xs
xsm
sm
md
lg

ถึงเวลาเลือกตั้งใหม่หรือยัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



หลังการโปรดเกล้าฯ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2564 ผมถูกถามมากว่าจะมีการยุบสภาฯ เพื่อเลือกตั้งใหม่เมื่อไหร่

ในขณะที่พรรคการเมืองเคลื่อนไหวกันคึกคัก มีการเตรียมคัดตัวผู้สมัครและประกาศเตรียมพร้อมจะเลือกตั้ง บางคนบอกว่า กลางปีหน้าหลังจากที่มีการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 4-6 เดือนแล้วหลังจากนั้นก็น่าจะมีการยุบสภาฯ แล้วเลือกตั้งกันใหม่

แต่คำตอบของผมต่อคำถามนี้ก็คือ เชื่อว่าจะไม่มีการเลือกตั้งในปีหน้าอย่างแน่นอน เหตุผลสำคัญก็คือ ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปกในปีหน้า ซึ่งจะมีการประชุมคณะย่อยก่อนตลอดทั้งปี จนไปถึงการประชุมอย่างเป็นทางการที่ภูเก็ตในเดือนธันวาคม 2565 ดังนั้นผมไม่เชื่อว่าจะมีการยุบสภาฯ ในปีหน้า

ผมคิดไม่ออกเลยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเอาโอกาสที่ตัวเองจะไปขึ้นเวทีโลกร่วมกับผู้นำต่างๆ ทั่วโลกไปทิ้งทำไม เว้นเสียแต่ว่า มั่นใจได้ว่า หากจะเลือกตั้งกันในปีหน้าแล้ว พล.อ.ประยุทธ์จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกอย่างแน่ๆ แต่ถามว่าสิ่งนั้นมีหลักประกันอะไรไหม ผมคิดว่าไม่มี

ประเด็นสำคัญอีกอย่างคือ สถานะของพล.อ.ประยุทธ์ ตามเงื่อนไขการเป็นนายกรัฐมนตรีไม่เกิน 8 ปีของรัฐธรรมนูญ 2560 ยังไม่ชัดเจน อย่างเร็วที่สุดเดือนสิงหาคมปีหน้าที่จะครบ 8 ปี ถ้านับจากการเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก ถึงตอนนั้นแหละที่จะต้องมีคนยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความจึงจะมั่นใจได้ว่าพล.อ.ประยุทธ์จะได้ไปต่อหรือไม่ ฉะนั้นจึงเชื่อว่า ไม่น่าจะมีการยุบสภาฯ ในปีหน้าแน่ๆ จนกว่าจะผ่านสถานการณ์เหล่านี้ไปก่อน

แล้วถามว่ามีแรงกดดันอะไรไหมที่จะต้องยุบสภาฯ ก่อนที่จะครบวาระ คำตอบ ณ เวลานี้ต้องตอบว่า ยังไม่มีแรงกดดันอะไรเลย แม้จะมีม็อบอยู่บนถนนที่เราก็เห็นแล้วว่า ม็อบไม่สามารถรวมตัวเป็นคลื่นมหาชนได้ มีแต่ผู้เข้าร่วมชุมนุมลดน้อยถอยลงทุกวัน ประจวบกับการชี้ของศาลรัฐธรรมนูญแล้วว่า ม็อบมีจุดมุ่งหมายที่จะล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โอกาสจะได้ชัยชนะก็มองไม่เห็นเลย

แรงกดดันในสภาฯ ก็ไม่มีเพราะตอนนี้แม้ภายในพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐเองจะมีความขัดแย้งกันอยู่ภายในบ้าง แต่เสียงข้างรัฐบาลก็ยังมากกว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านอยู่ท่วมท้น

นอกจากต้องรอว่า พล.อ.ประยุทธ์จะได้ไปต่อในแง่ของกติกาตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ อีกเงื่อนไขหนึ่งคือ พล.อ.ประยุทธ์ต้องคิดว่าตัวเองจะไปต่อหรือไม่ ถ้าเจ้าตัวไม่อยากไปต่อแล้วผมคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ก็น่าจะอยู่ไปจนครบสมัยแล้วประกาศวางมือทางการเมือง

แต่ก็ใช่ว่าเงื่อนไขจะไปต่อหรือไม่ไปต่อ ถ้าหากศาลรัฐธรรมนูญยังบอกว่ายังเป็นได้อีกหนึ่งสมัยของพล.อ.ประยุทธ์จะทำให้พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น สิ่งที่พล.อ.ประยุทธ์ต้องคิดมากกว่านั้นคือ พอหรือยังกับการเป็นนายกรัฐมนตรีมายาวนานถึง 9 ปีถ้าอยู่จนครบสมัย และต้องถามตัวเองว่า คนเขาเบื่อหรือยัง แม้แต่พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่เป็นนายกรัฐมนตรี 8 ปีกว่า แต่ถึงเวลาก็ต้องบอกว่าพอแล้ว เพราะรู้ตัวว่าคนเริ่มจะเบื่อ ทั้งๆ ที่ไม่มีแรงกระแทกและถูกกดดันเท่ากับพล.อ.ประยุทธ์เลย

ต้องยอมรับนะครับว่า กระแสความนิยมต่อตัวพล.อ.ประยุทธ์นั้นลดน้อยถอยลงไปไม่น้อย แม้จะมีมวลชนที่เรียกว่าเป็นติ่งยังให้การสนับสนุนอย่างเหนียวแน่น แต่คนกลางๆ ไม่น้อยก็เริ่มตั้งคำถามต่อศักยภาพของพล.อ.ประยุทธ์ว่ามีดีพอที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศในสภาวการณ์แบบนี้ต่อไปหรือไม่

