ศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ 3 สมัย ดาวสภาฝีปากกล้า เจ้าของฉายา “ส.ส.เอลวิส” แต่หลายๆ คน ไม่เคยล่วงรู้มาก่อนเลย ชีวิตและงานของเขา ก่อนจะมาเป็นนักการเมืองคนดังอย่างทุกวันนี้ มีความไม่ธรรมดาอย่างไร
ศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ เคยประสบความสำเร็จในทางธุรกิจระดับหลายพันล้าน ทั้งประกอบและจำหน่ายรถมินิบัสในพื้นที่ กทม.
เขาครองตลาดสูงถึง 80% เพราะใช้กุศโลบายทางธุรกิจอันเหนือชั้น จนธุรกิจเสรีเปิดกว้างในด้านการแข่งขัน กลายเป็นการผูกขาดทุกขั้นตอน
เขาเป็นตัวแทนจำหน่าย นำเข้ารถยนต์ยี่ห้อดัง เรโนลต์ จากฝรั่งเศส ซึ่งครั้งหนึ่ง เรโนลต์เคยเป็นรถที่ได้รับความนิยมพอสมควร พบแล่นทั่วไปในท้องถนนเมืองไทย เขาตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ โดยใช้ระบบไฮเทคล้ำหน้า ในยุคที่ไทยซัมมิต ยังแค่ผลิตเบาะรถ
รวยอยู่ดีๆ ก็ล้มครืนจากพิษต้มยำกุ้ง จนมีหนี้สินเกือบหมื่นล้าน แต่ธาตุแท้ของคนชื่อ ศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ เขาไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย เพื่อจะได้ล้มบนฟูก
หากแต่กัดฟันใช้หนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งหนี้มหาศาลก้อนนั้น เหลือตัวเลข 0 บาท
แล้วตั้งหลักกลับมาได้ โรงงานอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ยังไปต่อ แถมยังผันตัวเองเป็นเจ้าของเหมืองแร่ซีโอไลต์ ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย ที่ จ.อุตรดิตถ์ จนอุตรดิตถ์กลายเป็นฐานที่มั่นทางการเมือง ส่งเขาให้ชนะเลือกตั้งเป็น ส.ส.อุตรดิตถ์มาแล้ว 3 สมัย
ไม่นับที่ชนะเลือกตั้งอีก 2 สมัย แต่โดนใบแดง 1 สมัย และการเลือกตั้งเป็นโมฆะอีก 1 สมัย
ศรัณย์วุฒิ เล่าความหลังอันเรืองรอง ตอนทำธุรกิจประกอบรถมินิบัส ทดแทนรถสองแถว ตามนโยบายรัฐบาลสมัยนั้น ในช่วงปี 2532-2535
เขาใช้กลยุทธ์สั่งทำแชสซีส์รถมินิบัสด้วยยอดที่สูงเกินกำลังการผลิตของโรงงาน จนโรงงานต้องวุ่นวายกับการผลิตแชสซีส์ส่งให้เขาแต่เพียงผู้เดียว ปิดโอกาสไปผลิตให้คนอื่นโดยปริยาย
แล้วก็มีการนำเข้าแชสซีส์จากญี่ปุ่น มาเติมด้วย
พร้อมกันนั้น ก็จ้างโรงงานประกอบรถมินิบัส ที่มีอยู่ในหลายๆ จังหวัด ให้ลงมือผลิตพร้อมกัน จนโรงงานเหล่านั้น ต้องเร่งทำตามออร์เดอร์ของเขาแต่เพียงผู้เดียว
จนกลายเป็นการผูกขาดการผลิตรถมินิบัส แทบจะไร้คู่แข่ง
