ค. 2562 (รอบแรกปี 2562) ซึ่งเป็นรายได้จากการจัดเก็บจากอุทยานฯ ทุกแห่งทั่วประเทศ 147 แห่ง วงเงินรวม 69,060,911.17 บาท
ปลายปีที่แล้ว กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สรุปการจัดเก็บเงินรายได้กรมอุทยานฯ ประจำปีงบประมาณ 2562 โดยมียอดการจัดเก็บเงินรายได้จากอุทยานฯ 153 แห่ง เป็นเงินทั้งสิ้น จำนวน 2,258,640,109 ล้านบาท
ขณะที่ปี 2564 พบว่า เป็นเงินจัดเก็บรายได้ งวดที่ 2 เดือน เม.ย.- ก.ย. 2563 ได้รับการจัดสรรโอนจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นรายได้จากการจัดเก็บจากอุทยานฯ ทุกแห่งทั่วประเทศ 155 แห่ง วงเงินรวม 5,795,765.60 บาท ขณะที่ งวดแรก (ต.ค. 62-มี.ค. 63) ได้รับจัดสรรไปแล้ว 59,457,656.21 บาท