แต่เราต้องยอมรับนะครับว่า ในปัจจุบันนั้นไม่ใช่ว่าใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้ แต่มันมีเงื่อนไขที่อ่อนไหวต่อสถานการณ์ไม่น้อยว่า คนเป็นนายกรัฐมนตรีต้องเป็นคนที่ใช่ ในท่ามกลางการท้าทายของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ยึดมั่นกับสถาบันพระมหากษัตริย์อีกต่อไป สิ่งนี้อาจจะกลายเป็นเงื่อนไขที่ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ไม่เป็นตัวของตัวเอง ไม่ง่ายที่จะตัดสินใจว่าจะอยู่หรือไปต่อด้วยตัวเอง ถ้าไม่มีคนมาสวมต่อที่เชื่อมั่นได้ว่าจะทำให้ประเทศชาติยังคงมั่นคงอยู่ในระบอบที่เป็นอยู่ได้

ถ้าจะมีคนมาสวมต่อพล.อ.ประยุทธ์ คนคนนั้นก็ต้องเป็นคนที่มีความนิยมไม่แพ้กัน และได้รับการยอมรับว่าจะปกปักรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่กำลังถูกบั่นทอนเอาไว้ให้ได้ ซึ่งถึงตอนนี้ยังมองไม่เห็นว่าจะเป็นใคร

สถานการณ์ความหมิ่นเหม่ต่อการบั่นทอนสถาบันพระมหากษัตริย์ของคนรุ่นใหม่บนท้องถนน แม้จะมีพลังที่โรยแรงลงไปแล้วก็ตาม แต่ปัจจัยนี้อาจทำให้การตัดสินในช่วงจังหวะที่จะเลือกตั้งกันใหม่หรือไม่ ก็อาจจะไม่ใช่แค่เรื่องของนักการเมือง แต่เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติที่ต้องการการตัดสินใจมากกว่านักการเมือง

นอกจากนั้นด้วยเงื่อนไขการเลือกตั้งแบบบัตรสองใบแล้วต้องยอมรับนะครับว่า สถานการณ์ ณ ตอนนี้พรรคพลังประชารัฐยังเป็นรองพรรคเพื่อไทยที่น่าจะได้รับการเลือกตั้งเสียงข้างมาก แม้พรรคพลังประชารัฐจะมั่นใจว่าสามารถสู้ได้ในกติกานี้ เพราะเป็นพรรคที่เลือกการเลือกตั้งแบบบัตรสองใบเช่นกัน แต่ตอนนี้ความขัดแย้งและปัญหาในพรรคก็อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สู้ดีนัก ก็อาจจะทำลายความเชื่อมั่นลงไปไม่น้อย

ทางออกของพรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้งครั้งหน้าก็คือ ต้องทำให้ผลการเลือกตั้งอย่างน้อยที่สุดต้องแพ้พรรคเพื่อไทยไม่มาก และยังจับมือเป็นปึกแผ่นกับพรรคร่วมรัฐบาลในขณะนี้เข้าไว้เพื่อรักษาเสียงข้างมากเมื่อรวมกันไว้ให้ได้ อำนาจจึงยังไม่พลิกขั้วไปอยู่ฝั่งตรงข้าม เพราะยังมีเสียงของ 250 ส.ว.อยู่

ทางออกอีกทางก็คือ หลังการเลือกตั้งครั้งหน้าดึงพรรคเพื่อไทยมาเป็นพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อโดดเดี่ยวพรรคก้าวไกลที่มีจุดมุ่งหมายชัดเจนว่าจะลดทอนบทบาท และสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่แสดงออกสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของม็อบบนถนนอยู่ในเวลานี้ ในขณะที่พรรคเพื่อไทยยังไม่เป็นอันตรายต่อระบอบที่เป็นอยู่มากนัก เพราะเจ้าของพรรคคือทักษิณที่อยากกลับบ้านคงไม่อยากให้พรรคอยู่ในสถานะเดียวกับพรรคก้าวไกลแน่ๆ

แม้การเลือกตั้งครั้งหน้าคนรุ่นใหม่จะเทเสียงให้พรรคก้าวไกลแน่ๆ แต่เชื่อกันว่าด้วยระบบเลือกตั้งแบบบัตรสองใบพรรคก้าวไกลก็น่าจะได้ ส.ส.น้อยลงกว่าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพรรคเพื่อไทยส่งครบทุกเขตไม่เหมือนการเลือกตั้งครั้งที่แล้วที่ส่งลงแค่ประมาณ 200 เขต คะแนนของพรรคก้าวไกลก็น่าจะน้อยลง

ด้วยเหตุผลต่างๆ ที่กล่าวมา ผมคิดว่า ถึงตอนนี้พรรคที่พร้อมจะเลือกตั้งใหม่น่าจะเป็นพรรคฝ่ายค้าน แต่พรรคฝ่ายรัฐบาลนั้นถึงตอนนี้น่าจะอยากรักษาอำนาจที่มีอยู่เอาไว้ให้ได้นานที่สุด

ผมจึงฟันธงว่า การเลือกตั้งยังไม่เกิดขึ้นภายในปีหน้าอย่างแน่นอน แม้ว่าถึงตอนนี้พรรคการเมืองต่างๆ เตรียมพร้อมในการคัดสรรคนเพื่อลงรับสมัครเลือกตั้งกันแล้วก็ตาม

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น