เท่านั้นยังไม่พอ ยังเสนอให้เอา “ป้ายเหลือง” ของรถสองแถวเดิมที่มีสัมปทานการวิ่งรถ มาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันกู้เงินกับสถาบันการเงิน ในการเปลี่ยนจากสองแถวมาเป็นมินิบัส จนได้รับการสนับสนุนด้านการเงินอย่างคึกคักจากบรรดาธนาคาร
“พี่มีรถสองแถวอยู่ดีๆ รัฐบาลไปบังคับให้พี่เปลี่ยนเป็นมินิบัส พี่ไม่มีตังค์เลย แล้ววันดีคืนดี มาเจอกระทาชายที่ชื่อ ศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ มีแชสซีส์ที่ผูกขาดเอาไว้แล้ว ทั้งนำเข้าจากต่างประเทศและในประเทศ มีโรงงานประกอบที่ผูกขาดเอาไว้หมดแล้ว และมีไฟแนนเชียล ซัปพอร์ต พี่จะไปหาที่ไหน เรียกว่า วันสตอป เอ็นจอย มาที่เดียวได้ครบเลย”
ช่วงปี 2534-2535 เขาตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ เป็นเจ้าแรกของไทยที่ปั๊มแชสซีส์เองได้
เจ้าตัวบอกว่า กล้าพูดเลยว่าเป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ที่ทันสมัยที่สุดในเมืองไทย และเป็นเจ้าแรกเจ้าเดียวในตอนนั้นที่ส่งฝากระโปรงรถ และชิ้นส่วนหลังคาให้กับรถเมอร์เซเดส-เบนซ์ กับรถวอลโว่ จนได้รับการส่งเสริมบีโอไอ เจ้าแรกของประเทศไทยเช่นกัน ถึงขั้นธนาคารหลายแห่งมาขอถือหุ้นด้วย แห่งละ 10 เปอร์เซ็นต์
“ผมมีแผนพัฒนาชีวิตและอนาคตของตัวเอง ตั้งแต่เด็ก ผมพูดกับตัวเองว่า เราจะก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 ก่อนที่เวลานั้นจะมาถึง แล้วก็บอกกับตัวเองว่า ถ้าอายุ 20 ผมจะทำอะไร อายุ 25 อยากจะเป็นอะไร 30 อยากจะเป็นอะไร 40 เป็นอะไร 50 เป็นอะไร เชื่อไหมว่าในชีวิตจริง ผมสามารถทำได้เร็วกว่าแผนพัฒนาอีก”
ในช่วงประสบมรสุมทางเศรษฐกิจ จากการลอยค่าเงินบาท เมื่อปี 2540 ปีเดียวกันนั้นเอง มีการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งประเด็นสำคัญในรัฐธรรมนูญฉบับนั้น มีการแก้ไขเขตเลือกตั้งให้เล็กลง
จากเดิมเป็นเขตใหญ่ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญ ในการขัดขวางนักการเมืองหน้าใหม่ ไม่ให้แจ้งเกิด
ประกอบกับพ่อของศรัณย์วุฒิ ก็อยากเห็นลูกชายเป็นนักการเมืองอยู่แล้ว เขาตัดสินใจลงสมัคร ส.ส.ครั้งแรก ที่ จ.อุตรดิตถ์ ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2544 สังกัดพรรคไทยรักไทย
ผลคะแนนออกมา เขาได้รับความไว้วางใจจากประชาชนให้เป็น ส.ส. แต่กลับถูก กกต.แจกใบแดงสอยร่วง
“ผมชนะเลือกตั้งแล้ว แต่มี 2 อย่างที่ผมเสียใจ 1. ผมโดนใบแดง 2. พ่อผมเสียชีวิตก่อน ช่วงรอยต่อของการเลือกตั้งพอดีเลย ถ้าแกเห็นผมเป็น ส.ส. แกก็คงภูมิใจ แต่ถ้าแกเห็นผมโดนใบแดง แกก็คงตรอมใจอีก” ส.ส.เอลวิส กล่าว
เขาเล่าว่า มารู้ทีหลัง กกต.ที่ตัดสินให้ใบแดงเขา ที่แท้เป็นเพื่อนของพ่อตาคู่แข่ง พอบังเอิญไปเจอ กกต.คนนี้บนเครื่องบิน เลยไปชี้หน้าด่า ผมทำอะไรผิด ถึงมาแจกใบแดง
อีกอย่างที่ทำให้ถูก กกต.เล่นงาน เพราะมีผู้ใหญ่ในพรรคไทยรักไทย เรียกให้ไปพบ เพื่อดูดเข้าก๊วน แต่เขาแข็งข้อ ไม่ยอมไป
“กกต.บอกว่า ในพรรคไทยรักไทย จะปล่อยไปซัก 14-15 คน ขอล็อกไว้ 2-3 คนละกัน ก็ความที่ผมไม่ยอมก้มหัวไปหาใคร ก็เลยเลือกผมไว้เสีย”
พอเลือกตั้งปี 2548 แค่ขึ้นป้ายอย่างเดียว แทบไม่ต้องเดินหาเสียง ศรัณย์วุฒิก็ชนะถล่มทลาย ได้เป็น ส.ส.สมัยแรก
เจ้าตัวเผยเคล็ดว่า เพราะตอนโดนใบแดง ก็ยังอยู่ช่วยเหลือประชาชนตลอด ไม่เคยหายหน้าไปจากพื้นที่
ได้เป็น ส.ส.สมัยสอง ในปี 2554 อย่างฉุกละหุก
เพราะเดิมพรรคจะให้ลง ส.ส.บัญชีรายชื่ออันดับต้นๆ แต่กลับมาเปลี่ยนใจตอนท้าย ให้ไปลง ส.ส.เขต ทั้งที่เหลือเวลาแค่ 35 วันเท่านั้น ปรากฏว่าเขาล้มช้างได้ ชนะแบบถล่มทลายอีก
เขาเล่าถึงรอยร้าวกับพรรคเพื่อไทย ว่า เริ่มจากเขาเอง ไปคุยกับผู้ใหญ่ในพรรค ให้มีนโยบายช่วยเหลือผู้สูงอายุและผู้พิการทั่วประเทศ โดยจ่ายเงินช่วยเดือนละ 2-3 พันบาท แต่ผู้ใหญ่และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องบอกไม่มีเงิน ไม่สามารถทำได้
ศรัณย์วุฒิ เลยไปศึกษาเองว่ารัฐบาลมีเงินอยู่ที่ไหนบ้าง ที่สามารถนำมาใช้ทำนโยบายนี้ได้ แล้วอภิปรายแฉในสภา ผู้ใหญ่ในพรรคเลยไม่พอใจ
“ถ้าวันนั้นพรรคเพื่อไทยช่วยคนแก่คนพิการ วันนี้พลังประชารัฐไม่ได้เกิด บัตรคนจนพลังประชารัฐ สู้ไม่ได้เลย แต่ด้วยเหตุการณ์นั้น ความไม่พอใจก็สะสมมา เพราะผมไม่ทำตามใจที่เขาต้องการ”
“เขาก็จะไม่ให้ผมลง ส.ส. และกลั่นแกล้งผมจนเหลือชั่วโมงสุดท้ายเลย ถึงบอกว่าไม่ยอมให้ผมลง ผมเป็นคนถามตรงๆ ว่า จะให้ลงไหม เขาบอกไม่ให้ ผมก็เลยแจกของลับผู้ใหญ่คนนั้นไป ใจดำมากทำกับศรัณย์วุฒิ ไปสาบานที่ไหนก็ได้ ว่าพรรคเพื่อไทย ทำกับผมแบบนี้จริงๆ”
โชคดี แม้มีเวลาแค่ชั่วโมงสุดท้าย แต่พรรคชาติไทยพัฒนา โดย บรรหาร ศิลปอาชา อ้าแขนรับเขาแบบเร่งด่วนทันเวลา ผลการเลือกตั้งเมื่อปี 2557 ส.ส.เอลวิส ได้คะแนนเป็นที่ 1 แต่การเลือกตั้งดันเป็นโมฆะ
ต่อมา ย้ายกลับมาอยู่รังเก่าพรรคเพื่อไทย ได้เป็น ส.ส.สมัยสาม เมื่อปี 2562 แล้วเกิดรอยร้าวกับพรรคอีกครั้ง
จากการถูกกีดกันไม่ให้เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลประยุทธ์ เมื่อเดือน ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา
ทั้งถูกปล่อยข่าวใส่ร้ายว่าเป็นงูเห่า จะเลื้อยไปซบพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งเจ้าตัวยืนยันว่าไม่มีทางที่จะทำเช่นนั้น
บนทางสองแพร่งทางการเมือง เขาตัดสินใจ เลือกที่เป็นฝ่ายค้านต่อ เพราะเขายึดอุดมการณ์สำคัญว่า ต้องอยู่กับฝ่ายประชาธิปไตยเท่านั้น อันเป็นไปตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่นั่นเอง
จริงๆ แล้ว เสียงส่วนใหญ่ของชาวบ้าน อยากให้เขาไปอยู่พรรคเสรีรวมไทย แต่ต้องไปเป็นลูกพรรคของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส
ขณะที่สมาชิกพรรคเพื่อชาติส่วนใหญ่ อยากให้มาเป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งตรงจุดนี้ ชาวบ้านในพื้นที่ร้อยทั้งร้อย ก็อยากให้เป็นหัวหน้าพรรค เพราะชาวบ้านมองว่าตัวเขานั้น เป็นเหมือนเป็นดาวฤกษ์ มีแสงและความร้อนในตัว
เขาจึงเลือกมาอยู่พรรคเพื่อชาติ และขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค ตามมติที่ประชุมพรรค เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2564
ศรัณย์วุฒิ มองว่า ทุกวันนี้ หัวหน้าพรรคการเมืองต่างๆ ก็ไม่มีความสามารถในการอภิปรายได้ดีเท่าตัวเขา ไม่มีเลย
“วันนี้คนไทยโหยหาพรรคการเมืองที่รู้จัก Political Mood รู้ว่าอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของคนไทยเป็นอย่างไร คนเขาต้องการอะไร พรรคเพื่อชาติต้องทำให้ตัวเอง ไปตอบโจทย์ตรงนั้นให้ได้” เขาระบุ
ศรัณย์วุฒิ ชี้ว่า เขาเป็นประชาธิปไตยเพื่อประชาชน ไม่เทกไซด์ ไม่สุดขั้ว ไม่ซ้ายจัดขวาจัด อยู่ตรงกลาง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ชาติอย่างแท้จริง เป็นประชาธิปไตยสายกลาง
“ยกตัวอย่างเช่น มีนักข่าวถามผมว่าที่นายกฯ เปิดประเทศ คิดยังไง ผมบอกผมเห็นด้วยเลย ผมอยากให้เปิดเลย เพราะว่าคนไทยจะตายกันทั้งบ้านทั้งเมืองแล้ว เห็นไหมครับ ผมไม่ได้พิศวาสคุณประยุทธ์เลย แต่ผมเห็นด้วยที่คุณประยุทธ์ รีบเปิดประเทศ อย่างนี้แหละคือประชาธิปไตยที่ทำเพื่อประชาชน”
เป้าหมายของพรรคเพื่อชาติ ภายใต้การนำของเขา จะขอเป็นพรรคทางเลือก พรรคขนาดกลาง พรรคตัวแปรของรัฐบาล เวลาเอียงไปทางไหน จะอยู่กับรัฐบาลได้ การใช้นโยบายเป็นสายกลาง ก็อยู่กับรัฐบาลได้
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าเห็นรัฐบาลทำไม่ดีก็ถอนตัวทันที แบบที่ “มหาจำลอง” เคยทำให้ดูอย่างเด็ดเดี่ยวในอดีต
“ผมจะทำให้ดีที่สุด เท่าที่จะทำได้ และทำให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และจะเป็นพรรคการเมืองตัวอย่าง ที่หลายๆ พรรคจะต้องปรับตัวตามเลย” ศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ กล่าวในที่สุด